ตลาดการเงินโลกปี 2019: มืดที่สุดก่อนจะสว่าง

ตลาดการเงินโลกปี 2019: มืดที่สุดก่อนจะสว่าง

ข้าสู่โค้งสุดท้ายของปี ตลาดการเงินกลับผันผวนที่สุดและเข้าสู่ภาวะ “ตลาดหมี” ในแทบทุกสินทรัพย์ โดยตลาดสหรัฐ ยุโรป ญี่ปุ่น และไทย ตกต่ำกว่า 24%

20% 27% และ 16% จากจุดสูงสุดในปีนี้ตามลำดับ ขณะที่เงินดอลลาร์สหรัฐและทองคำก็ปรับเพิ่มขึ้น 9% และ 8% นับจากจุดต่ำสุดเช่นกัน

ภาวะตลาดหมีครั้งนี้เต็มไปด้วยผู้ต้องสงสัย ไม่ว่าจะเป็นการขึ้นดอกเบี้ยอย่างต่อเนื่องของธนาคารกลางสหรัฐ (Fed) ข่าวการจับกุมผู้บริหารหัวเว่ย การปิดรัฐบาล (Government Shutdown) ของสหรัฐ เศรษฐกิจโลกที่ส่งสัญญาณชะลอตัวต่อเนื่อง รวมถึงราคาน้ำมันที่ลดต่ำถึงกว่า 80% จากจุดสูงสุด และกดดันหุ้นกลุ่มพลังงานทั่วโลก

ส่วนตัวผู้เขียน เชื่อว่านี่คือเวลามืดที่สุดก่อนจะสว่างของตลาดการเงิน โดยเชื่อว่าภาวะนี้จะลากยาวไปถึงต้นปี 2019 เป็นอย่างน้อย จาก 5 ปัจจัยลบด้วยกัน

ปัจจัยลบแรกได้แก่ Inverted Yield Curve (IYC) หรือผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐระยะสั้น (อายุ 2) สูงกว่าระยะยาว (10 ปี) ที่ใช้เป็นดัชนีชี้นำภาวะเศรษฐกิจถดถอย โดยผู้เขียนมองว่าเป็นไปได้ที่ภาวะดังกล่าวจะเกิดขึ้นภายในต้นปีนี้ ซึ่งสาเหตุสำคัญเกิดจากความผิดพลาดของ Fed ที่ขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่องแม้เศรษฐกิจส่งสัญญาณชะลอลง ทำให้ผลตอบแทนพันธบัตร 10 ปีปรับลดลงมาต่อเนื่องแม้ดอกเบี้ยนโยบายปรับขึ้นแล้วก็ตาม

ทั้งนี้ การเกิดภาวะดังกล่าวจะเป็นเหตุการณ์สำคัญของตลาดการเงิน โดยหากค่าส่วนต่างดังกล่าวเข้าใกล้ศูนย์ แต่ Fed ยังไม่ส่งสัญญาณยุติการทำนโยบายการเงินตึงตัว เราอาจจะเห็นการตกต่ำรุนแรงของตลาดการเงินมากกว่าปัจจุบัน

ปัจจัยลบที่สอง ได้แก่ ความเสี่ยงการเมืองจากประธานาธิบดีทรัมพ์ที่จะมีมากขึ้นต่อเนื่อง จากการที่ “ทรัมพ์เป็นทรัมพ์” มากขึ้น โดยหากพิจารณานโยบายที่ทรัมพ์ประกาศในปัจจุบัน เป็นสิ่งที่เขากล่าวว่าจะทำเพื่อนำไปสู่เป้าหมาย “America First” หรือทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นสงครามการค้ากับจีน การถอนทหารจากซีเรีย การ Shutdown รัฐบาลเพื่อให้ได้งบประมาณเพื่อสร้างกำแพงเม็กซิโก 

ในปีแรก ๆ ของการเป็นประธานาธิบดีนั้น ทรัมพ์ยังไม่ได้ทำในสิ่งที่ต้องการทั้งหมดเนื่องจากมี “ผู้แวดล้อม” ที่ดำเนินทางสายกลาง เช่น อดีตที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจ และ รมว. กลาโหม แต่ปัจจุบันท่านเหล่านี้ออกจากวงจรของทรัมพ์ไปหมดสิ้น จึงเหลือแต่สายเหยี่ยวที่พร้อมผลักดันให้ทรัมพ์สุดโต่งมากขึ้น

ปัจจัยลบที่สาม ได้แก่ เศรษฐกิจโลกที่จะชะลอตัวลงต่อเนื่อง โดยหากพิจารณาจากแนวโน้มของเศรษฐกิจจากดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ของทุกประเทศทั่วโลกแล้ว จะเห็นว่าชะลอตัวลงต่อเนื่อง โดยปัจจุบันดัชนีดังกล่าวของบางประเทศ เช่น อิตาลี โปแลนด์ ไต้หวัน ตุรกี เม็กซิโก มาเลเซีย เกาหลีใต้ และไทย เข้าสู่แดนลบแล้ว

ปัจจัยลบที่สี่ ได้แก่ ความเสี่ยงด้านสงครามการค้า ที่แม้ว่าจะบรรเทาลงแต่ก็ยังมีความไม่แน่นอนสูงและจะกระทบต่อการลงทุนในระยะต่อไป โดยหากพิจารณาจาก VIX index หรือดัชนีชี้วัดความผันผวนภายในปีนี้ จะพบว่าปรับขึ้นรุนแรง 2 ครั้ง คือเดือน ก.พ. และเดือน ธ.ค. โดยในเดือน ก.พ. เป็นผลจากการที่ทรัมพ์เริ่มประกาศสงครามการค้าและทำให้หุ้น S&P ตกลง 12% ดังนั้น หากสงครามการค้าปะทุอีกครั้ง เช่น ในเดือน มี.ค. ที่เป็นเส้นตายของสหรัฐในการขึ้นภาษีสินค้า 2 แสนล้านดอลลาร์ของจีนจาก 10% เป็น 25% ก็เป็นไปได้ที่ความผันผวนจะรุนแรงขึ้น

ปัจจัยลบที่ห้า ได้แก่ ปัญหาภูมิรัฐศาสตร์โลกต่าง ๆ โดยเฉพาะในตะวันออกกลางที่พร้อมจะปะทุทุกเมื่อ โดยเส้นตายที่ต้องจับตาคือในเดือน พ.ค. ที่การผ่อนผันการคว่ำบาตรอิหร่านสิ้นสุดลง ว่าจะมีการต่ออายุการผ่อนผันดังกล่าวหรือไม่ เพราะหากไม่ต่อก็อาจนำไปสู่วิกฤตเศรษฐกิจในอิหร่าน ลามไปสู่ความรุนแรงในตะวันออกกลางได้

ถึงแม้ว่าจะมี 5 ปัจจัยที่กดดันตลาดโลกในปี 2019 แต่ผู้เขียนมองว่ามีโอกาส 50% ที่ตลาดจะกลับมาฟื้นได้ในไตรมาส 2 เป็นอย่างเร็วที่สุดจาก 5 ปัจจัยบวก

ปัจจัยบวกที่หนึ่ง Fed หยุดขึ้นดอกเบี้ย โดยเป็นไปได้ที่ Fed จะหยุดขึ้นดอกเบี้ยเมื่อเกิดภาวะ IYC ขึ้น ซึ่งหากเกิดก่อนการประชุม Fed ในเดือน มี.ค. ก็เป็นไปได้ที่ Fed อาจไม่ขึ้นดอกเบี้ยเลย

ปัจจัยบวกที่สอง สงครามการค้าจะบรรเทาลง โดยแปรเปลี่ยนไปเป็นสงครามเทคโนโลยี (Trade War to Tech War) ผู้เขียนเชื่อว่า หนึ่งในสาเหตุที่การประชุม G20 ระหว่างจีนกับสหรัฐราบรื่นนั้น ส่วนหนึ่งเป็นเพราะเศรษฐกิจสหรัฐที่เริ่มชะลอลงจากความเสี่ยงสงครามการค้าและกระทบต่อความเชื่อมั่นและห่วงโซ่การผลิต (Supply Chain) ของผู้ผลิตสหรัฐ ในขณะที่ที่ปรึกษาของทรัมพ์มองว่าสงครามการค้าเป็นประเด็นระยะยาวเพื่อกีดกันการขึ้นเป็นมหาอำนาจทางเทคโนโลยีของจีน

ดังนั้น ในระยะต่อไป ทรัมพ์อาจไม่มุ่งเน้นการขึ้นภาษีนำเข้ากับจีน แต่จะใช้เทคนิคพิเศษ เช่น การจับกุมผู้บริหารรวมถึงคว่ำบาตรบริษัทเทคโนโลยีชั้นนำของจีน (เช่น หัวเว่ย) เพื่อป้องกันมิให้จีนก้าวขึ้นไปเป็นผู้นำด้านเทคโนโลยีในอนาคต (ติดตามได้ในรายละเอียดจาก SCBS Make Sense#4: 2018 Trade War; 2019 Tech War? ใน FB: SCB Securities)

ปัจจัยบวกที่สาม นโยบายเศรษฐกิจโลกจะผ่อนคลายมากขึ้น จากทิศทางเศรษฐกิจโลกที่ชะลอลง ทำให้ทางการหลายประเทศเริ่มที่จะยุติการขึ้นดอกเบี้ย และใช้นโยบายการคลังในการกระตุ้นเศรษฐกิจมากขึ้น แต่ก็อาจไม่สามารถกระตุ้นได้มากนักเนื่องจาก “กระสุน” (หรือ Policy Space) มีน้อยกว่าช่วงวิกฤตการเงินโลกปี 2008-9

ปัจจัยบวกที่สี่ ราคาน้ำมันมีแนวโน้มจะปรับขึ้นได้บ้างโดยเฉพาะหลังจากเส้นตายการผ่อนผันการคว่ำบาตรอิหร่านสิ้นสุดลง โดยที่ผ่านมา ต้นตอหนึ่งของความผันผวนของตลาดโลกเกิดจาก Fed ขึ้นดอกเบี้ยแม้ว่าเงินเฟ้ออยู่ในระดับต่ำ ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลจากราคาน้ำมันที่ลดลงมาก

ดังนั้น หากทรัมพ์ต้องการให้เงินเฟ้อปรับเพิ่มขึ้น ทางหนึ่งที่ทำได้คือการคว่ำบาตรอิหร่านเพื่อลดกำลังการผลิต อาจทำให้น้ำมันกว่า 1-1.8 ล้านบาร์เรลหายไปจากตลาดโลกและทำให้ราคาน้ำมันพุ่งสูงขึ้นได้ ซึ่งจะเป็นปัจจัยบวกต่อหุ้นกลุ่มพลังงานเช่นกัน

ปัจจัยบวกสุดท้าย ได้แก่ การที่ราคาหุ้นกลับเข้ามาสู่ปัจจัยพื้นฐานมากขึ้น โดยปัจจุบัน ค่า P/E Ratio ของทุกตลาดสำคัญอยู่ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยระยะยาวแล้ว ทั้งสหรัฐ ยุโรป ญี่ปุ่น หรือแม้แต่ตลาดเกิดใหม่ ซึ่งเป็นผลจากราคาที่ปรับลดลงมากในปัจจุบัน จึงเริ่มเป็นโอกาสดีของนักลงทุนที่มีสายตาก้าวไกล สามารถเลือกลงทุนในสินทรัพย์ที่มีปัจจัยพื้นฐานดีได้

หลังฟ้ามืดและพายุฝนจะเห็นแสงสว่างรออยู่เบื้องหน้า คำถามคือ นักธุรกิจและนักลงทุนจะรอดพ้นความมืดมิดในขณะนี้อย่างไร

[บทความนี้เป็นความเห็นส่วนตัวของผู้เขียน ไม่เกี่ยวข้องใด ๆ กับหน่วยงานที่ผู้เขียนสังกัดอยู่]