หนังสือที่ทรงคุณค่า คือหนังสือที่ยังไม่ได้อ่าน

หนังสือที่ทรงคุณค่า คือหนังสือที่ยังไม่ได้อ่าน

หนึ่งในมาตรการช็อปช่วยชาติที่ออกมาในช่วงนี้คือ การซื้อหนังสือ โดยมีเจตนาคืออยากจะให้คนไทยอ่านหนังสือมากขึ้น เรียนรู้มากขึ้น

อีกทั้งการซื้อหนังสือก็ควรถือเป็นการลงทุนเพื่ออนาคตอย่างหนึ่ง อย่างไรก็ดี ปัญหาที่สำคัญที่สุดของการซื้อหนังสือก็คือ ซื้อมาแล้วไม่ได้อ่าน ทำให้มีหนังสือที่ไม่ได้อ่านเต็มไปหมด ยิ่งในภาวะปัจจุบันที่สื่อสังคมออนไลน์ต่างๆ ได้เข้ามาแย่งชิงเวลาในหนึ่งวัน ยิ่งทำให้เวลาในการอ่านน้อยลง และมีหนังสือที่อ่านไม่จบมากขึ้น

สัปดาห์นี้เลยขอมาสนับสนุนให้คนไทยซื้อหนังสือกันมากขึ้น โดยเสนอทางออกสำหรับปัญหาการอ่านหนังสือไม่จบไว้ให้สองทางครับ

ในทางออกแรกนั้น ความท้าทายของการหนังสือ (โดยเฉพาะหนังสือที่ไม่ใช่นวนิยาย) คือการอ่านให้จบเล่ม ยิ่งปัจจุบันชีวิตที่มีแต่ความเร่งรีบยิ่งทำให้คนพยายามเสาะหาวิธีการให้ทำสิ่งต่างๆ ได้เร็วขึ้น แม้กระทั่งการอ่านหนังสือ แต่การอ่านเร็วก็ทำให้เกิดปัญหาของการไม่สามารถจดจำเนื้อหา สาระ ของหนังสือได้ มีผู้รู้และอ่านมากท่านหนึ่งได้ให้คำแนะนำไว้ว่าถ้าจะอ่านหนังสือ (ที่ไม่ใช่นวนิยาย) ให้ได้เนื้อหาและสาระสำคัญในเวลาอันรวดเร็วนั้น ควรจะอ่านหนังสือในลักษณะของ ชั้น หรือ Layer และวิธีการนี้เหมาะกับหนังสือที่เป็นเล่มๆ มากกว่าอีบุ๊กส์

เริ่มต้นในชั้นแรก จากการอ่านสารบัญและชื่อแต่ละบท เพื่อให้เห็นภาพกว้างว่าหนังสือเล่มดังกล่าวเป็นเรื่องราวเกี่ยวกับอะไร และต้องการสื่ออะไรให้ผู้อ่าน จากนั้นชั้นที่สอง เลือกเฉพาะบทที่สนใจและโดดเด่น แล้วอ่านเพียงไม่กี่ย่อหน้าของบทดังกล่าว เพื่อหาสาระสำคัญของบทนั้น ในชั้นที่สาม ก็คือเลือกบทที่สนใจจริงๆ แล้วอ่านทั้งบท ซึ่งในหนังสือหนึ่งเล่มอาจจะอ่านเพียงแค่ 1-2 บทก็ได้ และในชั้นสุดท้ายเมื่ออ่านตัวแก่นของหนังสือเล่มดังกล่าวจบแล้วค่อยกลับไปดูสารบัญใหม่ และท่านจะมีความเข้าใจในเนื้อหา ความเชื่อมโยงของบทต่างๆ ในหนังสือเพิ่มขึ้น และบางบทที่ไม่น่าสนใจก็อาจจะน่าสนใจขึ้นมาได้

วิธีการข้างต้นพอจะช่วยให้อ่านหนังสือ (ที่ไม่ใช่นวนิยาย) ให้ได้เห็นภาพและเนื้อหาสาระสำคัญ ได้ภายในเวลาไม่เกิน 1 ชั่วโมง ถึงแม้จะอ่านไม่จบทั้งเล่ม แต่ก็จะทราบในประเด็นสำคัญที่ผู้เขียนต้องการสื่อ รวมทั้งเห็นความเชื่อมโยงของหนังสือทั้งเล่มมากขึ้น ที่สำคัญท่านจะยังสามารถจดจำสาระสำคัญของหนังสือดังกล่าวได้อีกด้วย

ในอีกมุมมองหนึ่งการมีหนังสือที่ไม่ได้อ่านไว้ในครอบครองนั้น ไม่ใช่สิ่งที่น่าอาย แต่ถือเป็นความน่าภาคภูมิใจ ในหนังสือขายดีระดับโลกชื่อ The Black Swan ได้เขียนถึงเรื่องนี้ไว้อย่างน่าสนใจ โดยผู้เขียนได้ระบุไว้เลยว่าการมีหนังสือที่ไม่ได้อ่านหรือยังอ่านไม่จบนั้น จริงๆ แล้วคือเครื่องเตือนใจว่ายังไม่รู้อะไรบ้าง ทำให้เจ้าของหนังสือมีความกระหายและใคร่อยากรู้ในเรื่องราวต่างๆ

การมีหนังสือสะสมไว้ในบ้านเยอะๆ ต้องไม่มองว่าเป็นภาระ แต่จริงๆ แล้วคือเครื่องมือในการวิจัยและคว้าหาความรู้ต่างๆ หนังสือที่มีคุณค่าจริงๆ ไม่ใช่หนังสือที่อ่านจบแล้ว แต่เป็นหนังสือที่ยังไม่ได้อ่าน การเห็นหนังสือที่ไม่ได้อ่านอยู่เป็นประจำถือเป็นเครื่องเตือนใจให้เจ้าของหนังสือได้ตระหนักถึงความไม่รู้ของตนเอง ได้ตระหนักว่ายังมีเรื่องราวต่างๆ อีกมากมายที่ยังไม่รู้ และนำไปสู่สิ่งที่เรียกว่า ความถ่อมตนทางปัญญา หรือ Intellectual Humility ที่ทำให้ตัดสินใจได้ดีขึ้นและพร้อมที่จะเรียนรู้ได้มากขึ้น เพราะยิ่งคนยอมรับว่าไม่รู้ในสิ่งต่างๆ มากเท่าใด คนก็ยิ่งพร้อมที่จะเรียนรู้ และเรียนรู้ได้เร็วมากขึ้นเท่านั้น

ดังนั้นอย่าลืมถือโอกาสที่รัฐบาลเปิดให้ ซื้อหนังสือมาไว้ในครอบครอง และถ้าอยากจะอ่านก็สามารถอ่านให้ได้ใจความอย่างรวดเร็วโดยการอ่านเป็นชั้นๆ หรือ ถ้าไม่อ่าน ก็ถือว่าหนังสือที่ไม่ได้อ่านเหล่านั้นเป็นแหล่งความรู้ที่สำคัญต่อไปในอนาคต