บทสรุปฟินเทค 2018

บทสรุปฟินเทค 2018

ในบทความฉบับสุดท้ายของปีนี้ ผู้เขียนได้สรุปกฎหมายที่เกี่ยวกับเทคโนโลยีทางการเงินที่สำคัญในปี 2018

คงปฏิเสธไม่ได้ว่าปีที่ผ่านมา เป็นปีที่หน่วยงานกำกับดูแลเร่งศึกษาและให้ความสำคัญกับ การปรับปรุงกฎหมายและหลักเกณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีทางการเงิน เพื่อตอบสนองความต้องการของภาคธุรกิจและผู้บริโภคในยุคเศรษฐกิจดิจิทัล

เริ่มจากต้นปี ในเดือน ม.ค. ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้ออกหนังสือเวียนเพื่อ อนุญาตให้ธนาคารพาณิชย์และบริษัทในกลุ่มธุรกิจทางการเงินให้บริการแพลตฟอร์มอิเล็กทรอนิกส์ (e-Marketplace Platform) โดยให้ธนาคารสามารถทำ Digital Platform ของตนเอง และสามารถ ขยายขอบเขตการให้บริการ เช่น การทำ promotion ร่วมกับร้านค้า, ให้บริการระบบการชำระเงินแบบออนไลน์, จัดให้มีผู้ให้บริการในงานสนับสนุนธุรกิจ e-Marketplace Platform (เช่น Packaging, logistics และงานบริหารสินค้าคงคลัง) ดังนั้น ในปัจจุบัน Mobile Application ของธนาคารจึงไม่ได้ให้บริการเพียงแค่การเช็คยอดเงิน,โอนเงิน หรือชำระค่าสินค้า/บริการ เท่านั้น แต่ได้เพิ่มช่องทางและรูปแบบของกิจกรรมที่หลากหลาย รวมถึงจัดให้มีการซื้อขายสินค้าหรือบริการที่มีหลักฐานการซื้อขายในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ เช่น ตั๋วหนัง ตั๋วเครื่องบิน และ e-Coupon เป็นต้น

นอกจากนี้ ผลจากการอนุญาตให้ธนาคารทำ e-Market Platform ในปีที่ผ่านมา เราจึงได้เห็นการให้บริการสินเชื่อแบบ Digital Loanและการปล่อยสินเชื่อลูกค้าใหม่โดยอาศัยข้อมูล e-Commerce จากการทำธุรกรรมของลูกค้าผ่าน Platform อันเป็นการเชื่อมโยงธนาคารเข้าสู่โลกยุค Big Data อย่างเต็มรูปแบบ และเป็นที่มาของการให้สินเชื่อแบบไม่มีหลักประกันของบางธนาคาร

ต่อมา ในเดือน ก.พ. ธปท. ได้มีหนังสือเวียนเพื่อขอความร่วมมือจากสถาบันการเงินไม่ ให้ทำธุรกรรมที่เกี่ยวข้องกับCryptocurrency เช่น ห้ามลงทุน/ซื้อขาย, ห้ามให้บริการรับแลกเปลี่ยน, ห้ามสร้าง platform เพื่อเป็นสื่อกลางในการทำธุรกรรม และการห้ามให้คำปรึกษาลูกค้าเกี่ยวกับการลงทุนใน Crytpcurrency

อย่างไรก็ดี แม้ภาคการเงินจะไม่ยอมรับให้ Cryptocurrency มีสถานะเท่ากับเงินที่สามารถใช้ชำระหนี้ได้ตามกฎหมาย (Legal tender) แต่ข้อเท็จจริงปรากฎว่า ได้มีการนำ Cryptocurrency มาใช้เป็นเครื่องมือในการระดมทุน โดยมีการเสนอขาย Digital Token ต่อประชาชน และมีการประกอบธุรกิจศูนย์ซื้อขาย (Exchange) เพื่อเป็นตัวกลางในการซื้อขายแลกเปลี่ยน ซึ่งการดำเนินการทั้งหมดในข้างต้นไม่อยู่ภายใต้กรอบการกำกับดูแลของกฎหมายที่มีอยู่ในเวลานั้น กระทรวงการคลังจึงได้เสนอพระราชกำหนดการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลจำนวน 2 ฉบับ (ซึ่งมีผลใช้บังคับเป็นกฎหมายในเดือนพฤษาคม) ฉบับแรกมีสาระสำคัญให้คณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) กำกับและควบคุมการดำเนินกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับสินทรัพย์ดิจิทัล ฉบับที่สองเป็นการแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากรเพื่อจัดเก็บภาษีที่เกิดจากสินทรัพย์ดิจิทัล

จากการประกาศใช้ พ.ร.ก. สินทรัพย์ดิจิทัลดังกล่าว ส่งผลให้ในเดือน ส.ค. ธปท. ได้ยกเลิกแนวทางตามหนังสือเวียน เรื่อง การห้ามสถาบันการเงินไม่ให้ทำธุรกรรมที่เกี่ยวข้องกับCryptocurrency ฉบับข้างต้น และออกหนังสือเวียนฉบับใหม่เพื่อกำหนดแนวทางการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลของสถาบันการเงินและบริษัทในกลุ่มธุรกิจทางการเงินของสถาบันการเงิน ภายใต้หนังสือเวียนฉบับใหม่ สถาบันการเงินถูกห้ามไม่ให้เป็นผู้ออก Token (ICO Issuer), ให้บริการ ICO portal, ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล (Exchange/Broker/Dealer) รวมถึงไม่ลงทุนและไม่แนะนำการลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัลให้แก่ลูกค้า

อย่างไรก็ดี ข้อห้ามดังกล่าวข้างต้น ไม่รวมถึงกิจกรรมที่ดำเนินการโดยบริษัทในกลุ่มธุรกิจทางการเงินของสถาบันการเงิน โดยหากบริษัทในกลุ่มธุรกิจฯ เช่น บริษัทหลักทรัพย์ หรือ บริษัทประกันชีวิต เป็นองค์กรธุรกิจที่มีหน่วยงานกำกับดูแลเป็นการเฉพาะ กล่าวคือ ได้รับใบอนุญาตให้ประกอบธุรกิจจาก ก.ล.ต หรือ สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) อย่างถูกต้อง บริษัทในกลุ่มธุรกิจฯ เหล่านั้นสามารถลงทุนและประกอบธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับสินทรัพย์ดิจิทัลได้

นอกจากนี้ ตลอดปี 2018 ต้องถือว่าเป็นปีที่เราได้เห็นการปรับเปลี่ยนกลยุทธ์ช่องทางในการให้บริการของธนาคารที่หลากหลายมากขึ้นโดยปัจจัยที่สำคัญคงหนีไม่พ้นการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของผู้บริโภค และการพัฒนาที่รวดเร็วของเทคโนโลยีทางการเงิน

ดังนั้น ในเดือน มี.ค. ธปท. จึงได้ปรับปรุงหลักเกณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับช่องทางให้บริการของธนาคาร เช่น การให้มีสาขาอิเล็กทรอนิกส์โดยผู้ใช้บริการสามารถดำเนินการด้วยตนเอง (การให้บริการผ่านเครื่องถอน/ฝากเงินสดอัตโนมัติ), การขยายประเภทตัวแทนของธนาคาร (Banking Agent) โดยกำหนดให้ธนาคารสามารถแต่งตั้ง Agent เพื่อเพิ่มช่องทางการให้บริการได้ (เช่น การแต่งตั้งให้ร้านสะดวกซื้อ หรือผู้ให้บริการชำระเงินอิเล็กทรอนิกส์ เป็นตัวแทนในการรับฝาก/ถอนเงิน เป็นต้น) เมื่อหลักเกณฑ์การให้บริการของธนาคารมีความหลากหลายและทันสมัยมากขึ้น รูปแบบการทำธุรกรรมของธนาคารย่อมมีการเปลี่ยนแปลงเช่นกัน สิ่งที่สังเกตได้ชัดในปี 2018 คือ การทำ E–KYC สำหรับธุรกรรมทางการเงินเริ่มเป็นรูปธรรมมากขึ้น ดังนั้น ในเดือนกันยายน ธปท. ได้ออกประกาศ อนุญาตให้ธนาคารให้บริการยืนยันตัวตนของลูกค้าหรือการให้ข้อมูลในรูปแบบดิจิทัลต่อพันธมิตรทางธุรกิจของธนาคาร โดยกำหนดให้ธนาคารสามารถใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสมในการให้บริการยืนยันตัวตนแบบดิจิทัลได้ ซึ่งจะต้องคำนึงถึงการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล และจัดให้มีระบบ IT Risk Management and Cyber Security ที่เหมาะสม ตามที่ได้กล่าวมาข้างต้น เป็นเพียงส่วนหนึ่งที่ผู้เขียนได้นำมาเรียบเรียงถึงเหตุการณ์และการเปลี่ยนแปลงของของกฎหมาย/หลักเกณฑ์ที่เข้าใจถึงบริบทเรื่อง Digital Transformation และการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วของเทคโนโลยีทางการเงิน

ในปีหน้า ยังมีกฎหมายอีกหลายฉบับ (ที่ปัจจุบันอยู่ในระหว่างการพิจารณา) ซึ่งมีเนื้อหาเกี่ยวกับประเด็นในเรื่องเทคโนโลยี เช่น ร่างพ.ร.บ. รัฐบาลดิจิทัล, ร่างพ.ร.บ. ว่าด้วยการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์, ร่างพ.ร.บ. ข้อมูลส่วนบุคคล ร่างกฎหมายการพิสูจน์และยืนยันตัวตนทางดิจิทัล (Digital ID) และการปรับปรุงเกณฑ์ต่าง ๆ เพื่อส่งเสริม Digital Banking และการเข้าถึงแหล่งเงินทุนของ SME

ท้ายที่สุด ผู้เขียนเชื่อว่า ในปีหน้าจะมีเทคโนโลยีทางการเงินในรูปแบบใหม่ ๆ ที่ท้าทาย Regulators ไม่ต่างจากที่ผ่านมา .... แล้วพบกันใหม่ฉบับหน้า ในปี 2019 ....

[บทความนี้เป็นความเห็นส่วนตัวของผู้เขียน]