เกาะเวที Global Peter Drucker Forum 2018

เกาะเวที Global Peter Drucker Forum 2018

เมื่อวันที่ 28-30 พ.ย. ที่ผ่านมาดิฉันมีโอกาสได้เข้าร่วมการสัมมนา Global Peter Drucker Forum (GPDF) ครั้งที่ 10 ที่กรุงเวียนนา ประเทศออสเตรีย

งานนี้มีนักวิชาการ ซีอีโอ และผู้ทรงคุณวุฒิที่มีชื่อเสียงระดับโลกเข้าร่วมนำเสนอความคิดและอภิปรายกันอย่างกว้างขวาง โดยในปีนี้หัวข้อหลักหรือ Theme ของการสัมมนาคือเรื่อง "การบริหารจัดการ - มิติเรื่องคน" (Management - Human Dimension)

ก่อนเดินเรื่องเข้าสู่สาระสำคัญของการสัมมนา อยากนำเสนอเรื่องราวความเป็นมาของงานสัมมนา GPDF ให้ท่านผู้อ่านได้ทราบพอเป็นสังเขปนะคะ โดยเมื่อเอ่ยนามของ ศาสตราจารย์ ปีเตอร์ ดรัคเคอร์ (ค.ศ.1909 - 2005) ท่านที่ศึกษาและทำงานในสายการบริหารจัดการย่อมรู้จักชื่อของนักวิชาการท่านนี้เป็นอย่างดี เพราะนอกจากจะเป็นอาจารย์ชั้นแนวหน้าแล้วยังเป็นนักเขียนและที่ปรึกษาของซีอีโอระดับโลกหลายท่านด้วยกัน ยกตัวอย่างเช่น แจ็ค เวลช์ อดีตซีอีโอระดับตำนานของจีอี เป็นต้น

ดรัคเคอร์ได้รับยกย่องว่าเป็น "กูรูด้านการจัดการ" และเป็น "บิดาของการบริหารสมัยใหม่" โดยเมื่อประมาณสี่สิบปีมาแล้วที่ท่านยังมีชีวิตอยู่ บรรดานักข่าวสายธุรกิจจะขอให้ท่านคาดการณ์อนาคตการเปลี่ยนแปลงของโลกธุรกิจเสมอๆ และมันก็เป็นไปตามที่ท่านคาดไว้

เช่นท่านคาดการณ์เมื่อปี ค.ศ. 1979 ว่าในอนาคตพนักงานหรือคนงานในองค์กรจะเป็นผู้ที่ทำงานโดยใช้สมองมากกว่าใช้แรงกาย และดรัคเคอร์ได้บัญญัติศัพท์เรียกแรงงานที่ใช้สมองว่า "Knowledge worker" ซึ่งในที่สุดวิสัยทัศน์ของท่านก็เป็นภาพสถานการณ์ของตลาดแรงงานในปัจจุบัน นับว่าท่านมีวิสัยทัศน์ที่ก้าวล้ำเวลาไปเป็นยี่สิบสามสิบปีเลยทีเดียว

ดังนั้นเมื่อท่านได้จากไปในปี ค.ศ. 2005 ประมาณสีปีให้หลังจึงมีนักวิชาการที่รวมตัวกันเป็นสมาชิกของกลุ่มที่เรียกชื่อกลุ่มว่า สังคมปีเตอร์ ดรัคเคอร์ยุโรป (The Peter Drucker Society Europe - ซึ่งสังคมนี้เป็นกิ่งก้านของสถาบันปีเตอร์ ดรัคเคอร์ที่มหาวิทยาลัยแคลร์มอนต์ รัฐแคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา ที่ซึ่งดรัคเกอร์เป็นอาจารย์อยู่ที่นั่น) กลุ่มสังคมปีเตอร์ ดรัคเคอร์ยุโรปได้ริเริ่มจัดสัมมนาระดับโลกเรียกว่า The Global Peter Drucker Forum ขึ้นเป็นครั้งแรกเมื่อปี ค.ศ. 2009 ที่นครเวียนนาซึ่งเป็นบ้านเกิดของท่าน และได้ดำเนินการจัดงานต่อเนื่องกันมาทุกปีจนปีนี้เป็นครั้งที่ 10 ดังกล่าวแล้ว


ในการจัดสัมมนา GPDF ครั้งที่ 10 นี้จัดขึ้นอย่างใหญ่โตหรูหราที่พระราชวังฮอฟบวร์ค ซึ่งเคยเป็นอดีตพระราชวังหลวงอยู่ใจกลางกรุงเวียนนา ในปัจจุบันส่วนหนึ่งของพระราชวังได้ใช้เป็นที่พำนักและทำเนียบของประธานาธิบดีออสเตรียด้วย ในปีนี้มีวิทยากรและผู้นำทางด้านความคิดที่มีชื่อเสียงก้องโลกมาร่วมงานหลายท่านมาก อาทิ ศาสตราจารย์ เฮนรี่ มินซ์เบิร์ก ซึ่งเป็นกูรูด้านการจัดการ ศาสตราจารย์ฟิลิป คอตเลอร์ กูรูด้านการตลาดของโลก ศาสตราจารย์เดฟ อัลริช กูรูด้านการบริหารคน เป็นต้น ส่วนทางด้านซีอีโอก็มี ทิม บราวน์ อดีตอาจารย์แห่งมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ดและปัจจุบันเป็นเจ้าของมหาวิทยาลัยไอดีโอ (IDEO) พอล โพลแมน จากยูนิลีเวอร์ อิซาเบลล์ โคเชร์ จากเอนจี ยัง ซอห์น จากซัมซุง จาง รุยหมิน จากไฮเออร์ เป็นต้น

ในแง่ของสื่อที่มาร่วมให้การสนับสนุนและเผยแพร่ข้อมูลจากการสัมมนาก็มีนิตยสารฟอร์บส์ นสพ. ไฟแนนเชียล ไทมส์ และวารสารฮาร์วาร์ด บิสสิเนส รีวิว ได้เห็นชื่อของสื่อที่เข้ามาทำข่าวแล้วเชื่อถือได้ว่าต้องเป็นข่าวธุรกิจระดับสุดยอดแนวหน้าแน่นอน ในแง่ของผู้เข้าร่วมสัมมนา งานนี้ไม่ได้มีแต่นักวิชาการจากมหาวิทยาลัยมีอันดับเข้าร่วม แต่มีผู้บริหาร ผู้นำองค์กรจากภาครัฐและเอกชนทั้งบริษัทใหญ่และกลุ่มสตาร์ทอัพจากภูมิภาคยุโรปและสหรัฐอเมริกาเป็นหลัก รองลงมาคือจากประเทศกลุ่มเอเซียและทวีปอัฟริกา

ในการสัมมนาครั้งนี้ความสำคัญของคน และการบริหารคนในยุค AI เรื่องนี้เป็นเรื่องที่เจ้าของกิจการ ผู้บริหารและลูกจ้างต่างให้ความสนใจกันมากในแง่มุมต่างๆกัน ในส่วนของนายจ้างที่มีความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีสูงก็มีความสนใจในเรื่องของการนำ AI มาใช้โดยพยายามหาลู่ทางที่จะขยายผลการใช้งาน AI ให้มาทดแทนแรงสมองของคนให้ได้มากที่สุด ส่วนบางรายก็ห่วงว่าถ้าตนเองไม่มี AI มาใช้แล้วจะเสียเปรียบคู่แข่งอื่นหรือไม่ในเรื่องของความแม่นยำในการคาดการณ์ความต้องการของลูกค้าและตลาด ประสิทธิภาพในการผลิต เรื่องของการตัดสินใจลงทุน ฯลฯ และในส่วนของพนักงานก็หวั่นเกรงว่าตนเองจะตกงานหรือไม่ เพราะเกรงว่าไม่มีความสามารถพอที่จะทำงานสู้ AI ได้ ประเด็นต่างๆเหล่านี้ได้ถูกหยิกยกมาวิพากษ์วิจารณ์กันอย่างกว้างขวางโดยนักวิชาการและผู้นำองค์กร

ซึ่งโดยภาพรวมแล้วพอจะสรุปได้ว่า ไม่มีใครหยุดยั้งความก้าวหน้าของเทคโนโลยีได้ และควรนำเทคโนโลยีอย่าง AI ซึ่งเป็นเครื่องมือที่มนุษย์ประดิษฐ์ขึ้นให้มีทักษะ (skill) ในการประมวลข้อมูล ทำการคำนวณทางสถิติ การวิเคราะห์ความเป็นไปได้ เป็นต้น ซึ่ง AI สามารถประมวลข้อมูลจำนวนมากๆได้แม่นยำในเวลาที่รวดเร็ว อย่างไรก็ตามวิทยากรอย่างทิม บราวน์ ต้นตำรับ Design Thinking (กระบวนการคิดเชิงออกแบบ) ได้กล่าวว่า AI มีทักษะ แต่มนุษย์เรามีความสามารถ (capability) ที่หากมีการพัฒนาอย่างเหมาะสมจะสามารถออกแบบสร้างสรรค์นวัตกรรมต่างๆได้อย่างไม่มีข้อจำกัด

ดร. จานปิเอโร เพตริกลิเอรี่ อาจารย์จากสถาบัน INSEAD แห่งประเทศฝรั่งเศสก็กล่าวสนับสนุนความคิดนี้เช่นกัน และยังเสริมด้วยว่าเราไม่ควรมองและเรียกพนักงานในองค์กรว่าเป็นทรัพยากรบุคคล เพราะมนุษย์เราไม่ใช่ “ทรัพยากร” (resource) แต่เป็น “ความสามารถ” ดังนั้นแทนที่จะใช้คำว่า Human resource ในการเรียกพนักงาน เราควรใช้คำว่า Human capability (ความสามารถแห่งมนุษย์) เรียกพนักงานแทน นอกจากประเด็นเรื่องความสามารถที่มนุษย์มีแต่ AI ไม่มีแล้ว มนุษย์ยังมีอารมณ์ความรู้สึกและสามารถเข้าใจความรู้สึกของผู้อื่นได้ มนุษย์มีจริยธรรมในขณะที่ AI ไม่มี

ดังนั้นวิทยากรที่เป็นมนุษย์ระดับมันสมองของโลกจึงสรุปว่า อย่าไปกลัวตกงานหรือหมดคุณค่าเพราะ AI ทำในเรื่องต่างๆนี้ไม่ได้ ปล่อยให้ AI ทำงานในทักษะที่มันมี แล้วมนุษย์จงเอาเวลาไปสร้างสรรค์งานอื่นๆดีกว่า มีงานอีกมากมายที่ต้องใช้ความคิดสร้างสรรค์ คิดนอกกรอบ ต้องใช้ศิลปะ ต้องใช้เรื่องของอารมณ์ความรู้สึกในการสื่อสาร เช่น การให้คำปรึกษาของแพทย์กับคนไข้ ของครูกับนักเรียน ของผู้ให้บริการกับลูกค้าที่มีความต้องการจุกจิกและอารมณ์เปลี่ยนแปลงง่าย มีงานที่เกี่ยวกับจริยธรรม เช่นการตัดสินพิพากษาคดีความที่มีเรื่องของกฏหมายและหลักศีลธรรมเข้ามาเกี่ยวข้อง เป็นต้น

ได้ฟังที่วิทยากรทั้งหลายพูดมาก็ถูกต้องอยู่ แต่ดิฉันมองว่าสังคมโลกของเรามีช่องว่างที่กว้างมากระหว่างคนรวยและคนจน คนมีความรู้มากกับคนมีความรู้น้อย คนไฮเทค คนโลว์เทค และคนโนเทค (no tech) อีกทั้งรัฐบาลตลอดจนองค์กรทั้งภาครัฐและเอกชนของหลายประเทศยังไม่สามารถให้การศึกษาและการอบรมแก่ประชากรและพนักงานอย่างเพียงพอที่จะดำรงชีวิตอย่างมีคุณภาพในโลกแห่งเทคโนโลยีนี้ได้ นี่จึงเป็นประเด็นสำคัญสำหรับภาครัฐและเอกชนที่จะต้องร่วมมือกันแก้ปัญหาเรื่องคุณภาพของแรงงานอย่างเร่งด่วน ตัวอย่างที่เห็นชัดที่สุดคือ ในขณะที่คนกลุ่มหนึ่งในสังคมใช้เพียงมือถือในการติดต่อสื่อสาร สั่งงาน ทำงาน ให้คำปรึกษา ซื้อ-ขายหุ้น ชำระค่าสินค้าและบริการ หาคำตอบทางคณิตศาสตร์ที่ยากๆได้ แต่มีคนอีกกลุ่มใหญ่ที่แม้แต่จะใช้เครื่องเอทีเอ็มเบิกเงินมาใช้ยังทำไม่เป็น ช่องว่างมันกว้างขนาดนี้ค่ะ วิธีการแก้ปัญหาที่เหล่าวิทยากรกล่าวออกมาเป็นเสียงเดียวกันคือ ต้องหมั่นขวนขวายพัฒนาตนเองเป็นพื้นฐานที่สำคัญที่สุด จะหวังคอยพึ่งโรงเรียน รัฐบาล หรือองค์กรนายจ้างมาพัฒนาตัวเรานั้นย่อมไม่ทันการ

วิทยากรหลายท่านกล่าวว่าคนรุ่นใหม่ที่จะทำงานในองค์กรยุค AI ระบาดต้องเป็นผู้ที่มี ความสามารถในการเรียนรู้ (learnability) ต้องเป็นคนรักการเรียนรู้ด้วยตนเอง


โรงเรียนทำให้เด็กหยุดการเรียนรู้? จอห์น เฮเกิล วิทยากรอีกท่านผู้มีประสบการณ์หลากหลายจากการเป็นเจ้าของกิจการ ที่ปรึกษาด้านกลยุทธ์และ นักเขียนที่เคยทำงานในธุรกิจไฮเทคที่ซิลิคอน แวลลีย์มากว่าสามสิบปีได้แสดงความเห็นว่าโลกในอนาคตอันใกล้ของเราจะเป็นโลกที่เครื่องจักรกลจะมาทำงานร่วมกับมนุษย์ โดยมนุษย์จะมุ่งไปทำงานในเรื่องที่ต้องใช้จินตนาการ ใช้วุฒิภาวะทางอารมณ์ ต้องใช้ความอยากรู้อยากเห็น แต่ว่าโรงเรียนที่พวกเราไปเรียนหนังสือกันทำให้เด็กหมดความอยากรู้อยากเห็น เป็นโรงเรียนที่เน้นการจำ ความอยากรู้อยากเห็นอยากเรียนรู้ของคนเราก็เหมือนกล้ามเนื้อ ต้องบริหารกล้ามเนื้อบ่อยๆ กล้ามเนื้อจึงจะแข็งแรง เมื่อเราไปเรียนอยู่ในสถานศึกษาที่มีการเรียนแบบเน้นการท่องจำ ทำตามที่ครูอาจารย์สอน หรือไปทำงานกับผู้นำที่ต้องการให้เราทำตามคำสั่งเท่านั้น เราจะไม่มีโอกาสในการคิดด้วยตนเอง หมดความอยากรู้อยากถาม ความสามารถในการเรียนรู้ของเราจะเหี่ยวฟีบแบนและหายไปในที่สุด กลายเป็นนักเรียนหรือเป็นมนุษย์เงินเดือนที่ทำตามคำสั่งเท่านั้น สถานศึกษาจึงต้องเปลี่ยนวิธีการเรียนรู้ของนักเรียนและผู้นำองค์กรยุค AI เฟื่องฟูต้องบริหารพนักงานแบบกระตุ้นส่งเสริมให้พนักงานมีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็นจึงจะสามารถดึงเอาจินตนาการที่สร้างสรรค์ของบุคคลมาใช้ได้เต็มศักยภาพ

และดิฉันโชคดีเป็นอย่างยิ่งที่มีโอกาสได้พบปะพูดคุยเป็นส่วนตัวกับศาสตราจารย์ ฟิลิป คอตเลอร์ กูรูด้านการตลาดระดับโลกแห่งวิทยาลัยเคลลอกก์ถึง 2 ครั้ง ครั้งแรกเกิดขึ้นเมื่อก่อนการสัมมนาจะเริ่มขึ้น ดิฉันได้มาถึงสถานที่ก่อนงานเริ่มประมาณครึ่งชั่วโมงกว่าๆ และเนื่องจากยังไม่ได้รับประทานอาหารกลางวัน จึงตัดสินใจเดินไปร้านแมคโดนัลส์เพื่อหาอาหารจานด่วนรับประทาน ขณะที่ยืนเข้าแถวรอสั่งอาหารก็มีฝรั่งที่เป็นผู้ชายวัยประมาณ 70 ปีกว่าๆยืนเข้าแถวอยู่ข้างหน้า เขาสวมหมวกเบเร่ต์ และใส่โค้ทยาวสีดำเนื่องจากอากาศในกรุงเวียนนานั้นหนาวเย็นขนาดติดลบแล้ว เมื่อถึงคิวดิฉันสั่งอาหารและได้รับอาหารแล้ว ดิฉันก็เดินมองหาที่นั่ง บ่ายวันนั้นร้านค่อนข้างเต็ม ไม่มีโต๊ะว่าง ต้องนั่งเคาน์เตอร์รวมกับคนอื่นๆ ดิฉันเลือกที่นั่งได้ใกล้ๆกับชายสูงวัยคนนั้น และเมื่อมีโอกาสได้มองหน้าชายผู้นั้นชัดๆ ดิฉันก็คิดว่ามีเค้าหน้าเหมือนอาจารย์ฟิลิป คอตเลอร์ที่เคยได้พบเมื่อประมาณสิบกว่าปีมาแล้วตอนที่พานิสิตศศินทร์ไปเข้าชั้นเรียนที่เคลลอกก์ประมาณหนึ่งสัปดาห์โดยมีอาจารย์คอตเลอร์ร่วมเป็นวิทยากรให้กับนิสิตของเราดิฉันจึงถามว่า “ขอโทษค่ะ ท่านคือศาสตราจารย์ฟิลิป คอตเลอร์ใช่ไหมคะ” ปรากฏว่าสุภาพบุรุษสูงวัยนั้นยิ้มกว้างและพยักหน้ารับ ดิฉันจึงแนะนำตนเองว่ามาจากศศินทร์ ท่านจึงชวนให้ขยับไปนั่งใกล้ๆท่ามกลางความปิติยินดีของดิฉันที่เป็นแฟนคลับของท่าน

ระหว่างที่เราต่างทานแฮมเบอร์เกอร์กัน ท่านถามดิฉันว่าหากดิฉันเป็นกรรมการคัดเลือกผู้นำให้กับองค์กร โดยมีผู้นำ 2 คนมาให้เลือก คนหนึ่งฟังเก่ง กับอีกคนหนึ่งพูดเก่ง ดิฉันจะเลือกใคร ดิฉันตอบว่าคงจะเลือกคนที่ฟังเก่งมั้ง และดิฉันก็ถามท่านว่าคำตอบที่ถูกคืออะไร ท่านตอบว่าถูกทั้งคู่ ท่านกล่าวว่าสิ่งที่สำคัญที่สุดที่ผู้นำต้องทำคือ ต้องตัดสินใจ ทั้งนี้ไม่มีผู้นำคนใดที่ตัดสินใจถูกต้องทุกครั้ง และก็ไม่ค่อยมีการตัดสินใจเรื่องใดที่เราจะมีข้อมูลครบถ้วน ดังนั้นอย่างไรเสียผู้นำก็ต้องตัดสินใจ จะผิดหรือถูกก็ต้องตัดสินใจ ผลออกมาอย่างไรเดี๋ยวค่อยมาว่ากัน ไม่ดีก็แก้ไขไป

ดิฉันฟังแล้วก็เห็นด้วยกับท่าน และยังนึกถึงปัญหาที่เคยได้ยินได้ฟังผู้บริหารคนไทยบ่นกันอยู่ตลอดมาว่า หาผู้นำที่กล้าตัดสินใจไม่ค่อยได้ เพราะกลัวต้องรับผิดชอบ ยิ่งในสมัยที่อะไรๆก็พลิกผันรวดเร็ว การตัดสินใจในการทำธุรกิจเพื่อแข่งขันก็ต้องกระทำกันเร็วขึ้น ตรงนี้เองจะเป็นตัวตัดสินว่าบุคคลใดเป็นผู้นำ คนที่กล้าตัดสินใจโดยที่ได้ศึกษาวิเคราะห์ข้อมูลเท่าที่หามาได้อย่างดีที่สุดแล้ว แม้ว่าการตัดสินใจนั้นอาจไม่ได้ผลลัพท์ตามที่ต้องการเสมอไป ก็ยังถือว่าเขาเป็นผู้นำ เพราะการที่กล้าตัดสินใจหมายถึงการกล้ายอมรับผลของการตัดสินใจนั้น คนที่อยู่ในตำแหน่งผู้นำแต่มีนิสัยเลี่ยงการตัดสินใจเพราะกลัวพลาดหรือกลัวการรับผิดชอบถือว่าขาดคุณสมบัติที่สำคัญของการเป็นผู้นำ ทั้งนี้การกลัวผิดพลาดนั้นสามารถป้องกันและเตรียมตัวได้ในระดับหนึ่ง แต่เมื่อถึงเวลาก็ต้องตัดสินใจ 

พอเราคุยกันมาถึงตอนนี้ก็พอดีใกล้เวลางานสัมมนาเริ่ม เราจึงเดินไปเข้างานด้วยกัน ทั้งนี้ดิฉันมีโอกาสได้คุยกับท่านต่อเพราะดิฉันเลือกเสวนาโต๊ะกลมกลุ่มย่อยที่มีท่านเป็นผู้นำการสนทนาของโต๊ะนั้น โดยหัวข้อของการเสวนาในโต๊ะของเราคือ “เวลาช่างผันแปรไปรวดเร็ว – การพัฒนาผู้นำสำหรับศตวรรษที่ 21” ซึ่งการเสวนาของเราบางตอนก็คือประเด็นคำถามที่อาจารย์คอตเลอร์คุยกับดิฉันมาก่อนแล้วคือเรื่องของการเป็นผู้นำเก่งฟังหรือเก่งพูด ซึ่งเราได้ข้อสรุปว่าผู้นำควรมีทั้งสองข้อ และต้องรู้ว่าเมื่อไรควรฟังและเมื่อไรควรพูด

ส่วนประเด็นอื่นที่อาจารย์คอตเลอร์หยิบยกมาคุยคือ “เราควรเลือกผู้นำที่มีคุณสมบัติที่ทำให้คนชอบไหม” ซึ่งสมาชิกในโต๊ะก็มีทั้งเห็นด้วยและไม่เห็นด้วย ขณะที่อาจารย์คอตเลอร์มองว่าไม่จำเป็น และอย่าเลือกผู้นำที่ไม่มีคุณสมบัติอื่นใดนอกจากการทำให้คนอื่นชอบ เพราะจากประสบการณ์ของท่านพบว่าหลายองค์กรเลือกผู้นำที่มีลักษณะที่คนในองค์กรน่าจะรู้สึกชอบ ซึ่งถ้ามีคุณลักษณะนี้ก็ดีอยู่ แต่ไม่ใช่เรื่องหลัก เรื่องที่ต้องมองหาคือคนๆนั้นมีค่านิยมที่เข้ากันได้กับวัฒนธรรมขององค์กรหรือไม่ เป็นผู้ที่เรียนรู้เร็วไหม มีความคิดสร้างสรรค์และสามารถนำความคิดสร้างสรรค์นั้นไปลงมือทำให้เกิดผลจริงได้หรือไม่ เหล่านี้คือคุณสมบัติที่โต๊ะกลมของเราสรุปออกมาเป็นประเด็นที่ผู้นำรุ่นใหม่ควรได้รับการพัฒนาในเรื่องนี้ซึ่งสอดคล้องกับสภาพสังคมโลกที่ทุกอย่างดำเนินและเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วด้วยเทคโนโลยี


นอกจากคุณสมบัติต่างๆดังกล่าวข้างต้นแล้ว ยังมีคุณสมบัติที่สำคัญอีก 3 ประการที่สมาชิกในโต๊ะเสวนาของเราคุยกันและห้องสัมมนาห้องใหญ่ยังถือเป็นประเด็นที่สำคัญมากก็คือ เรื่องของการมีฉันทะ (passion) คือความรักและสนใจในงานที่ตนเองทำ การมีเครือข่ายความสัมพันธ์ (connection) ที่กว้างขวาง การมีจริยธรรมธุรกิจและการมีความรับผิดชอบต่อสังคม

โดยในเวทีสัมมนาใหญ่นั้นเรื่องของการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ (climate change) และสภาพสิ่งแวดล้อมของโลกบทบาทของผู้นำองค์กร ตลอดจนวิธีการบริหารและทำงานในองค์กรอย่างมีความรับผิดชอบต่อสังคมเป็นประเด็นที่ได้รับความสำคัญเป็นลำดับสองรองจากเรื่องของบุคลากรและ AI ทั้งนี้อาจารย์คอตเลอร์เองที่เป็นอาจารย์ทางสายวิชาการตลาด ท่านก็ให้ความสำคัญกับเรื่องของความรับผิดชอบต่อสังคมของผู้นำมาก หากใครเคยติดตามอ่านบทความและหนังสือของท่านจะพบว่าท่านให้ความสำคัญกับเรื่องจริยธรรมธุรกิจมาดดยตลอด เช่น การสร้างแบรนด์และการทำการตลาดอย่างมีความรับผิดชอบเป็นต้น ยิ่งในสังคมยุคไฮเทคที่ข่าวสารแพร่หลายไปได้อย่างรวดเร็ว การติดต่อซื้อขายก็ทำได้ออนไลน์อย่างรวดเร็ว ความเจริญทางเทคโนโลยีต้องมีควบคู่ไปกับความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมด้วย โลกในศตวรรษที่ 21 จึงจะดำเนินไปได้โดยมีมนุษย์ทำงานร่วมกับหุ่นยนต์และ AI ที่เราสร้างขึ้นเพื่อคุณภาพชีวิตอย่างยั่งยืน