เมื่อรายใหญ่ลงมา Disrupt ฟินเทค

เมื่อรายใหญ่ลงมา Disrupt ฟินเทค

จากผู้ล่ากลับบกลายมาเป็นผู้ถูกล่า นี่คือโจทย์การแข่งขันที่หนักและลำบากของสตาร์ทอัพในยุคนี้จริงๆ

เรามักเข้าใจว่าธุรกิจสตาร์ทอัพเกิดขึ้นบนโลกนี้เพื่อที่จะ Disrupt  ธุรกิจแบบดั้งเดิมที่ปรับตัวไม่ทันต่อการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี แต่คำพูดนี้อาจไม่จริงเสมอไปเพราะผู้เล่นเดิมอาจช่วงชิงความได้เปรียบจากการที่เข้ามาในตลาดก่อน ใช้เงินทุนที่มีมากกว่าทุ่มทำการตลาดรวมไปถึงการอาศัยช่วงเวลาที่คลุมเครือไม่ชัดเจนของกฎหมายและการกำกับดูแลเข้ามายึดพื้นที่ตลาดก่อนที่สตาร์ทอัพจะได้เริ่ม

มุมมองของผม ภาคธนาคารของไทยถือเป็น Sector ที่ปรับตัวต่อ Digital Disrupt ได้ค่อนข้าง “เร็ว” ต่างจากธุรกิจสื่อที่ปรับตัวได้ช้ามากหรือแทบจะไม่มีการปรับตัวเลยจนทำให้เกิดภาวะที่ต้องเลย์ออฟพนักงานจำนวนมากอย่างที่เห็นกัน

ไม่นานมานี้ ธนาคารกสิกรไทยซึ่งเป็นสถาบันการเงินที่ชัดเจนและจริงจังกับการ Transformation องค์กรสู่ยุคดิจิทัล เป็นอย่างมาก ได้เปิดตัวบริษัทร่วมทุนกับไลน์คอร์ปอเรชั่น เจ้าของแอพแชตชื่อดัง (ที่ตอนนี้พ้นความเป็นสตาร์ทอัพสู่ความเป็นคอร์ปอเรทไปแล้ว) พัฒนาแอพลิเคชั่นการปล่อยกู้ผ่านช่องทางออนไลน์ ด้วยทุนจดทะเบียน5ล้านบาท โดยอาศัยช่องทางผู้ใช้งานไลน์ในประเทศไทยที่มีถึง 44 ล้านคน

ประเด็นน่าสนใจคือการจัดตั้งเป็นนิติบุคคลใหม่โดยเฉพาะไม่ได้อยู่ภายใต้ธนาคารกสิกรไทยตรงๆ จุดประสงค์น่าจะเป็นการหลีกเลี่ยงกฎเกณฑ์เรื่องการปล่อยกู้ของแบงก์ชาติ เท่ากับว่ากลุ่มเป้าหมายของการปล่อยสินเชื่อออนไลน์ครั้งนี้จะเน้นกลุ่มที่ไม่เคยเข้าถึงสินเชื่อธนาคารหรือUnbank มาก่อน

ขณะที่กฎเกณฑ์การปล่อยสินเชื่อบุคคลต่อบุคคลหรือ P2P Lendingเพิ่งจะถูกเปิดเผยออกมาโดยธนาคารแห่งประเทศไทยและกำลังจะเปิดให้มาเข้าโครงการทดลองหรือ Sandbox ก่อนจะให้ใบอนุญาตจริงกับฟินเทค (ต้องบอกว่ารอกันมานานจนมีคนขี้เกียจรอกันไปหลายเจ้า) 

การที่มีผู้เล่นรายใหญ่กระโดดเข้ามาเล่นในตลาดที่ใกล้เคียงกับP2P Lending อาจทำให้เทคโนโลยีดังกล่าวไม่สามารถแจ้งเกิดได้อย่างที่หลายฝ่ายคาดหวังว่าจะมาเติมเต็มตลาดผู้ที่เข้าไม่ถึงสินเชื่อธนาคารอีกนับสิบล้านราย และน่าจะทำให้ฟินเทคประสบความลำบากในการสร้างลูกค้าของตัวเองไม่มากก็น้อย 

จริงๆแล้วผู้เล่นรายใหญ่ก็ไม่ได้ผิดอะไรเพราะเป็นกฎเกณฑ์ของธุรกิจ ผู้ที่เป็น First Mover,Different และ The Best ย่อมที่จะเป็นผู้ชนะ แต่มุมหนึ่งก็น่าเสียดายที่ผู้เล่นหน้าใหม่แทบไม่มีโอกาสเข้ามาในตลาดเพื่อสร้างความแตกต่าง

ในต่างประเทศ มีคำกล่าวว่า The Empire Strike Back (ภาคที่สองของภาพยนต์สตาร์วอรส์) หมายถึงองค์กรธุรกิจขนาดใหญ่เริ่มที่จะตีกลับทางฝั่งสตาร์ทอัพที่เหมือนเป็นฝ่ายกบฎ (จากภาคแรกของสตาร์วอรส์ A New Hope) เข้าโจมตีผู้ที่ครองอำนาจเดิมจนเป๋ไปช่วงระยะเวลาหนึ่งแต่ในที่สุดด้วยกำลังพลที่มากกว่าพอจับทางฝ่ายกบฎได้ก็เริ่มเอาคืนบ้าง

ขณะที่สตาร์ทอัพที่เคยเป็นเพียงกลุ่มกบฎเล็กๆ บางรายสามารถเติบโตจนกลายเป็นคอร์ปอเรทได้ในที่สุดอย่าง Line,Grab,AirBNB พวกนี้ก็จะกลับมาไล่ล่าสตาร์ทอัพหน้าใหม่ในยุคนี้ต่อ

จากผู้ล่ากลับบกลายมาเป็นผู้ถูกล่า นี่คือโจทย์การแข่งขันที่หนักและลำบากของสตาร์ทอัพในยุคนี้จริงๆ ยุคที่รายใหญ่เริ่มมีสติและรู้ว่าจะต้องทำอย่างไรไม่ให้ตัวเองถูก Disrupt ไปมากกว่านี้ จนทำให้เกิดCorporate VC ขึ้นจำนวนมากในยุคนี้เพื่อที่จะดูดสตาร์ทอัพเข้ามาอยู่ในพอร์ตฟอร์ลิโอของตัวเองก่อนที่จะมารบกวนพวกเขา ประเด็นนี้จะขอยกไปคุยกันตอนต่อไปแทนครับ