เมืองคะขุโนะดาเตะ

เมืองคะขุโนะดาเตะ

เมืองคะขุโนะดาเตะอยู่ในจังหวัดอะกิตะ ห่างจากโตเกียวโดยรถไฟชิงคันเซนเป็นระยะเวลา 3 ชั่วโมงหรือเป็นระยะทาง 594 กิโลเมตร

กำลังเป็นเมืองท่องเที่ยวยอดนิยมด้วยบรรยากาศแห่งเมืองเกียวโตน้อย สาเหตุที่มามีดังต่อไปนี้

เมืองคะขุโนะดาเตะ

[บรรยาย: ถนนในตัวเมืองคะขุโนะดาเตะ มีต้นชิดาเระ ซากุระ ตามแบบฉบับเมืองเกียวโต]

เจ้าเมืองคะขุโนะดาเตะ (角館) มีนามสกุลว่า สะทาเกะ (佐竹) สืบเชื้อสายตระกูลนับรบที่มีนามสกุลว่า เงนยิ (源氏) แห่งเมืองฮิตาจิ (常陸 ทางเหนือของโตเกียวปัจจุบัน) สะทาเกะ โยชิชิเงะ (佐竹義重) หัวหน้าตระกูลรุ่นที่ 18 สามารถรวบรวมพื้นที่รอบ ๆ ฮิตาจิได้หมดกลายเป็นไดเมียว (大名 เจ้าแคว้น) ในสมัยสงครามกลางเมือง (戦国時代) สะทาเกะ โยชิโนบุ (佐竹義宣) รุ่นลูกช่วยเหลือโตโยโตมิ ฮิเดโยชิ (豊臣秀吉) ในการรวบรวมประเทศให้เป็นปึกแผ่นจนกระทั่งถึงการรบที่เซกิงะฮารา (関ケ原) ซึ่งเป็นการช่วงชิงอำนาจใต้ฟ้าทั้งหมดกับโทกุงาวา อิเอยาสุ (徳川家康) แต่พ่ายแพ้ สะทาเกะ โยชิโนบุ จึงถูกอิเอยาสุสั่งย้ายไปที่อิเดวะ (出羽 จังหวัดอากิตะปัจจุบัน) และลดศักดินาจากประมาณ 6 หมื่นเกวียน เหลือไม่ถึง 2 หมื่นเกวียน สาเหตุที่กระเด็นไปไกลขนาดนั้นเนื่องจากฮิตาจิอยู่ใกล้เอโดะเกินไป จึงอาจคุกคามต่ออิเอยาสุในขณะที่ขึ้นสู่อำนาจใหม่ๆ ได้

เมืองคะขุโนะดาเตะ

[บรรยาย: สะทาเกะ โยชิฮิสะ ผู้ว่าราชการจังหวัดอากิตะคนปัจจุบัน]

อาชินะ โยชิคัทสึ (蘆名義勝) น้องชายแท้ๆ ของ สะทาเกะ โยชิโนบุ ถูกย้ายไปอิเดวะ พร้อม ๆ กัน โดยได้ดูแลเมืองคะขุโนะดาเตะ มีศักดินาประมาณ 2 พันเกวียน ตระกูลอาชินะ ครองเมืองคะขุโนดาเตะเพียง 3 ชั่วอายุคนก็หมดผู้สืบสกุล สะทาเกะ โยชิจิขะ (佐竹義隣) หลานทางน้องสาวของโยชิโนบุได้รับช่วงครองเมืองต่อ ตระกูลนี้มีชื่อว่า สะทาเกะฮกเขะ (佐竹北家) โยชิจิขะมีบิดาเป็นทาคารุระ นากาโยชิ (高倉永慶) ขุนนางผู้ใกล้ชิดพระจักรพรรดิในเกียวโต (公家 หรือคุเงะ/ขุนนางระดับ 3 ขึ้นไป) โยชิจิขะจึงเติบโตขึ้นในเกียวโตและมารดาเป็นผู้นำวัฒนธรรมเมืองหลวงจากเกียวโตเข้ามาที่คะขุโนะดาเตะ ส่วนบุตรชายสะทาเกะ โยชิฮารุ (佐竹義明) ก็ได้บุตรสาวของขุนนางผู้ใกล้ชิดพระจักรพรรดิอีกคนหนึ่งเป็นภรรยา ซึ่งเป็นผู้ที่เติบโตขึ้นในเกียวโตโดยตรง จึงได้นำเอาวัฒนธรรมเกียวโตเข้ามาเพิ่มเติม ตั้งแต่ของใช้เล็กๆ น้อยๆ ประจำวัน พิธีการของหญิงรับใช้ แม้แต่ชิดาเระชากุระ (シダレ桜 หรือซากุระที่มีกิ่งห้อยยาวลงมา) ก็เป็นสิ่งที่มาจากเกียวโตโดยตรง ยิ่งไปกว่านั้น ชื่อสถานที่ คาโมะงาวา (鴨川) ฮานาบะยามา (花場山) โคคุระยามา (小倉山) ก็ล้วนแต่ตั้งชื่อตามเกียวโตทั้งสิ้น คะขุโนะดาเตะกลายเป็นเมืองที่มีกลิ่นอายเกียวโตอย่างเต็มที่ภายใน 3 ชั่วอายุคน

อาโอยางิ (青柳) เป็นตระกูลที่รับใช้ตระกูล อาชินะ มาตั้งแต่สมัยฮิตาจิ ตอนที่ย้ายมา คะขุโนะดาเตะ มีศักดินาเพียงประมาณ 7 เกวียนและมีฐานะเป็นนักรบระดับล่างเรื่อยมาจนถึงยุค โชกุนโทกุงาวา ลำดับที่ 9 อิเอชิเงะ (徳川家重) จึงเป็นที่โปรดปรานและได้รับฐานะหัวหน้าหน่วยอาวุธในสมัยของอาโอยางิ รุ่นที่ 7 อาโอยางิ ฮารุมาสะ (青柳映正) นอกจากนั้น ตระกูลอาโอยางิ ยังได้รับมอบหมายจากสะทาเกะ โยชิมาสะ (佐竹義和) เจ้าเมืองลำดับที่ 9 ให้เป็นผู้ดูแลชายแดนในเขตภูเขาที่ติดกับเมืองอิวาเตะ รวมทั้งการเก็บภาษีที่ชายแดน ตลอดจนถึงการจัดการกรณีพิพาทด้วย ในรุ่นที่ 8 ตระกูลอาโอยางิได้ทำการสำรวจแร่และพืชพันธุ์ในเขตภูเขาของอากิตะ ในที่สุดได้ทำแผนที่ทางธรณีวิทยานำเสนอต่อสะทาเกะ โยชิฮิโร (佐竹義厚) เจ้าเมืองลำดับที่ 10 และเป็นผู้ริเริ่มเป็นคนแรกในญี่ปุ่นในการนำเส้นรุ้งเส้นแวงมาใช้ในแผนที่ด้วย

ยุคปลายโทกุงาวา เป็นช่วงเวลาที่การเมืองวุ่นวาย อาโอยางิ มาซาโนบุ (青柳正信) เป็นรุ่นที่ 11 ที่มีชีวิตผ่านพ้นสมัยนั้น ในขณะนั้นนักรบต่าง ๆ ล้วนแต่ต่อต้านการเข้ามาของต่างชาติ มาซาโนบุเป็นผู้ที่นำกำลังไปรักษาการณ์ที่เกาะฮอกไกโดเป็นเวลาถึง 9 ปี เนื่องจากญี่ปุ่นเพิ่งจะไปบุกเบิกได้ไม่นาน

ในปี 1868 คณะปฏิวัติที่ยึดอำนาจจากโทกุงาวา เปิดฉากการปราบปรามฝ่ายตรงข้าม ตระกูลสะทาเกะ ไม่ได้อยู่ในฝ่ายตรงข้ามรัฐบาล จึงถูกโจมตีจากตระกูลอื่นๆ 25 ตระกูลในแถบโออุ (จังหวัดอากิตะ ยามางาตะ และ ฟุกุชิมา ปัจจุบัน) แต่เมื่อเสร็จสงครามแล้วรัฐบาลใหม่เมจิ ที่มาจากคณะปฏิวัติก็ไม่ได้ชื่นชมอะไรกับความสนับสนุนนี้ ตระกูลต่าง ๆ ในอากิตะจึงไม่พอใจและคิดล้มล้างรัฐบาล แต่ก็ถูกปราบและนักรบ 13 คนถูกประหารชีวิต แม้ว่าอาโอยางิ มาซาโนบุจะไม่พอใจ แต่ก็หันเหไปทำกิจการเงินทุนจากทรัพย์สินที่ได้สะสมมาจนเมืองคะขุโนะดาเตะเจริญรุ่งเรืองขึ้นมา จนถึงสุดท้ายแห่งชีวิต มาซาโนบุก็ยังหยิ่งในความเป็นนักรบ เขาเสียชีวิตในปี 1896 หรือปีเมจิที่ 29

เมืองคะขุโนะดาเตะ

[บรรยาย: บ้านอาโอยางิ]

ในปัจจุบันนี้ บ้านของตระกูลอาโอยาวิที่ยังคงอยู่และมีการแสดงดาบ เกราะ และหนังสือโบราณ ตลอดจนปืน กล้องถ่ายรูป เครื่องบันทึกเสียง เครื่องเล่นแผ่นเสียง และ หนังสือ/หนังสือพิมพ์ในสมัยนั้น สิ่งของที่แสดงมีตั้งแต่ยุคเอโดะ เมจิ ไทโช และโชวะ ที่บ่งบอกถึงวัฒนธรรมแห่งคาขุโนะดาเตะ

ส่วนตระกูลสะทาเกะนั้น หัวหน้าตระกูลตั้งแต่ลำดับที่ 30 เป็นต้นมาได้เป็นขุนนางในสภาสูงของญี่ปุ่นเรื่อยมาจนถึงสงครามโลก สะทาเกะ โยชิโตชิ (佐竹義利) เป็นอดีตประธานของ Toyo Engineering Works, Ltd. (東洋製作所) และ สะทาเกะ โนริฮิสะ (佐竹敬久) เป็นผู้ว่าราชการจังหวัดอะกิตะคนปัจจุบัน