ต่างเขตต่างเบอร์ ดับฝัน “เสาไฟฟ้า”

ต่างเขตต่างเบอร์  ดับฝัน “เสาไฟฟ้า”

บัตรเลือกตั้งหน้าตายังไง? แบบไหน? จบแล้ว แต่สองพรรคการเมืองใหญ่อย่างเพื่อไทย และประชาธิปัตย์ กลับเรียกร้องแก้กฎหมายให้พรรคเดียวใช้เบอร์เดียว

เนื่องจากการเลือกตั้ง 2562 กฎหมายเลือกตั้งระบุให้ใช้ “ต่างเขต ต่างเบอร์” ซึ่งถูกวิจารณ์ว่าเป็นการเลือกตั้งย้อนยุค

ประวัติศาสตร์การเมืองไทยว่าด้วย กติกาเลือกตั้ง” 27 ครั้งที่ผ่านมา พบว่ามีการทดลองหลากหลายวิธี

นับแต่เลือกตั้ง 2491 เป็นต้นมา ใช้แบบ “รวมเขตเรียงเบอร์” โดยถือเอาจังหวัดหนึ่งเป็นเขตการเลือกตั้งหนึ่ง จนถึงเลือกตั้ง 2518 เปลี่ยนเป็น “แบ่งเขตเรียงเบอร์”

เลือกตั้ง 2544 ใช้วิธีการเลือกตั้งแบบผสม มีทั้งแบ่งเขต และบัญชีรายชื่อ แต่ใช้ “พรรคเดียว เบอร์เดียว” ทั้งประเทศ

เลือกตั้ง 2562 เป็นการเลือกตั้งแบบจัดสรรปันส่วนผสม และใช้ “ต่างเขต ต่างเบอร์” คล้ายสมัยเลือกตั้งแบบแบ่งเขตเรียงเบอร์

มีชัย ฤชุพันธุ์ อดีตประธาน กรธ. บอกว่า การจะเอาความสะดวกสบายโดยให้ทุกพรรคมีเบอร์เดียวกันทั้งประเทศ จะทำให้ขาดตกบกพร่องในเรื่องการพิจารณาตัวบุคคล เราจึงกำหนดให้แต่ละเขตมีเบอร์ของตัวเอง

การเลือกตั้ง 2548 และ 2554 “ทักษิณ ชินวัตร” ผู้ชำนาญการตลาดการเมือง ได้เปิดยุทธการแอร์วอร์ ปูพรมหาเสียงผ่านทุกสื่อ จนเกิด “โรคอุปาทานหมู่ทางการเมือง” เลือกโดยไม่มองหน้าว่าเป็นใคร?

พรรคไทยรักไทย เคยใช้กลยุทธ์ปากต่อปากในหมู่คนอีสานและคนเหนือ ที่ทำงานอยู่ในกรุงเทพฯ เปิดปฏิบัติการ “ห่อเบอร์ 9 กลับบ้าน” (เลือกตั้ง 2548 พรรค ทรท.จับสลากได้เบอร์ 9)

ภาคใต้เคยมี เสาไฟฟ้ายุคชวนฟีเวอร์ ภาคอีสาน-ภาคเหนือ ก็มี เสาไฟฟ้าในยุคประชานิยมทักษิณ

เลือกตั้ง 2554 นักยุทธศาสตร์พรรคเพื่อไทย ก็สร้างวาทกรรม “นายกฯหญิงคนแรก” จนประสบผลสำเร็จภายใน 40 กว่าวัน

ความสำเร็จของเครือข่ายทักษิณ จึงทำให้อดีต ส.ส.เพื่อไทย ประกาศลั่นในภาคอีสาน “เอาเสาไฟฟ้าลงสมัคร ส.ส.ก็ชนะ”

เที่ยวนี้ เจอกลเม็ด ต่างเขต ต่างเบอร์หรือ พรรคเดียว ร้อยแปดเบอร์คนเพื่อไทยร้องจ๊าก..โดยเฉพาะพวกเสาไฟฟ้า