เจาะลึก “เสื้อกั๊กเหลือง” ที่ฝรั่งเศส

เจาะลึก “เสื้อกั๊กเหลือง” ที่ฝรั่งเศส

ดูจะเปรียบเทียบกันได้หลายประเด็นกับเรื่องการใช้สีเสื้อของ กปปส. ในบ้านเรากับ “เสื้อกั๊กเหลือง” ที่ฝรั่งเศสใน 3-4 สัปดาห์ที่ผ่านมา

อย่างเช่น การใช้สีเป็นสัญลักษณ์กลุ่มก้อน เป็นการมาร่วมกันเดินจับกลุ่มบนท้องถนนแสดงความโกรธความเจ็บปวดความไม่พอใจของประชาชน ทั้งในเมืองหลวงและต่างจังหวัดต่อการกระทำของรัฐบาลที่เลือกตั้งกันขึ้นมา มีความรุนแรงเกิดขึ้นทั้งจากฝ่ายผู้จลาจลและกำลังเจ้าหน้าที่รัฐ การไม่นิยามตัวเข้ากับพรรคการเมืองใดในกรณีสีเหลือง ทั้งของไทยของฝรั่งเศส เป็นต้น

ความเคลื่อนไหวเสื้อกั๊กเหลืองนับเป็นการประท้วงจลาจลร่วมสมัยครั้งใหญ่ที่สุดในฝรั่งเศส จากเมื่อครั้ง ค.ศ.1968 โดยอีก 2 ปีก็จะครบรอบ 50 ปีพอดีแห่งการประท้วงจลาจลที่ส่งผลสะเทือนความเปลี่ยนแปลงสังคมเศรษฐกิจการเมืองอย่างลึกซึ้ง นับจากการปฏิวัติฝรั่งเศสเมื่อสองร้อยกว่าปีที่แล้ว ค.ศ.1789 โดยล้มล้างระบอบกษัตริย์มาเป็นสาธารณรัฐ

อย่างไรก็ดี ที่ดูคล้ายจะเปรียบเทียบกันได้หลายจุด ขบวนการเสื้อสีในฝรั่งเศสและในบ้านเรา จะยิ่งแยกทางห่างกันออกไปถ้าวิเคราะห์ลึกมากขึ้นเรื่อยๆ จนไม่ควรนำมาเปรียบเทียบกันเลย เพราะมันเหมือนกับเอามะละกอไปเทียบกับแครอท เพียงเพราะว่าใช้ทำส้มตำแทนกันได้ มีแต่จะพาเข้ารกเข้าพง อย่างเช่นที่ได้ยินได้อ่านสื่อหลายแห่งโดยเฉพาะทางวิทยุสถานีย่อยๆ ในบ้านเราที่วิเคราะห์ปาวๆ ว่า ประชาชนฝรั่งเศสที่ประกาศหลักความเสมอภาค เสรีภาพ อุดมการณ์ประชาธิปไตยจากการปฏิวัติ ค.ศ. 1789 กำลังไม่อยากเอาระบอบสาธารณรัฐ ไม่เอาทั้งประชาธิปไตยเลือกตั้งแบบตัวแทน ไม่เอาทั้งประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วม แสดงออกด้วยการเดินถนน ก่อความรุนแรง นี่อย่างไรล่ะ บ้างก็เปรียบเทียบว่า เหมือนความรุนแรงเกิดขึ้นในการชุมนุมของเสื้อสีต่างๆ ในบ้านเรา บ้าง “ประชด” ด้วยว่า “เสื้อกั๊กเหลืง” เลียนแบบจลาจลในบ้านเรา บ้างโยงไปว่าฝรั่งเศสไม่เอาประธานาธิบดีจากการเลือกตั้งเมื่อ 18 เดือนที่แล้ว นายเอมมานูเอล มาครง เรียกร้องให้ลาออก แล้วขอนายพลอะไรสักคนที่ลาออกประท้วงรัฐบาลนายมาครงที่หั่นงบประมาณทหารให้ขึ้นมาบริหารประเทศแทน บ้างก็รายงานว่า คนฝรั่งเศสเรียกร้องจะเป็นสมาพันธรัฐ อะไรอย่างนี้เป็นต้น 

จริงอยู่ที่มีการเรียกร้องโน่นนี่ แต่ต้องฟังให้ดีมาจากตรงไหนในบริบทอะไร มีคนเอาด้วยหรือไม่เท่าไร ในความเป็นจริง “เสื้อกั๊กเหลือง” เป็นใครกันบ้าง เริ่มแรกก่อตัวมาจากเหตุอะไร พฤติกรรมเป็นอย่างไร ต้องแยกแยะได้ ไม่ใช่หยิบเอารายงานข่าวข้อเรียกร้องที่ดังผสมผสานกันจากหลายๆ กระแสกลุ่มคนที่มาร่วมรวมมิตรบนถนน(รวมทั้งพวกสนับสนุนอยู่ที่บ้าน)มา “ตีความ” ให้เข้าทางของตนในการเสนอข่าวสาร อาจต้องระวังการใช้โวหาร “ประชดแดกดัน” ซึ่งคนฝรั่งเศสเก่งเอาการอยู่ (คล้ายคนไทย!) รวมทั้งเป็นประชาชาติที่มีจิตสำนึกมีขนบเดินประท้วงในถนนตั้งแต่เมื่อได้สร้างประวัติศาสตร์ให้กับโลกจากการปฏิวัติฝรั่งเศส ค.ศ. 1789 และการประท้วงเหตุการณ์ ค.ศ.1968 จนกลายเป็น “จินตนาการ” ประจำชาติ ทั้งๆ ที่ตั้งแต่หลังทศวรรษ 1880 เป็นต้นมา 

การเดินขบวนประท้วงในถนน รวมทั้งการนัดหยุดงานจัดตั้งด้วยฝีมือสหภาพแรงงานอันเคยมีพลังยิ่งใหญ่ได้ค่อยๆ หมดน้ำยาลงจนใช้การอะไรไม่ได้แล้ว เมื่อเริ่มขึ้น ค.ศ.2000 ด้วยกระแสโลกานุวัตรและโซเชียลมีเดียอันเป็นพลังใหม่เข้ามาแทนในขบวนการที่เรียกว่า “ขบวนการทางสังคม” อย่างเช่น “เสื้อกั๊กเหลือง” นี่อย่างไร

เรื่องของ “จินตนาการ” ทางเศรษฐกิจการเมืองในความรู้สึกนึกคิดของประชาชนประชาชาติเป็นเรื่องละเอียดอ่อน สร้างได้ชักนำได้ พาคนให้เชื่อและทำอะไรต่ออะไรได้มากมาย การฟังไม่ได้ศัพท์จับเอาไปกระเดียดเข้าทางของใครง่ายๆ ว่าคนฝรั่งเศสอยากได้ทหารมาปกครองบริหารบ้านเมือง ไม่เอาประชาธิปไตย หรือว่าเห็นไหมความรุนแรงเป็นวิธีที่แม้แต่ประเทศเจ้าตำรับสิทธิพลเมืองสิทธิเสมอภาคประชาธิปไตยยังต้อง(หันมา)ใช้เลย การสรุปเสนอข่าวสารเช่นนี้อันตราย เข้ารกเข้าพงไปกันใหญ่

 แม้แต่จะเอาเหตุการณ์จลาจลร่วมสมัย เมื่อปี 1968 มาเปรียบกับเหตุการณ์จลาจลที่เพิ่งเกิดขึ้นของกลุ่มเสื้อกั๊กเหลือง ก็ยังถือว่าเป็นการเปรียบเทียบที่ไม่ดี ไม่น่าเอามาเปรียบกันเลย นี่เป็นการวิเคราะห์ของ ดาเนียล ตาร์ตาโคว์สกี้ (Danielle Tartakowsky) วัย 71 ปี ผู้เชี่ยวชาญโดยตรงเฉพาะทาง ด้านขบวนการทางสังคมโดยเฉพาะการเดินขบวนการจลาจลร่วมสมัยในฝรั่งเศส ศตวรรษที่ 20 “เสื้อกั๊กเหลือง ทำให้เธอถูกสัมภาษณ์เช้าเย็น ดังทั่วโลกชั่วข้ามคืน หนังสือของเธอคงจะมีแปลให้อ่านในภาษาอังกฤษเร็วๆ นี้

  จะเป็นการจลาจลลุกฮือของประชาชนหรือไม่ เธอว่าไม่ใช่ดูตรงที่มีความรุนแรงเกิดขึ้น แต่อยู่ที่เหตุการณ์นั้นๆ มีเงื่อนไขความเร่งด่วน (urgence) ที่รอไม่ได้ มันต้องเกิดเดี๋ยวนั้นตรงนั้น โดยไม่มียุทธศาสตร์ ยุทธวิธีอะไรเฉพาะหน้าขณะนั้น กลุ่มเสื้อกั๊กเหลืองที่ต้องออกมาเดินถนนก็คือบอกว่า "อยู่ไม่ได้ ทนไม่ไหวแล้ว ไม่มีใครฟังเราแล้ว เราต้องการวิถีที่เห็นเป็นรูปธรรม : << On n'en peut plus, on ne nous ecout plus, on veut des mesures concretes >>.

เธอย้ำว่า เสื้อเหลืองไม่ใช่ตัวการผู้กระทำให้เกิดวิกฤติ พวกเขาเป็น อาการ (symptome) ของวิกฤติ ไม่ว่าทางออกความเคลื่อนไหวจลาจลครั้งนี้จะคืออะไรก็ตาม จะส่งผลทางการเมืองที่ยั่งยืน

ในคำปราศรัยแห่งชาติกับประชาชนทางโทรทัศน์วันจันทร์ที่ 10 ธ.ค. การที่นายมาครง ถึงกับยอม กลับหลังหันในการขึ้นราคาน้ำมันและภาษีที่เป็นเหตุเฉพาะหน้า นำมาซึ่งความโกรธความเดือดร้อนของประชาชาติ แถมยังประกาศแจกจากรัฐบาลมีโบนัสสิ้นปีไร้ภาษีหากนายจ้างไหนให้ได้ เป็นการยืนยันว่า ผลทางการเมืองของวิกฤติที่ส่งสารด้วยวิถีเห็นประจักษ์อย่างเป็นรูปธรรมบนท้องถนนเมื่อ 2-3 เสาร์ก่อนหน้านั้น วิกฤติที่กลุ่มเสื้อกั๊กเหลืองเป็นเพียง อาการนี้จะ ยั่งยืนในสังคมฝรั่งเศสแน่นอน (ตอนต่อไป :  วิกฤติอะไรนำมาสู่ “เสื้อกั๊กเหลือง”)