ผันแปรไม่แน่นอน (2)

ผันแปรไม่แน่นอน (2)

การปรับตัวในโลกธุรกิจวันนี้ไม่ใช่เรื่องง่าย

หนึ่งในหนังสือบริหารธุรกิจที่ติดอันดับขายดีในอดีต มักมีเรื่องราวของบริษัทจีอีมากมายหลายเล่ม โดยเฉพาะอดีตซีอีโอ แจ็ค เวลช์ที่มีความโดดเด่นด้านวิสัยทัศน์และภาวะผู้นำ เพราะความเป็นองค์กรธุรกิจเก่าแก่ที่ก่อตั้งมานานกว่า 120 ปี ผ่านร้อนผ่านหนาว ผ่านวิกฤติการณ์ทางเศรษฐกิจมานับครั้งไม่ถ้วน

บทเรียนจากการปรับตัวของจีอีจึงเป็นที่สนใจของนักธุรกิจทั่วโลก โดยเฉพาะเรื่องการปรับเปลี่ยนองค์กรอยู่ตลอดเวลา เพราะการที่จีอียังคงทำธุรกิจได้อย่างมั่นคงจนถึงวันนี้ก็น่าจะเป็นข้อพิสูจน์สำคัญที่ดูหนักแน่นน่าเชื่อถือมากที่สุดแล้ว

แต่ใครเลยจะคาดคิดว่าองค์กรยักษ์ใหญ่ที่เป็นตัวอย่างของนักธุรกิจทั่วโลกกำลังเจอกับมรสุมลูกใหญ่ในทุกวันนี้ ด้วยราคาหุ้นที่ปรับตัวลดลงต่อเนื่องตลอดทั้งปี เพราะการขยายธุรกิจอย่างต่อเนื่องกำลังสร้างปัญหาจนจีอีอาจจะกลับมาฟื้นตัวได้ยากมาก

จากธุรกิจดั้งเดิมคือพลังงานไฟฟ้าและพลังงานทดแทน ต่อเนื่องมาถึงธุรกิจเกี่ยวข้องกับการบินที่เป็นฐานที่มั่นสำคัญให้จีอีมาตลอด กำลังสั่นคลอนเพราะธุรกิจประกันและสถาบันการเงินที่มีความผันผวนสูงจนจีอีต้องหาทางลดการลงทุนหรือขายหน่วยธุรกิจเหล่านี้ออกไป

จีอีที่เคยเป็นสัญลักษณ์ถึงธุรกิจที่มั่นคงมั่งคั่งจึงอาจต้องพบกับภาวะล่มสลายลงได้อย่างไม่คาดคิด เพราะการปรับตัวในโลกธุรกิจวันนี้ไม่ใช่เรื่องง่ายเลย เพราะความสำเร็จจากการปรับตัวในครั้งก่อนไม่ได้เป็นหลักประกันใดๆ ว่าจะสร้างความสำเร็จต่อเนื่องได้ในอนาคต

หันมามองในบ้านเราก็จะพบกับการปรับเปลี่ยนองค์กรเพื่อเอาตัวรอดจากสถานการณ์ในช่วงต่างๆ มากมาย ที่ประสบความสำเร็จจนอยู่รอดได้มาถึงทุกวันนี้ก็มีไม่น้อย เช่น บริษัทหนึ่งที่เคยอาศัยรายได้จากสัมปทานบัตรโทรศัพท์ทางไกลระหว่างประเทศในยุคที่โทรศัพท์มือถือยังไม่เกิด นักท่องเที่ยวต่างชาติจำเป็นต้องใช้บัตรนี้เป็นหลักในการติดต่อกับประเทศปลายทางของตัวเอง

จนวันหนึ่งเมื่อธุรกิจเริ่มชะลอตัวบริษัทนี้ก็เปลี่ยนสัมปทานไปทำด้านวิทยุติดตามตัวหรือที่เราเรียกว่าเพจเจอร์จนปรับตัวได้สำเร็จอีกครั้ง เพราะในยุคนั้นใครๆ ก็ต้องใช้เพจเจอร์เป็นสื่อในการติดต่อสื่อสารแต่ก็นิยมอยู่ได้ไม่นานก็มีโทรศัพท์มือถือมาแทนที่

การมาถึงของโทรศัพท์มือถือ ทำให้ความจำเป็นต้องใช้เพจเจอร์ลดลงอย่างมหาศาล จากจำนวนพนักงานให้บริการนับพันคนก็หดตัวลงเหลือ 300-500 คนเท่านั้น ในขณะที่ธุรกิจก็หดตัวลงทุกวัน เพราะแทบจะไม่มีใครใช้และโทรศัพท์มือถือก็เข้ามาแย่งส่วนแบ่งทางการตลาดแทนที่เพจเจอร์ไปในที่สุด

ทางเลือกของบริษัทนี้จึงเหลือแค่การเลิกจ้างพนักงานซึ่งน่าจะเป็นทางออกที่ง่ายที่สุด กับการคิดหาเป้าหมายใหม่ ซึ่งบริษัทนี้เลือกที่จะปรับตัวอีกครั้ง โดยปรับบทบาทของพนักงานที่ทำหน้าที่รับส่งข้อความในเพจเจอร์กลายมาเป็นคอลเซ็นเตอร์ซึ่งถือเป็นเรื่องใหม่สำหรับธุรกิจไทยในอดีต ทำให้บริษัทนี้ปรับตัวอยู่รอดได้อีกเป็นครั้งที่ 3 สะท้อนให้เห็นบทบาทของการปรับตัวในโลกธุรกิจที่หาความแน่นอนไม่ได้เลย

เช่นเดียวกับอีกบริษัทหนึ่งที่เล็งเห็นช่วงเวลาที่ไม่มีใครต้องการในสถานีโทรทัศน์ ซึ่งมักจะเป็นช่วงสายๆ หลังคนทั่วไปออกเดินทางไปทำงานกันหมดแล้ว กับช่วงเวลากลางคืนที่คนมักจะนอนกันหมดแล้ว แต่บริษัทนี้เล็งเห็นว่าน่าจะใช้เวลาดังกล่าวทำรายการชอปปิงเพื่อขายสินค้าได้

ข้อเสนอดังกล่าวโดนใจสถานีโทรทัศน์ไม่น้อยเพราะช่วงเวลาดังกล่าวขายโฆษณาได้ยาก ในขณะที่กลุ่มลูกค้าเป้าหมายของรายการขายสินค้าก็มักจะดูรายการในช่วงนั้นพอดี ทำให้เป็นทางออกของทุกฝ่ายเพราะการเติบโตของสินค้าที่ผ่านทางรายการโทรทัศน์กำลังเติบโตพอดี

แม้เราจะบอกไม่ได้ว่าการปรับตัวแต่ละครั้งจะประสบความสำเร็จหรือไม่ แต่เมื่อเทียบกับการไม่ยอมรับการเปลี่ยนแปลงใดๆ และไม่กล้าเปลี่ยนแปลงอะไรเลย ก็น่าจะพบกับความล้มเหลวแน่นอนก็ถือว่าเป็นความเสี่ยงคุ้มค่ากว่ามาก