โอกาสของเมือง คือ โอกาสของประชาชน

โอกาสของเมือง คือ โอกาสของประชาชน

เมืองแต่ละเมืองล้วนมีเสน่ห์ที่แตกต่างกันในแบบของตัวเอง

ประเทศญี่ปุ่นเป็นประเทศหนึ่งที่เรามองเห็น สีสันของเมืองที่มีความหลากหลายแตกต่างกันไปแต่ละท้องถิ่น   ไหนจะสินค้า ผลิตภัณฑ์ วัฒนธรรม อัตลักษณ์ที่โดดเด่นแตกต่างกันไป  เราจึงไม่แปลกใจที่เห็นนักท่องเที่ยวจำนวนมากกลับไปประเทศญี่ปุ่นซ้ำๆ 

ทุกวันนี้การท่องเที่ยวนับเป็นสาขาสำคัญหนึ่งของประเทศญี่ปุ่น  ที่น่าสนใจคือ การท่องเที่ยวมีบทบาทสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจและพัฒนาสังคมในระดับชุมชนท้องถิ่นอีกด้วย  ซึ่งในระยะหลังมานี้ญี่ปุ่นให้ความสำคัญกับเรื่องการท่องเที่ยวมากจนกระทั่งตั้งเป้าหมายให้ประเทศญี่ปุ่นเป็น “ชาติแห่งการท่องเที่ยว (Tourism Nation)”  ซึ่งมีการดำเนินการที่น่าสนใจหลายเรื่องด้วยกันเพื่อขับเคลื่อนให้ไปสู่เป้าหมายนั้น

โอกาสของเมือง คือ โอกาสของประชาชน

ภาพจาก: องค์การส่งเสริมการท่องที่ยวแห่งประเทศญี่ปุ่น 

ญี่ปุ่นดำเนินการอย่างเข้มข้นเพื่อผลักดันให้ญี่ปุ่นก้าวเข้าสู่ยุคแห่งการท่องเที่ยว   โดยองค์กรการท่องเที่ยวแห่งชาติญี่ปุ่นจัดแคมเปญส่งเสริมการมาเดินทางมาประเทศญี่ปุ่น  รวมทั้งประชาสัมพันธ์เผยแพร่พื้นที่ที่น่าสนใจเป็นที่ดึงดูดใจให้กับนักท่องเที่ยว  เช่น “เส้นทางสีทอง (Golden Route)” ซึ่งประกอบด้วยเมืองโตเกียว  เกียวโต โอซากา และเมืองอื่นๆ    นอกจากนี้กระทรวงที่เกี่ยวข้องได้ปลดล็อคกฎระเบียบเกี่ยวกับวีซ่า เพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวจากในบางประเทศให้เดินทางมาญี่ปุ่นสะดวกขึ้น

นอกจากนี้ญี่ปุ่นได้ให้ความสำคัญกับ การพัฒนาพื้นที่อย่างยั่งยืน  โดยเน้นการสร้างแหล่งท่องเที่ยวให้งดงามพร้อมๆไปกับการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติสิ่งแวดล้อมและพัฒนาภูมิทัศน์ ตัวอย่างเช่น  เร่งให้ชุมชนต่างๆมีการพัฒนาและใช้ประโยชน์จากกฎหมายภูมิทัศน์ (Landscape Act) เพื่อปรับปรุงเมืองให้สวยงาม เป็นที่ประทับใจกับนักท่องเที่ยวและผู้มาเยือน  อาทิ กรณีภูมิทัศน์เมืองเกียวโต ตั้งใจอนุรักษ์ทิวทัศน์ที่งดงาม โดยรับฟังความคิดเห็นจากชาวเมืองในท้องถิ่นด้วย

ญี่ปุ่นยังเน้นการพัฒนาชุมชนโดยใช้ประโยชน์จากธรรมชาติและประวัติศาสตร์ เช่น การพัฒนาสวนสาธารณะแห่งชาติของรัฐเพื่ออนุรักษ์ทรัพยากร และใช้ประโยชน์จากพื้นที่ วัฒนธรรมพื้นเมือง  พัฒนาชุมชนโดยใช้ประโยชน์จากฐานเรื่องประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมที่มี เช่น ประวัติศาสตร์ท้องถิ่น  วัฒนธรรมดั้งเดิมโดยญี่ปุ่นได้มีการเปิดสวนสาธารณะแห่งชาติ จำนวน 17 แห่ง และปรับปรุงพัฒนาพื้นที่ เช่น การอนุรักษ์ภูมิทัศน์ที่มีคุณค่าทางประวัติศาสตร์ เมืองหลวงเก่าของญี่ปุ่นอย่างเกียวโต  นารา  คามาคุระ 

ทำไมคนเคยไปญี่ปุ่นแล้ว ถึงยังไปญี่ปุ่นอีก?? 

ก็เพราะญี่ปุ่นขยันสร้างสีสันของเมืองต่างๆ   สร้างพื้นที่การท่องเที่ยวที่หลากหลาย    พัฒนาพื้นที่ท่องเที่ยวให้ดึงดูดใจคน  ดึงศักยภาพของแต่ละชุมชนท้องถิ่นขึ้นมาเกิดเป็นความโดดเด่นที่น่าสนใจ ในหลากหลายฤดูกาล  เช่น ใครที่หลงรักดอกไม้ก็มีเส้นทางเที่ยวชมดอกไม้ของญี่ปุ่นเขตคันไซให้ไปเที่ยวชมโดยเฉพาะ   ใครรักศิลปะก็มีแหล่งท่องเที่ยวโซนศิลปะให้ไปได้อย่างจุใจ   หรือแม้แต่บางพื้นที่อย่าง ฮอกไกโดที่อาจจะไม่ได้มีธรรมชาติหรือประวัติศาสตร์ยาวนาน แต่ก็ได้มีรังสรรค์สร้างกิจกรรมและพัฒนาพื้นที่ขึ้นมาได้อย่างน่าสนใจ เช่น  การขี่จักรยานในเมืองบิเอะ เที่ยวชมทุ่งดอกลาเวนเดอร์ที่ได้ปลูกขึ้นอย่างตระการตาในฤดูร้อน แถมด้วยสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์จากลาเวนเดอร์ต่างๆ ขึ้นมามากมายหลายชนิดให้นักท่องเที่ยวเลือกซื้อ   หรือเส้นทางเดินเล่นริมแม่น้ำที่อะราชิยามา กรุงเกียวโต ที่สวยงามเหมือนสรวงสวรรค์ในฤดูใบไม้เปลี่ยนสี

นอกจากชูจุดเด่นของเมืองแล้ว   ในขณะเดียวกันญี่ปุ่นก็เร่งพัฒนาสภาพแวดล้อมรองรับความต้องการนักท่องเที่ยวอีกด้วย  ทำให้นักท่องเที่ยวสามารถเดินทางได้อย่างสะดวก สบาย  เน้นการสร้างความประทับใจให้กับผู้มาเยือน และอยากกลับมาญี่ปุ่นซ้ำอีก  ตัวอย่างการจัดสภาพแวดล้อมที่ดีเพื่อรองรับความต้องการของนักท่องเที่ยว เช่น จัดสิ่งอำนวยความสะดวกในโรงแรม อาทิ การติดตั้งระบบ wi-fi  การเปลี่ยนห้องน้ำเป็นสไตล์ตะวันตกให้บริการและให้ข้อมูลข่าวสารการท่องเที่ยว ปรับปรุงข้อมูลสัญลักษณ์ทางถนนให้เป็นภาษาอังกฤษ  พัฒนาระบบคู่มือล่ามสำหรับไกด์ในท้องถิ่น  สอดคล้องกับความต้องการในท้องถิ่นที่ต้องการคู่มือ  เช่น พัฒนาคู่มือขึ้นเพื่อใช้สำหรับเมืองเกียวโต เมืองทาคายามา และเมืองอื่นๆ

แน่นอนว่า ในแง่ของผลิตภัณฑ์ชุมชนต่างๆ ของญี่ปุ่นก็มีชื่อเสียงและโดดเด่นในระดับโลก เพราะผลิตภัณฑ์แต่ละชุมชนมีเอกลักษณ์ที่น่าสนใจ ทำให้คนอดที่จะซื้อติดมือกลับไปไม่ได้ นอกจากนี้ ญี่ปุ่นอยากให้นักท่องเที่ยวที่มาเที่ยวจับจ่ายใช้สอยเพิ่มขึ้นด้วย จึงเพิ่มความสะดวกสบายให้นักท่องเที่ยวต่างชาติ กระตุ้นให้เกิดการบริโภคมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการขยายระบบการซื้อสินค้าปลอดภาษีสำหรับนักท่องเที่ยวต่างชาติโดยขยายรายการสินค้าปลอดภาษีให้มีจำนวนมากขึ้น  ขยายร้านค้าในเครือสนามบินและเป็นสินค้าปลอดภาษี 2 แห่งคือที่กินซ่าและโตเกียว รวมทั้งมีบริการให้นักท่องเที่ยวที่ซื้อสินค้าจากร้านสาขาเหล่านี้สามารถรับสินค้าได้ที่สนามบินฮาเนดะและสนามบินนาริตะ

สรุปแล้วญี่ปุ่นได้ใช้การท่องเที่ยวเป็นกลไกสำคัญหนึ่งในการพัฒนาเศรษฐกิจของเมืองต่างๆ  ทั่วประเทศ โดยมีกลยุทธ์การดำเนินการตั้งแต่ระดับชุมชน เมือง ภูมิภาค จนถึงระดับประเทศ โดยรู้จักใช้อัตลักษณ์และเสน่ห์ของเมืองที่แตกต่างกันเพื่อสร้างเป้าหมายการท่องเที่ยวและผลิตภัณฑ์ที่โดดเด่นและแตกต่าง ทำให้ดึงดูดให้นักท่องเที่ยวคุณภาพสูงหลั่งไหลไปท่องเที่ยวตามเมืองต่างๆ มากมาย

สำหรับประเทศไทยเราเอง แต่ละภูมิภาค แต่ละท้องถิ่นมีอัตลักษณ์ วัฒนธรรมพื้นถิ่นที่มีเสน่ห์น่าสนใจอยู่มาก  ทั้งความหลากหลายทางชีวภาพ (Biodiversity) และความหลากหลายทางวัฒนธรรม (Cultural diversity) บนความหลากหลายเหล่านี้นับเป็นโอกาสมหาศาลของเราในการพัฒนาเมืองหลัก เมืองรอง และเมืองใหม่ ซึ่งเป็นการพัฒนาเศรษฐกิจฐานราก (Local Economy) ที่จะช่วยการกระจายความเจริญและลดความเหลื่อมล้ำให้กับประเทศได้อย่างยั่งยืน

โดย...

ประกาย ธีระวัฒนากุล

สถาบันอนาคตไทยศึกษา

Facebook.com/thailandfuturefoundation