โลกวุ่นวาย .. ใจไม่ว้าวุ่น !!

 โลกวุ่นวาย .. ใจไม่ว้าวุ่น !!

เจริญพรสาธุชนผู้มีจิตศรัทธาในพระพุทธศาสนา เมื่อ ๑๑ ธันวาคมที่ผ่านมา ทางองค์การบริหารส่วนจังหวัดลำพูน

ได้จัดงานวันพระแม่นั่งเมืองขึ้นที่ลานอนุสาวรีย์พระนางจามเทวี โดยนิมนต์อาตมาไปทำหน้าที่องค์ธรรมเทศนา เพื่อนำประชาชนร่วมกันเจริญภาวนา ประกอบอธิการกุศล ถวายเป็นพระราชกุศลแด่พระนางเจ้าจามเทวี ปฐมกษัตรีย์อาณาจักรหริภุญไชย และบุรพชนของแผ่นดินไทยสืบเนื่องมาถึงปัจจุบัน มีคณะศรัทธาชาวลำพูนและใกล้เคียงมาร่วมกันมากพอสมควรสมเจตนาการจัดงาน โดยงานดังกล่าวจะดำเนินต่อไปจนถึง ๑๕ ธันวาคมนี้ ซึ่งจะมีรายการแสงสีเสียงในเชิงละครประวัติศาสตร์อันน่าสนใจ

เรื่องความศรัทธาที่นำไปสู่การประพฤติปฏิบัติธรรมเป็นเรื่องสำคัญยิ่ง จึงได้เห็นคณะสาธุชนมาร่วมกันประพฤติธรรม ด้วยจิตใจที่แน่วแน่มั่นคงไม่หวั่นไหวต่อความเชื่อมั่นในองค์คุณของพระรัตนตรัย นับเป็นศรัทธาที่ประเสริฐยิ่ง ดังมีการแบ่งศรัทธาไว้ ๔ อย่าง ได้แก่ อาคมนศรัทธา โอกัปปนศรัทธา ปสาทศรัทธา และอธิคมนศรัทธา

ศรัทธาทั้ง ๔ ประเภทจึงชักนำจิตใจไปสู่การประพฤติดี ประพฤติชอบ รักษาศีลอย่างจริงจัง ที่เรียกว่า อริยกันตศีล ซึ่งแปลกันพอเข้าใจว่า เป็นศีลที่พระอริยเจ้าสรรเสริญ มีลักษณะธรรม ๘ ประการ คือ

๑. อขัณฑะ ศีลไม่ขาด ๒. อฉิททะ ศีลไม่ทะลุ ๓. อสพละ ศีลไม่ด่าง ๔. อกัมมาสะ ศีลไม่พร้อย ๕. ภุชิสสะ ศีลเป็นไทย ๖. วิญญูปสัฏฐะ ศีลที่ท่านผู้รู้สรรเสริญ ๗. อปรามัฏฐะ ศีลไม่ถูกมานะทิฏฐิจับต้อง และ ๘. สมาธิสังวัตตนิกะ ศีลเป็นทางสมาธิ

เมื่อมีศรัทธาและศีลถูกต้องครบถ้วนในชีวิต ย่อมชักนำให้ปฏิบัติชอบยิ่งขึ้น แม้ว่าจะครองเรือนอยู่ก็จักสามารถปฏิบัติธรรมดุจพระอริยเจ้าได้ โดยการมีจาคะ เพื่อละความตระหนี่ พร้อมที่จะสงเคราะห์ .. จะบริจาคแก่ผู้สมควรจะได้รับ โดยยึดหลักสงเคราะห์ที่ถูกต้อง ๔ ประการ ซึ่งหากพูดถึงความตระหนี่หรือมัจฉริยะที่ดับได้ด้วยจาคะ ซึ่งปกติจะคู่กับริษยาหรืออิจฉา ซึ่งธรรมทั้ง ๒ เป็นอุปกิเลสหรือธรรมฝ่ายอกุศลที่เป็นเบื้องต้น ที่จะนำไปสู่การเบียดเบียนกัน การทะเลาะวิวาทกัน การก่ออาชญาให้ซึ่งกันและกัน โดยมีเหตุอันเกิดจากอารมณ์ที่น่าใคร่และมิน่าใคร่ เมื่อใดที่เราถูกอิจฉาริษยาจากผู้อื่น ให้เรารู้จักอบรมสั่งสอนจิตใจตนเองให้เกิดความเห็นที่ถูกต้องตรงธรรม เช่น รู้จักพิจารณาว่า สิ่งที่เราได้รับความอิจฉาริษยานั้น เพราะกรรมไม่ดีในอดีตที่เราเคยอิจฉาริษยาผู้อื่น อันเป็นความเชื่อตามกฎแห่งกรรมขั้นพื้นฐาน ดังที่พระพุทธเจ้าทรงสอนภิกษุรูปหนึ่งที่ถูกด่าว่าและภิกษุรูปนั้นได้ด่าว่าตอบกลับว่า.. “เธอทำกรรมไม่ดีไว้ในอดีต ทำให้เธอต้องรับกรรมอย่างนี้แล้ว .. ได้รับการด่าว่าด้วย ทำไมเธอถึงยังทำกรรมอย่างนี้อีก...” จึงควรพิจารณาว่าเป็นกรรมไม่ดีที่เคยทำไว้ เพื่อออกมาด้วยการทำแต่กรรมดี ไม่ใช่ไปก่อกรรมไม่ดีซ้ำเติมเข้าไปอีก ให้ไม่จบสิ้น ...ด้วยการยึดมั่นในกฎเกณฑ์กรรมว่า สัตว์ทั้งหลายมีกรรมเป็นของๆ ตน... จึงวนเวียนเกิด-ดับอยู่ในสังสารวัฏฏ์นี้ ซึ่งล้วนเคยเป็นญาติมิตรกันมา มีบุญคุณเกื้อกูลดูแลกัน จึงควรตั้งจิตเมตตาขึ้นต่อบุคคลนั้นๆ แม้เขาจะคิดเบียดเบียนเรา ด้วยความเข้าใจและมีความอดทน โดยเฉพาะรู้จักพิจารณาให้เห็นส่วนดีของเขาที่มีมาบ้าง

ประการสำคัญ พึงรู้จักพิจารณาให้เห็นตามความเป็นจริง อันไม่ใช่บุคคลตัวตนเราเขาในสภาวธรรมทั้งหลายที่ปรากฏ เพื่อดับที่รากเหง้าของเรื่องราวทั้งหลาย ซึ่งต้องใช้กำลังสติปัญญาและความเพียรชอบที่ฝึกฝนมาดีแล้ว เพื่อการรู้แจ้งถึงพระไตรลักษณ์

จึงควรอย่างยิ่งที่สาธุชนจะได้ศึกษาไว้ เพื่อนำไปสู่การใช้ประโยชน์ในธรรมที่สามารถดับทุกข์ร้อนในจิตใจของเราได้จริง ด้วยวิธีโยนิโสมนสิการหรือพิจารณาโดยแยบคาย

เจริญพร

[email protected]