เงินง่ายจ่ายคืนยาก

เงินง่ายจ่ายคืนยาก

การให้เงิน 500 บาท เพื่อช่วยเหลือประชาชนผู้มีรายได้น้อย หากมองจากมุมของคนได้เงินก็ไม่ใช่เงินจำนวนมากนัก

แต่หากมองจากเม็ดเงินทั้งหมดนับว่าเป็นจำนวนค่อนข้างสูงอยู่เหมือนกัน แต่ที่น่ากังวลกว่าก็คือ ถ้าประชาชนเสพติด เงินง่าย แบบนี้ขึ้นมาจนรัฐบาลต้องให้เป็นประจำ แล้วจะเอาเงินจากไหนมาให้ เพราะเม็ดเงินเหล่านี้ไม่ได้ออกดอกออกผลกลับมาเป็นรายได้ของรัฐโดยตรง เลยเข้าทำนองว่าเงินง่ายจ่ายคืนยาก

เศรษฐกิจก็เหมือนกับคน คนจะสุขภาพดีได้ร่างกายต้องแข็งแรง จิตใจเบิกบานแจ่มใส เงินเป็นเลือดที่หล่อเลี้ยงเศรษฐกิจให้สามารถทำงานได้ การพึ่งพาเศรษฐกิจภายนอกมากเกินไป หรือพึ่งพาเม็ดเงินที่อัดฉีดจากภาครัฐอยู่เสมอก็ไม่ต่างอะไรกัน การดำรงชีวิตโดยการอาศัยเลือดคนอื่น วันดีคืนดีเขาไม่มีเลือดให้ ร่างกายกายของเราย่อมทรุดโทรมลงไป เผลอๆ ถ้าได้เลือดคนละกรุ๊ปเข้ากันไม่ได้ แทนที่จะแข็งแรงขึ้นก็กลายเป็นล้มหมอนนอนเสื่อไปแทน ยุ่งกันไปใหญ่

สำหรับการเปิดประเทศที่ทำให้ดูเหมือนว่าเราต้องพึ่งพาคนอื่นนั้น ไม่ได้หมายความว่าเราไม่ควรสุงสิงกับใคร ประเทศไทยกลายเป็นส่วนหนึ่งของเศรษฐกิจโลกไปแล้ว ขืนมาปิดประเทศตอนนี้จะเป็นการถอยหลังเข้าคลอง สิ่งสำคัญคือ ต้องรู้เท่าทันเกมเศรษฐกิจโลก เงินที่ได้มาควรนำไปใช้สร้างความเข้มแข็งให้กับเศรษฐกิจของประเทศในระยะยาว รัฐบาลควรใช้เงินที่ได้มาอย่างชาญฉลาด มองประโยชน์ระยะยาวของชาติควบคู่ไปกับการรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจในระยะสั้น

ปัญหาเงินเป็นพิษไม่ได้เกิดขึ้นจากการรับเงินคนอื่นเพียงอย่างเดียว เงินของเราเองก็มีสิทธิเป็นพิษได้เหมือนกันหากรัฐบาลไม่รู้จักใช้ให้ถูกวิธี

สำหรับประเทศที่การเมืองขับเคลื่อนด้วยพลังประชาธิปไตย (ครึ่งใบหรือเต็มใบ) รัฐบาลยังต้องให้น้ำหนักกับการสร้างความเสมอภาคระหว่างกลุ่มพลังทางการเมืองต่างๆ การแก้ปัญหาความไม่เท่าเทียมกันย่อมต้องใช้เงิน บางรัฐบาลจึงเลือกให้เงินไปตรงๆ เพราะการทำแบบนี้ประชาชนผู้มีสิทธิออกเสียงเลือกตั้งสามารถ สัมผัสถึงความจริงใจของรัฐบาลในการแก้ปัญหา บางรัฐบาลเลือกจะใช้เงินสร้างความเข้มแข็ง ซึ่งต้องใช้เวลา และมักโดนด่าอยู่เสมอทำงานไม่ทันใจ สรุปแล้วไม่ว่ารัฐบาลจะทำอะไรก็ต้องใช้เงินทั้งนั้น

คำถามก็คือ รัฐบาลที่อยากเล่นบทเจ้าบุญทุ่ม จะทำแบบนี้ไปได้นานแค่ไหน? ตามหลักแล้ว เรื่องพวกนี้ควรลดลงเมื่อประเทศมีโครงสร้างพื้นฐานเพียงพอ คนมีรายได้สูง เศรษฐกิจดี สังคมสงบสุข พอถึงตอนนั้น บทบาทของรัฐบาลจะเปลี่ยนไปเป็นผู้คอยกำกับดูแลให้ประเทศมีความสงบสุข ภาระทางการเงินทั้งหลายน่าจะลดลงได้

เงินง่ายจ่ายคืนยาก

ในความเห็นจริง การอุปถัมภ์ค้ำชูประชาชนมากเกินพอดีเป็นเวลายาวนาน ทำให้ประชาชนกลายเป็นโรคเสพติดเงินรัฐ คิดอะไรไม่ออกให้บอกรัฐ เอะอะอะไรก็มักลงเอยด้วยประโยคเดิมๆ ว่า “รัฐต้องรับผิดชอบ” “รัฐต้องช่วยเหลือ” “รัฐต้องเข้ามาจัดการ”

โรคเสพติดเงินรัฐเป็นโรคเกิดง่าย แต่หายยาก และระบาดได้อย่างรวดเร็ว น่ากลัวกว่าไข้หวัดนกเสียอีก พอรัฐเข้าไปช่วยสักครั้ง ทีหลังก็คิดแบบเดิมอีก พอขอบ่อยเข้า ก็ไม่คิดจะจัดการอะไรด้วยตัวเอง เมื่อรู้ว่ายังไงรัฐก็ช่วยจึงไม่จำเป็นต้องขวนขวายพยายามมากนัก รัฐเองหากช่วยรายหนึ่งแล้วไม่ช่วยรายอื่นก็ถูกหาว่าลำเอียง พอช่วยครั้งหนึ่งแล้วไม่ช่วยต่อก็โดนตำหนิว่าไม่จริงจังกับการแก้ปัญหา สุดท้ายช่วยไปช่วยมา ภาระทางการเงินของตัวเองก็เลยบานปลายจนควบคุมไม่ได้ เงินที่ใช้ในการแก้ปัญหากลับสร้างปัญหาใหม่ขึ้นมาไม่รู้จักจบจักสิ้น

บ้านเมืองเรายังต้องมีการพัฒนา คนไทยจำนวนมากยังต้องการความช่วยเหลือจากรัฐบาล เพราะบางครั้งพวกเขาเองไม่มีศักยภาพพอจะเริ่มต้นยืนด้วยตนเอง หากไม่ยื่นมือไปช่วยก็คงลุกขึ้นมาลืมตาอ้าปากได้ยาก สิ่งที่ต้องระวังก็คือ อย่าให้เขาเกาะมือผู้ช่วยเหลือตลอดไป ต้องบอกให้เขารู้ว่าวันหนึ่งเขาจะต้องปล่อยมือและยืนให้ได้ด้วยลำแข้งของตนเอง ถึงตอนนั้น หากต้องล้มลงไปอีก ก็ต้องพยายามลุกขึ้นมาเองให้ได้ เพราะว่ามือคู่นี้ยังต้องไปช่วยเหลือคนอื่น

ก็ได้แต่หวังว่า เงินหลักหมื่นล้านที่ให้ไปช่วงใกล้ปีใหม่คงไม่ไปสร้างโรคเสพติดเงินของรัฐเหมือนที่เกิดขึ้นในหลายประเทศ หากอัดเงินลงกระตุ้นการบริโภค อีกไม่นานก็ต้องอัดลงไปใหม่อีก แต่ถ้าเงินเหล่านี้ลงไปเพื่อสร้างความสามารถในการหาเงินของประชาชน เงินแค่นี้ถือว่าคุ้มแสนคุ้ม ไหนๆ ก็จะปฏิรูปการเมืองแล้ว ทำไมไม่ปฏิรูประบบการคิดไปพร้อมๆ กันเสียเลย ขืนปล่อยไว้แบบนี้ เมื่อไหร่ประเทศไทยจะหายจากอาการเงินเป็นพิษกันเสียที