‘เอไอ’ ผู้ช่วยคนใหม่ของนักกฎหมาย

‘เอไอ’ ผู้ช่วยคนใหม่ของนักกฎหมาย

เริ่มเข้ามามีบทบาทอย่างมากต่อวงการนักกฎหมายในต่างประเทศ โดยความน่าสนใจอยู่ที่การพัฒนาระบบคอมพิวเตอร์ด้วยเทคโนโลยีแมชีนเลิร์นนิง

จากปรากฏการณ์เทคโนโลยีดิจิทัลที่เข้ามามีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนภาคเศรษฐกิจ สังคม และอุตสาหกรรม ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ส่งผลให้หลายสาขาอาชีพต้องปรับเปลี่ยนรูปแบบการทำงานให้สอดคล้องกับความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ทั้งเพื่อยกระดับประสิทธิภาพการทำงานและเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันเพื่อตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าและบริบททางสังคมได้อย่างรอบด้านมากยิ่งขึ้น

หนึ่งในอาชีพที่น่าสนใจและมีความชัดเจนในการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีให้สามารถทำงานร่วมกับมนุษย์คือ อาชีพนักกฎหมายที่ได้มีการนำปัญญาประดิษฐ์ หรือ เอไอ(Artificial Intelligence – AI) เข้ามาใช้อย่างเป็นรูปธรรม เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานในหน้างานพื้นฐานให้มีความรวดเร็วและแม่นยำมากยิ่งขึ้น เอื้อประโยชน์ในการลดปริมาณงานบางประเภทลง เพื่อให้บุคลากรด้านกฎหมายสามารถนำต้นทุนด้านเวลาและกำลังความคิดมาใช้พัฒนาตัวบทกฎหมายและการพิจารณารูปคดีใหม่ๆ ที่มีความซับซ้อนมากยิ่งขึ้น

เอไอ เริ่มเข้ามามีบทบาทอย่างมากต่อวงการนักกฎหมายในต่างประเทศ โดยความน่าสนใจอยู่ที่การพัฒนาระบบคอมพิวเตอร์ด้วยเทคโนโลยีแมชีนเลิร์นนิง (Machine Learning) เพื่อป้อนข้อมูลให้เอไอเรียนรู้จากชุดข้อมูลหรือรูปแบบ(Pattern) ที่ถูกสร้างขึ้นให้มีความสอดคล้องกับการพิจารณาทางกฎหมายในรูปคดีหรือสถานการณ์ต่างๆ อย่างเฉพาะเจาะจง เพื่อให้เอไอสามารถอ้างอิงวิธีการตรวจสอบและการตอบสนองกับชุดข้อมูลไปในแนวทางเดียวกันกับนักกฎหมาย 

ทั้งนี้ เพื่อสร้างระบบการประมวลผลให้เอไอสามารถเป็นผู้ช่วยในการคัดกรองเนื้อหาและสำนวณคดีในเบื้องต้นให้เหลือเฉพาะส่วนที่มีความเกี่ยวข้องทางกฎหมาย เพื่อประโยชน์ในการช่วยลดปริมาณข้อมูลและเอกสารจำนวนมากที่รอการตรวจสอบลงได้นั่นเอง

แม้ว่าสำนักงานและที่ปรึกษาทางด้านกฎหมายหลายแห่งในต่างประเทศได้มีการนำระบบปัญญาประดิษฐ์เข้ามาใช้เป็นขั้นตอนหนึ่งในการวิเคราะห์เอกสารและหลักฐานต่างๆ แล้ว แต่ในบางรูปคดีหรือในสถานการณ์ที่มีความซับซ้อนกลับยังคงต้องใช้การตัดสินใจของมนุษย์เป็นหลัก ไม่ว่าจะเป็นคดีที่เกี่ยวข้องกับความอ่อนไหวทางสังคมและการเมือง รวมถึงปัจจัยด้านศีลธรรม จรรยาบรรณและมนุษยธรรม ก็ยังคงเป็นข้อจำกัดที่เกินกว่าความสามารถของเอไอในการตัดสินด้วยการประมวลผลของตัวระบบเองได้ จึงทำให้การพิจารณาโดยนักกฎหมายยังคงมีความจำเป็นและน่าเชื่อถือมากกว่า

นอกเหนือจากขอบเขตการพิจารณาทางด้านกฎหมายแล้ว การพัฒนาระบบประมวลผลของเอไอยังครอบคลุมไปถึงการสนับสนุนการทำงานของนักวิจัยและนักประดิษฐ์เพื่อช่วยตรวจสอบในเบื้องต้นว่าผลงานที่กำลังสร้างสรรค์อยู่นั้นเป็นไปตามกฎเกณฑ์ที่จะสามารถขออนุมัติการจดลิขสิทธิ์ทรัพย์สินทางปัญญา (copyrights)และการจดสิทธิบัตร (patent) ได้หรือไม่ 

อีกทั้งยังสามารถช่วยตรวจสอบความถูกต้องของเอกสารเพื่อป้องกันการปลอมแปลงลายลักษณ์อักษรที่มีผลทางกฎหมาย อาทิ ลายเซ็น เครื่องหมายทางการค้า รวมถึงระบบตรวจสอบการคัดลอกและการละเมิดลิขสิทธิ์ (plagiarism) ในบทความงานวิจัยและงานเขียนต่างๆ ได้อีกด้วย ซึ่งการเลือกใช้การวิเคราะห์ข้อมูลของเอไอแต่ละประเภทให้มีความเหมาะสมก็ยังเป็นสิ่งสำคัญ เพื่อให้เกิดผลการดำเนินงานที่ยังคงความน่าเชื่อถืออยู่

ด้วยความเชี่ยวชาญด้านการพัฒนาระบบปัญญาประดิษฐ์ เซอร์ทิสมีมุมมองว่า แม้เอไอจะเข้ามาเป็นผู้ช่วยคนสำคัญที่รองรับการทำงานของบุคลากรด้านกฎหมายได้อย่างมีประสิทธิภาพ แต่สิ่งสำคัญที่สุดคือ มุมมองความคิดที่สามารถเข้าถึงจิตใจ การพิจารณาคดีตามหลักมนุษยธรรม และทักษะการสื่อสารที่มีความละเอียดอ่อนต่อทุกฝ่ายเพื่อประโยชน์ต่อการดำเนินรูปคดี ที่ยังคงจำเป็นต้องอาศัยวิจารณญาณและการทำงานของนักกฎหมายเป็นหลัก เพื่อให้เกิดความสอดคล้องกับมาตรฐานของวิชาชีพและเป็นข้อจำกัดที่เอไอยังไม่สามารถเข้ามาทดแทนได้

ท้ายที่สุดนี้ สิ่งนี้อาจเป็นเพียงจุดเริ่มต้นของการเปลี่ยนแปลงในอาชีพนักกฎหมาย แต่เป้าหมายที่สำคัญที่สุดอยู่ที่นักกฎหมายจะสามารถนำต้นทุนด้านเวลาที่มีมากขึ้นและศักยภาพการทำงานที่มีอยู่มาใช้ให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดได้เพียงใด เพื่อที่จะเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาทักษะและตัวบทกฎหมายให้ครอบคลุมถึงรูปคดีใหม่ๆ ให้ทันต่อบริบททางสังคมที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วในยุคปัจจุบันได้อย่างเหมาะสมต่อไปนั่นเอง