ฟินเทคกับการช่วยลดความเลื่อมล้ำ

ฟินเทคกับการช่วยลดความเลื่อมล้ำ

เทคโนโลยีการเงินนี่แหละที่จะช่วยลดความเลื่อมล้ำได้ในระดับหนึ่ง 

ไม่นานมานี้ได้มีรายงานเรื่องความมั่งคั่งของคนทั้งโลกโดย Credit Suisse Global Wealth Report 2018 ประเด็นที่พูดถึงกันอย่างมากคือประเทศไทยขึ้นชั้นว่าเป็นประเทศที่มีความเลื่อมล้ำทางฐานะสูงที่สุดในโลกไปแล้ว โดยคนไทยเพียงแค่ 1% กลับเป็นผู้ถือครองทรัพย์สินส่วนใหญ่ของประเทศ 66.9% ทั้งที่สองปีก่อนเรายังถูกจัดอันดับอยู่ที่สามอยู่เลย

ผมจะไม่ขอลงลึกไปว่าบทวิจัยของค่ายไหนที่แม่นยำกว่ากัน แต่จะมาพูดถึงวิธีการแก้ไขให้ความเลื่อมล้ำลดลงดีกว่า ฐานที่อยู่ในแวดวงฟินเทคผมจึงมีความเชื่อว่าเทคโนโลยีการเงินนี่แหละที่จะช่วยลดความเลื่อมล้ำได้ในระดับหนึ่ง 

ข้อแรก เทคโนโลยีใหม่ๆจะช่วยเพิ่มโอกาสการเข้าถึงผลิตภัณฑ์ทางการเงินของผู้ที่ด้อยโอกาสที่อยู่ในกลุ่ม Unbank หรือพูดง่ายๆคือกลุ่มที่ธนาคารไม่สนใจที่จะปล่อยเงินกู้ให้ เช่น มีรายได้ต่ำกว่าเกณฑ์ ประกอบอาชีพที่มีความเสี่ยงสูง ฯลฯ คนกลุ่มนี้จะมีโอกาสเข้าถึงแหล่งเงินกู้ผ่านเทคโนโลยี P2P Lending ซึ่งอาศัยช่องทางเพียงแค่สมาร์ทโฟนธรรมดาหนึ่งเครื่องเท่านั้น ที่สำคัญอัตราดอกเบี้ยยังต่ำกว่าสินเชื่อนอกระบบและสินเชื่อบุคคลของธนาคาร ล่าสุดธนาคารแห่งประเทศไทยได้เตรียมเปิดให้มาขอรับใบอนุญาตได้เร็วๆนี้ 

ขยับขึ้นมาที่ระดับผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่ธนาคารไม่พิจารณาปล่อยสินเชื่อให้ ยังมีเทคโนโลยี Debt Crowrd Funding ซึ่งเปิดโอกาสให้ผู้ที่มีเงินเย็นว่างๆมาเป็นเงินกู้ให้กับธุรกิจเอสเอ็มอีได้ โดยสำนักงานกลต.เป็นผู้ที่จะออกใบอนุญาตให้กับผู้ประกอบการที่สนใจเร็วๆนี้ 

นอกจากสินเชื่อแล้ว ภาคตลาดทุนเองยังมีเครื่องมือใหม่ๆที่จะช่วยให้คนไทยทุกระดับสามารถเข้าถึงผลิตภัณฑ์การลงทุนได้ง่ายขึ้น โดยตัวเลขจากสำนักงานกลต.ระบุว่าคนไทยที่มีรายได้ถึง 30 ล้านคนยังไม่เคยเข้าถึงการลงทุน โดยเทคโนโลยีอย่าง Robo Advisor จะช่วยให้คนไทยสามารถเปิดพอร์ตลงทุนทั้งซื้อขายหุ้นและกองทุนรวมได้ง่ายเพราะใช้เพียงแค่สมาร์ทโฟนเท่านั้นและยังมีผู้ที่ดูแลพอร์ตลงทุนให้อย่างอัตโนมัติอีกด้วยซึ่งหากไม่ได้นำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ บริการนี้จะถูกจำกัดเฉพาะคนที่มีเงินหลักล้านบาทขึ้นไปเท่านั้น 

หากคนไทยส่วนใหญ่สามารถเข้าถึงการลงทุน นอกจากจะได้ผลตอบแทนที่สูงกว่าการฝากเงินในธนาคารแล้วยังเป็นหลักประกันว่าจะสามารถเกษียณอายุได้อย่างปลอดภัยอีกด้วย เพราะตัวเลขจากกลต.ได้ระบุว่าคนไทยส่วนใหญ่มีเงินเก็บหลังเกษียณเพียงแค่หนึ่งล้านบาทเท่านั้น

นอกจากนี้ยังมี Equity Crowd Funding ที่เป็นแหล่งเงินทุนที่ต้นทุนต่ำให้กับผู้ประกอบการที่มีศักยภาพในการเติบโตอีกด้วย แทนที่จะต้องรอให้ธุรกิจใหญ่ถึงระดับหนึ่งที่สามารถเข้าตลาดหุ้น แต่รูปแบบการระดมทุนดังกล่าวจะชวยให้ธุรกิจส่วนใหญ่ที่มีขนาดไม่ใหญ่มากสามารถขยายกิจการได้ หรือแม้แต่การระดมทุนด้วยวิธี ICO ก็สามารถช่วยให้ธุรกิจขนาดเล็กขนาดกลางเติบโตได้เช่นกัน

เห็นแบบนี้แล้วผมคิดว่าภาครัฐและเอกชนต้องหันมาร่วมกันส่งเสริมและพัฒนาฟินเทคให้เติบโตเพื่อที่จะช่วยให้คนไทยและภาคธุรกิจสามารถเข้าถึงเงินกู้และเงินทุน ผมเชื่อว่าอัตราความเหลื่อมล้ำของคนไทยจะลดลงได้แน่นอน แต่ผู้เล่นรายใหญ่ที่ควบคุมตลาดอยู่ต้องไม่เข้ามาสะกัดไม่ให้เกิดผู้เล่นหน้าใหม่ขึ้นด้วยนะครับ เพราะไม่เช่นนั้นปัญหาความเหลื่อมล้ำจะยังไม่สามารถแก้ไขได้