นักกีฬาอาชีพ E-Sports

นักกีฬาอาชีพ E-Sports

คงปฏิเสธไม่ได้ว่า E-Sports :Electronic Sports หรือ กีฬาอิเล็กทรอนิกส์ กำลังเป็นที่นิยมไปทั่วโลก

แม้จะยังเป็นที่ถกเถียงกันงถึงสถานะความเป็นกีฬาของ E-Sports แต่ขณะนี้ เราคงปฏิเสธไม่ได้ถึงความมีอยู่และกระแสความนิยมที่มากขึ้นเรื่อยๆ รวมถึงมูลค่าทางเศรษฐกิจที่มีอย่างมหาศาล คำถามที่ตามมาแล้วเราจะรับมืออย่างไร รัฐควรมีมาตรการ กฎหมายรองรับเพื่อใช้ในการควบคุมดูแล สนับสนุนให้เกิดความเหมาะสมกับบริบทของสังคมไทยเช่นไร

จริงๆ แล้ว E-Sports ไม่ได้แตกต่างจากกีฬาประเภทอื่นๆ ซึ่งประกอบไปด้วยนักกีฬา อุปกรณ์กีฬา ได้แก่ เมาส์ คีย์บอร์ด หูฟัง เป็นต้น ใช้คอมพิวเตอร์และฮาร์ดแวร์ชนิดต่างๆ เป็นสนามแข่งขันและใช้โลกของไซเบอร์เป็นสนามสำหรับการแข่งขัน ต้องมีการวางแผนการเล่น รวมถึงทักษะที่ได้จากการฝึกซ้อมอย่างทุ่มเท ซึ่งปัจจุบัน การแข่งขัน E-Sports เกิดขึ้นมากมายในระดับโลก เช่น World Cyber Games Championship เปรียบได้กับโอลิมปิกของวงการเกม และอื่นๆ อีกมากมายซึ่งรายการเหล่านี้มีผู้เขาร่วมการแข่งขันเป็นจำนวนมาก รวมไปถึงเงินรางวัลสำหรับผู้ชนะก็มีมูลค่าสูงมากเช่นกัน

E-Sports ได้รับความนิยมอย่างรวดเร็วในกลุ่มเยาวชน ทำให้สภาโอลิมปิกแห่งเอเชีย (The Olympic Council of Asia-OCA) ตัดสินใจประกาศให้ E-Sports เป็นกีฬาในการแข่งขันในเอเชียนเกมส์ปี 2022 ที่จัดขึ้นที่ หางโจว สาธารณรัฐประชาชนจีน โดยในเอเชียนเกมส์ปี 2018 ที่ประเทศอินโดนีเซียนั้น E-Sports ถูกจัดให้เป็นกีฬาสาธิตการแข่งขันเช่นเดียวกัน โดยประเทศไทยส่งนักกีฬาเข้าร่วมด้วย จากเกมที่ใช้ในการแข่งขันมีด้วยกันทั้งหมด 6 เกม ดังนี้ 1) League of Legends หรือ LoL (MOBA), 2) Arena of Valor หรือ RoV (MOBA), 3) StarCraft II (RTS), 4) Hearthstone (Card Game), 5) Pro Evolution Soccer 2018 (Sport), 6) Clash Royale (Tower Defense)

ทั้งนี้สามารถแบ่งชนิดของเกมได้ 5 ประเภท คือ 1) MOBA หรือ multiplayer online battle arena เป็นเกมแนววางแผนการรบโดยควบคุมตัวละครเพียงตัวเดียว 2) RTS หรือ Real Time Strategy เป็นเกมแนววางแผนการรบที่ต้องควบคุมการตัวละครและการสร้างฐานทัพพร้อมกัน 3) Card Game เป็นเกมแนวการใช้ไพ่ที่สะสมในการต่อสู้แทนตัวละคร 4) Sport เป็นเกมแนวการจำลองการเล่นหรือการแข่งกีฬาชนิดต่าง ๆ 5) Tower Defense เป็นเกมแนวการสร้างป้อมปราการในการป้องกันเมือง จะเห็นได้ว่าประเภทของเกมมีความหลากหลายเป็นอย่างมากไม่เฉพาะเจาะจงว่าจะต้องเป็นเกมที่เกี่ยวข้องกับกีฬาเท่านั้นที่สามารถจัดการแข่งขัน E-Sports ได้

สำหรับประเทศไทย E-Sports กำลังได้รับความนิยมสูงขึ้น เพราะเป็นกีฬาที่ไม่จำกัดเพศ วัย ไม่มีความแข็งแกร่งเข้ามาเกี่ยวข้อง แต่ใช้ทักษะความสามารถทางด้านสมองมากกว่ากีฬาทั่วไป ซึ่งเกมที่ใช้แข่งขันมีมากมายหลายรูปแบบ จัดแข่งขันตลอดทั้งปี เงินรางวัลในบางครั้งมีมูลค่าหลายแสนบาท มีการตั้งทีมกีฬาลงแข่งอย่างจริงจัง ดังนั้นหน่วยงานของรัฐ เอกชนที่เกี่ยวข้องควรกำหนดนิยาม องค์ประกอบของเกมที่สามารถยอมรับได้ในฐานะของ E-Sports ที่สามารถนำมาจัดการแข่งขันได้เพื่อให้เป็นมาตรฐานที่ควบคุมได้

ปัจจุบันนี้ ประเทศไทยได้มีการจัดตั้งสมาคมกีฬา E-Sports แห่งประเทศไทยขึ้น อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของการกีฬาแห่งประเทศไทย(กกท.) และได้รับการรับรองจากสมาพันธ์ E-Sports โลก (IESF: International E-Sports Federation) เป็นที่เรียบร้อยแล้ว และเริ่มมีการจัดตั้งสโมสร E-Sports เพื่อส่งนักกีฬาเข้าร่วมแข่งขัน ไม่ว่าจะเป็นระดับประเทศหรือนานาชาติ ในประเทศฝรั่งเศส ก็มีการพัฒนาและยอมรับว่า E-Sports เป็นกีฬาอย่างหนึ่งที่สามารถจัดการแข่งขันในระดับอาชีพได้ โดยมีการออกกฎเกณฑ์ ข้อบังคับ และมาตราการทางกฎหมายเพื่อมารองรับและบังคับใช้กับ E-Sports อย่างเป็นระบบ

ตั้งแต่ปี 2556 ประเทศไทย ประกาศใช้พระราชบัญญัติ(พ.ร.บ.)ส่งเสริมกีฬาอาชีพ พ.ศ.2556 เพื่อกำหนดมาตรฐานที่เกี่ยวกับกีฬาอาชีพให้สอดคล้องกับสากล คุ้มครองช่วยเหลือ ส่งเสริม สนับสนุน พัฒนานักกีฬาอาชีพ บุคลากรกีฬาอาชีพ ผู้ที่เกี่ยวข้องกับกีฬาอาชีพ ซึ่งทั้งหมดนี้ก็เพื่อยกระดับมาตรฐานการกีฬาอาชีพในประเทศไทย 

ทั้งนี้ กีฬาชนิดใดที่ถือว่าเป็นกีฬาอาชีพได้ถูกบัญญัติไว้ในมาตรา 4 วรรคแรก “กีฬาอาชีพ” หมายความว่า กีฬาที่จัดการแข่งขันอย่างเป็นระบบตามมาตรฐานสากลและมีนักกีฬาอาชีพเข้าร่วมแข่งขันกัน มีรายได้จากการแข่งขันตามชนิดหรือประเภทที่คณะกรรมการประกาศกำหนด จะเห็นได้ว่าในตอนท้ายได้ระบุไว้ว่าให้เป็นไปตามที่คณะกรรมการกีฬาอาชีพกำหนด

ตามประกาศคณะกรรมการกีฬาอาชีพ เรื่องกำหนดชนิดหรือประเภทกีฬาที่เป็นกีฬาอาชีพ พ.ศ. 2558 ได้กำหนดกีฬาอาชีพไว้ 13 ชนิดกีฬา คือ (1) ฟุตบอล (2) กอล์ฟ(3) เจ็ตสกี (4) วอลเลย์บอล (5) ตะกร้อ (6) โบว์ลิ่ง (7) แข่งรถจักรยานยนต์ (8) จักรยาน (9) แข่งรถยนต์ (10) สนุกเกอร์ (11) แบดมินตัน (12) เทนนิส (13) บาสเกตบอล ส่วนมวยนั้น ได้มี พ.ร.บ.กีฬามวย พ.ศ. 2542 บังคับใช้เป็นการเฉพาะอยู่แล้ว

ในมาตรา 4 วรรคสอง บัญญัติไว้ว่า นักกีฬาอาชีพหมายความว่า ผู้ซึ่งเล่นกีฬาอาชีพเป็นอาชีพ ตามความหมายในวรรคนี้เป็นการกำหนดว่าบุคคลใดที่จะเป็นนักกีฬาอาชีพในประเทศไทยได้นั้นจะต้องเล่นกีฬาเป็นอาชีพเฉพาะกีฬาที่เป็นไปตามประกาศของคณะกรรมการกีฬาอาชีพเท่านั้น ซึ่งนิยามดังกล่าวไม่ได้สะท้อนความหมายของนักกีฬาอาชีพที่แท้จริง ตัวอย่างในประเทศฝรั่งเศสได้ให้นิยามคำว่า นักกีฬาอาชีพ” หมายถึง บุคคลที่ได้ทำสัญญาจ้างงานโดยมีค่าตอบแทนเพื่อวัตถุประสงค์ในการแข่งขันกีฬา

จะเห็นได้ว่าสถานะภาพของความเป็นนักกีฬาอาชีพของประเทศฝรั่งเศส ถูกกำหนดโดยการทำสัญญาจ้าง มีค่าตอบแทน และเล่นเพื่อการแข่งขัน ไม่ว่าจะเล่นกีฬาชนิดใดก็ตาม แต่นักกีฬาอาชีพในประเทศไทยจะถูกจำกัดเฉพาะกีฬาที่ถูกประกาศกำหนดเอาไว้เท่านั้น ในขณะที่การแข่งขัน E-Sports มีหลากหลาย มีการพัฒนาอย่างรวดเร็ว มีรูปแบบการแข่งขันในระบบกีฬาอาชีพอย่างชัดเจนและมีเงินรางวัลการแข่งขันที่สูงมาก ถึงเวลาแล้วหรือยังที่การกำหนดชนิดกีฬาอาชีพต้องให้เป็นไปตามความหมายของตัวนักกีฬาเองมากกว่าที่จะให้คณะกรรมการเป็นผู้กำหนดเพื่อให้เกิดความสอดคล้องตามแบบมาตรฐานสากล.

โดย... 

พรพล เทศทอง

คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์