ผันแปรไม่แน่นอน

ผันแปรไม่แน่นอน

หนีไม่พ้นผลกระทบทางธุรกิจในตลาดโลก

เข้าสู่เดือนสุดท้ายของปีเป็นธรรมเนียมที่องค์กรทุกแห่งจะวางแผนไปถึงปีหน้าว่าจะรับมือกับความเปลี่ยนแปลงที่กำลังจะเกิดขึ้นอย่างไร ซึ่งแน่นอนว่าเราจะเป็นต้องมองภาพรวมของภาวะเศรษฐกิจโลกเป็นหลักว่ามีทิศทางเป็นอย่างไร จะขยายตัว หดตัว หรือทรงตัวก็ล้วนขึ้นอยู่กับการวิเคราะห์ของแต่ละองค์กร

หากดูภาพรวมของเศรษฐกิจมหภาคก็คงต้องดูการประเมินผลในช่วงไตรมาส 3 ที่ซึ่งถือเป็นโค้งสุดท้าย ที่ทำให้เห็นแนวโน้มของปีหน้าเพื่อนำมาปรับเป้าหมายกันใหม่ โดยทางกองทุนการเงินระหว่างประเทศหรือไอเอ็มเอฟได้เคยประมาณการเติบโตทางเศรษฐกิจของปี 2562 ไว้ที่ 2.9% แต่สุดท้ายเมื่อเห็นตัวเลขในไตรมาส 3 ก็ปรับอัตราการเติบโตลดลงเหลือเพียง 2.5% เท่านั้น

ปัจจัยลบที่ไอเอ็มเอฟเชื่อว่าฉุดให้ภาพรวมของเศรษฐกิจโลกตกต่ำลงนั้นมีอยู่รอบด้าน นับตั้งแต่สหภาพยุโรปที่ถูกขับเคลื่อนโดยเยอรมันนีเป็นหลัก ออกอาการซวนเซเพราะยอดการส่งออกลดลงถึงกว่า 20% โดยอุตสาหกรรมหลักที่ตกต่ำลงมากคือยานยนต์ที่ถูกกระทบจากปัญหาหลายประการ

แม้ว่าคนทั่วโลกจะรู้จักรถยนต์ชั้นนำจากเยอรมันเช่นเมอร์ซีเดสเบนซ์ บีเอ็มดับเบิ้ลยู และออดี้ เพราะเน้นขายรถยนต์ราคาสูงจึงมียอดจำหน่ายไม่มากนัก ในขณะที่ค่ายยักษ์ใหญ่อย่างโฟล์คสวาเกนกรุ้ปนั้น มีน้ำหนักต่ออุตสาหกรรมมากกว่า เนื่องจากมีรถยนต์หลากหลายยี่ห้อจึงมียอดจำหน่ายสูงที่สุด

ปัญหาใหญ่ที่รุมเร้าโฟลค์สวาเกนคือความไม่โปร่งใสในการแสดงผลค่ามลพิษจากท่อไอเสีย โดยพยายามปรับตัวเลขให้ดีกว่าความเป็นจริง ซึ่งส่งผลอย่างรุนแรงต่อความเชื่อมั่นและทำให้ถูกลงโทษให้ชำระค่าปรับเป็นมูลค่ามหาศาล

ปัญหาในกลุ่มประเทศยุโรปไม่ได้มีแค่ประเทศเยอรมันนี แต่ยังมีอิตาลีที่อยู่ในภาวะกลืนไม่เข้าคายไม่ออกเ พราะรัฐบาลชุดปัจจุบันไม่ยอมเดินตามกติกาของอียู จึงส่งผลให้เกิดความสั่นคลอนขึ้นอีกครั้ง เช่นเดียวกับสหราชอาณาจักรที่รัฐบาลของนายกรัฐมนตรีเทเรซา เมย์ เดินหน้าตามนโยบาย Brexit เพื่อออกจากการเป็นสมาชิกสหภาพยุโรปแต่ติดปัญหาภายในรัฐบาลมากมายจนอาจทำตามแผนที่วางไว้ไม่ได้

หันมามองในเอเชีย แม้ว่าจะมีสัญญาณบวกจากญี่ปุ่นที่อัตราการเติบโตเป็นบวกขึ้นมาได้ รวมถึงอาศัยจังหวะที่มีความขัดแย้งกับเกาหลีเหนือสร้างกระแสชาตินิยมได้สำเร็จจนประกาศขึ้นอัตราภาษีมูลค่าเพิ่มได้ ทำให้แนวโน้มเศรษฐกิจของญี่ปุ่นน่าจะดีขึ้นมากจากภาษีที่ส่งผลบวกได้ แต่ก็อาจต้องเจอหางเลขจากสงครามการค้าจีน-อเมริกาจนทำให้การเติบโตไม่เป็นไปตามเป้า

ประเทศที่มีส่วนสำคัญต่อการเปลี่ยนแปลงของเศรษฐกิจโลกในปีนี้ จึงอยู่ที่จีนที่ปกติขยายตัวในอัตรา 6.8% แต่ถูกปรับลดเหลือ 6.5% ซึ่งนี่ยังไม่รวมผลกระทบจากสงครามการค้าที่ปะทุขึ้นแล้ว เพราะยอดขายในปัจจุบันล้วนมาจากการปิดการขายในไตรมาสที่ผ่านมา ตัวเลขที่สะท้อนผลทบจากสงครามการค้าจึงน่าจะมีให้เห็นในปีหน้าเป็นต้นไป

ทั่วโลกจึงได้แต่หวังว่าการเจรจาเพื่อหาทางออกในการตั้งกำแพงภาษีของจีนและอเมริกา ในการประชุมจี20 ที่ผ่านมาจะบรรลุผล เพราะมีหลายประเด็นที่ยังค้างค้า และส่งผลต่ออุตสาหกรรมเกี่ยวเนื่องอย่างรุนแรงแน่นอน

เช่นค่าปรับเพิ่มภาษีนำเข้าจำนวนมหาศาลถึง 2.5 แสนล้านดอลล่าร์ที่ยังค้างคาอยู่ ซึ่งดูเหมือนว่าการเจราจาระหว่าง สีจิ้นผิง กับ ทรัมป์ เสมือนการยุติสงครามทางการค้าระหว่างกันชั่วคราว แต่ก็ยังคงมีตัวแปรอื่นๆเกิดขึ้นมาในแต่ละวัน ทำให้ความไม่แน่นอนยังคงอยู่และเหนือการคาดเดาได้

ประเทศที่ดูจะยังมีแนวโน้มเป็นบวกตอนนี้ จึงมีอเมริกาที่บางอุตสาหกรรมยังเติบโตได้ดี และอินเดียที่กลายเป็นความหวังของโลกจากอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ขยายตัวตามจำนวนประชากรมาโดยตลอด ตลาดทุนของอินเดียจึงเติบโตสูงสุด แต่ก็อาจสะดุดตัวลงหากรัฐบาลไม่สามารถควบคุมอัตราเงินเฟ้อไม่ให้ขยายตัวเกินไปได้

ประเทศไทยของเราย่อมหนีไม่พ้นผลกระทบทางธุรกิจในตลาดโลก แต่ในระยะสั้นก็มีแนวโน้มเป็นบวกที่คาดว่าจะเกิดจากเงินสะพัดที่เกิดขึ้นในช่วงเลือกตั้ง แต่หลังจากนั้นเราก็หลีกเลี่ยงไม่ได้ที่ต้องเจอกับภาวะความผันผวนทางการเมืองอีกครั้ง เพราะกติกาทางการเมืองที่ร่างขึ้นใหม่นี้ดูจะไม่ทำให้รัฐบาลมีเสถียรภาพมากนัก

นั่นคือภาวะที่เราต้องประสบและดำเนินธุรกิจให้ผ่านไปให้ได้ ซึ่งไม่เคยมีใครบอกว่าเป็นเรื่องง่ายดายเลย เพราะเราต้องพบกับความไม่แน่นอนไปอีกแสนนาน จนดูเหมือนว่าความไม่แน่นอนนั่นแหละที่กลายเป็นความแน่นอนของทุกวันนี้ไปแล้ว