โซเชียลมีเดีย กับการ share หรือ forward

โซเชียลมีเดีย กับการ share หรือ forward

หลายวันก่อน เฉลิมพล ไวทยางกูร ได้เล่าเรื่องในอดีตเกี่ยวกับบัตรสนเท่ห์ที่มีต่อคุณแม่ของท่านสมัยที่ยังมีชีวิต

ผมเป็นนักเรียนรุ่นน้อง เคยรู้จักท่านอยู่บ้าง อ่านแล้วเศร้าใจ และคิดว่า เรื่องราวอย่างนี้ มีอยู่ตลอดเวลา เรื่อยมาจนปัจจุบัน

ขอทบทวนเพียงสั้น ๆ สำหรับผู้ที่อาจจะมิได้อ่านเรื่องเล่าของท่านว่า คุณแม่ของท่านซึ่งเรียกในภาษาปัจจุบันว่า คุณแม่เลี้ยงเดี่ยว ในช่วงปี 2520 เป็นข้าราชการชั้นเอก เงินเดือน 5 พันบาท แต่มีลูกสามในสี่คนไปเรียนในสหรัฐ แค่นี้เอง มีบัตรสนเท่ห์ว่า คนระดับนี้น่ะหรือจะมีปัญญาส่งลูกไปเรียนเมืองนอกได้ตั้งสามคน ท้ายที่สุด มีการสอบสวนเป็นปี ได้ข้อยุติว่า ไม่มีความผิดอะไร แต่ความเสียหายที่เกิดขึ้นกับคุณแม่นั้น ใครจะรับผิดชอบ จะเอาเรื่องกับผู้ทำบัตรสนเท่ห์ ก็ไม่รู้ว่าจะไปหาตัวที่ไหน

ทำให้คิดว่า ยิ่งในนาทีนี้ โซเชียลมีเดีย มีความรวดเร็วกว่าเป็นเท่าพันทวี พอคนหนึ่งได้อ่านเรื่องราวที่มาถึงตัวจากเพื่อนกลุ่มต่าง ๆ ปั๊บ นิ้วมือก็ไวกว่าความคิด แล้วส่งต่อออกไปทันที (เรียกว่า share หรือ forward) ทั้ง ๆ ที่เรื่องราวต่าง ๆ ที่มาถึงตัว ไม่ใช่เรื่องของตัวแม้แต่น้อย เพราะว่าถ้าเป็นเรื่องของตัว ย่อมจะไปส่งต่อ

ถามว่า แล้วส่งต่อไปเพื่ออะไร พฤติกรรมเช่นนี้ ทำให้ต้องกลับมาย้อนคิดว่า การส่งต่อ เกิดจากความคิดอะไรหรือ

ทุกวันนี้ เมื่อสังเกตพฤติกรรมของคนรอบตัว จะพบเห็นจนเป็นเรื่องปกติว่า แทบจะไม่มีผู้คนแหงนมองเรื่องราวรอบ ๆ ตัว จังหวะนิดเดียวก็เป็นอันจะต้องหยิบโทรศัพท์มือถือมาตรวจเรื่องอะไรต่อมิอะไร การที่จะเห็นคนมองบรรยากาศ หรือสภาพแวดล้อมรอบตัว เห็นจะมีน้อยลงมาก จะเห็นได้ชัดเจนโดยเฉพาะผู้ที่กำลังยืนคอยรถไฟฟ้าบนดินและใต้ดิน พวกเขาเหล่านั้น กำลังเช็คเรื่องต่าง ๆ บนโทรศัพท์มือถือของตัว หรือใช้หูฟังแทบจะตลอดเวลา พวกเขาไม่จำต้องแหงนหน้าดูว่า รถไฟฟ้ามาถึงหรือยังด้วย เพราะเวลารถไฟฟ้ามา จะมีเสียงมา หรืออย่างน้อยคนรอบ ๆ ตัว มีการขยับตัว เป็นอันรู้ว่า รถไฟฟ้ามาแล้วจ้า นี่ยังไม่รวมว่า แม้อยู่บนรถไฟฟ้า ก็ยังสามารถพิมพ์ข้อความโต้ตอบได้อย่างคล่องแคล่ว เรื่องนี้ยังน้อยกว่าเวลาที่คนหลายคนมากินข้าวด้วยกัน แล้วต่างคนก็จดจ้องอยู่ที่หน้าจอโทรศัพท์มือถือของตัวเอง แทนที่จะนั่งคุยกัน (แล้วจะมานั่งกินข้าวด้วยกันทำไมนะ)

แล้วเขาเหล่านั้น ดูอะไรบนมือถือของตัว แล้วต้องโต้ตอบพิมพ์ข้อความเดี๋ยวนั้นเลยหรือ

ตอบว่า ต่างคนต่างมีเหตุผลของตัว บ้างก็ว่า เผื่อจะมีข่าวด่วน (ประเภทที่ว่า ดาราคนไหนกำลังจะเลิกกับใครคนไหน ดาราคนไหนไปอวดหุ่นสวย ๆ ที่ไหน) เสร็จแล้วก็ส่งต่อ ทำนองว่า ฉันน่ะรู้แล้ว เธอล่ะรู้ยัง จะมีใครทำสำรวจไหมว่า ในระหว่างที่ตรวจข้อความ หรือคลิปทั้งหลายที่ส่งมานั้น จะมีเรื่องราวคอขาดบาดตายสักเท่าไรกัน

บ้างก็ว่า เมื่อเพื่อนทักมา ฉันต้องรีบตอบกลับ มิเช่นนั้น จะเป็นการเสียมรรยาท โดยเฉพาะกรณีหลังนี้ ทำให้แทบจะทำให้คนเหล่านั้น จับจ้องและจดจ้องอยู่กับโทรศัพท์มือถือแทบจะตลอดเวลา จนเป็นเรื่องจริง ๆ ว่า หากวันไหนลืมโทรศัพท์ออกมาจากที่พักแล้ว ดูจะเป็นเรื่องราวใหญ่โตมากกว่าลืมเอากระเป๋าเงินมาด้วยซ้ำ

หลายคนจะโต้ตอบว่า เฮ้ย อย่าคิดอะไรมาก มันเป็นการพักผ่อนอย่างหนึ่ง ก็ฉันไม่มีอะไรจะทำนี่นา ระหว่างคอยโน่นคอยนี่ ก็ตรวจข้อความเสียหน่อยว่า เผื่อจะมีข้อความจาก คสช. มาถึงตัว (อันนี้ ไม่ขำ)

ที่ผมพูดอย่างนี้ ไม่ได้ทำให้เกิดความเคร่งเครียดอะไร แต่ผมว่ามีประเด็นที่เกี่ยวกับสมาธิแล้ว ที่มีการสำรวจว่า คนบางคน มีความอดทนในการอ่านน้อยมาก ไม่กี่วินาทีเท่านั้น เหตุที่เป็นดังนี้ เพราะท่านคงเป็นคนของสังคม จึงมีเรื่องราวต่าง ๆ มาปรากฏที่หน้าจอโทรศัพท์มือถือของท่านเป็นอันมาก สถานการณ์ดังนี้ ทำให้สมาธิของท่านกระทบกระเทือน เด็กนักเรียน นิสิตนักศึกษา หรือแม้คนทำงานก็ตาม หากท่านใจจดจ่ออยู่กับโทรศัพท์มือถือ แล้วประสิทธิภาพและประสิทธิผลในการเรียน หรือการทำงาน จะไม่ได้รับผลกระทบอะไรบ้างเลยหรือ

ประเด็นของเรื่องที่เฉลิมพล ไวทยางกูร เล่ามานี้ จึงอยู่ที่ ท่านที่ได้รับข้อความ หรือคลิปต่าง ๆ ไม่ว่าเรื่องอะไรก็ตาม ท่านได้ตรวจสอบบ้างหรือไม่ ว่า มันเป็นความจริง ความไม่จริง เป็นเรื่องซ้ำที่เคยส่งมาแล้วตั้งแต่ปีก่อนโน้น หรือเป็นเรื่องราวที่เกี่ยวกับตัวหรือไม่ หรือถามตัวเองบ้างหรือไม่ว่า ฉันจะส่งต่อไป (share or forward) ไปเพื่ออะไร การที่เปิดโทรศัพท์มือถือมาตรวจข้อความหรือเรื่องราวทั้งหลายทั้งปวงนั้น มีอะไรที่เป็นประโยชน์บ้างหรือไม่ การคิดอย่างนี้ หาทำให้ท่านต้องเป็นคนเคร่งเครียดอะไรแต่อย่างใดไม่ แต่ทำให้ท่านมีสติอยู่กับตัวตลอดเวลา ไม่ใช่ห่วงแต่ว่าจะไม่ได้อ่านข้อความหรือดูคลิปที่ส่งมาถึงตัว

แล้วถ้ายิ่งเป็นข่าวที่กระทบถึงตัวบุคคล ท่านยิ่งต้องให้ความระมัดระวังเป็นอย่างสูง

ลองคิดถึงตัวท่านเอง หากมีข่าวอัปมงคลเกี่ยวกับตัวท่าน แล้วท่านรู้ดีอยู่แก่ใจว่า ไม่เป็นความจริง แต่มีคนส่งต่อ (ซึ่งแน่นอนว่า ต้องมีคนมือไว ส่งต่อแน่) แล้วท่านเองจะรู้สึกอย่างไร

ฉันใด กลับกันก็ฉันนั้น  

โดย... องอาจ ทองพิทักษ์สกุล