ความพยายามในการลดความเหลื่อมล้ำ

ความพยายามในการลดความเหลื่อมล้ำ

เป็นที่ฮือฮากันมากในสัปดาห์ที่แล้วเกี่ยวกับการที่ประเทศไทยมีอันดับความเหลื่อมล้ำสูงที่สุดในโลก

สัปดาห์นี้ดิฉันจะไม่ขอพูดถึงข้อมูลนั้นแต่อยากชี้ให้เห็นถึงแนวทางซึ่งรัฐบาลประเทศต่างๆใช้ในการเลือกนโยบายเพื่อลดความเหลื่อมล้ำ

ข้อมูลต่างๆในบทความนี้ได้มาจากรายงาน The Commitment to Reducing Inequality Index 2018 ของ Oxfam ซึ่งตีพิมพ์เมื่อเดือนตุลาคมที่ผ่านมา

Oxfam ได้จัดอันดับดัชนีความมุ่งมั่นในการลดความเหลื่อมล้ำ เรียกว่า Commitment to Reduce Inequality (CRI) Index ซึ่งในปี 2018 ผลออกมาดังนี้

ผลโดยรวม

อันดับ 1. เดนมาร์ก 2. เยอรมนี 3. ฟินแลนด์ 4. ออสเตรีย 5. นอร์เวย์ 6. เบลเยียม 7. สวีเดน 8. ฝรั่งเศส 9. ไอซ์แลนด์ 10. ลักเซมเบอร์ก 11. ญี่ปุ่น 23. สหรัฐอเมริกา 74. ไทย 81. จีน 147. อินเดีย 150. สปป. ลาว 152. ภูฏาน 157. ไนจีเรีย

ดัชนีนี้แบ่งด้านย่อยที่วัดเป็นสามด้านคือ ด้านแรก การใช้เงินของรัฐบาลในด้านสังคม เช่น การศึกษา การสาธารณสุข และการปกป้องทางสังคม เพื่อลดความเหลื่อมล้ำโดยเฉพาะสำหรับกลุ่มผู้หญิงที่ยากจนที่สุด และเด็กผู้หญิงที่ต้องพึ่งพา ผู้หญิงกลุ่มนี้ ซึ่งในด้านนี้ ประเทศที่ได้อันดับหนึ่งถึงห้าได้แก่โปแลนด์ฟินแลนด์ ฝรั่งเศส ไอร์แลนด์ และเดนมาร์ก

ด้านที่สอง การใช้ภาษีในอัตราก้าวหน้า โดยนิติบุคคลและกลุ่มบุคคลที่รวยที่สุด จะถูกคิดภาษีในอัตราที่สูงกว่ากลุ่มอื่น เพื่อให้แน่ใจว่ามีรายได้เพียงพอในการนำเงินไปใช้เพื่อสาธารณะประโยชน์ อย่างไรก็ดีอัตราภาษีอาจเป็นแบบก้าวหน้า หรือเป็นแบบลดหลั่น ขึ้นอยู่กับการเลือกนโยบายของรัฐบาล โดยประเทศที่ได้รับการจัดอันดับ หนึ่งถึงห้าในด้านนี้คือ ออสเตรเลีย เดนมาร์ก แอฟริกาใต้ จอร์เจีย และเบลเยียม

และด้านสุดท้าย การตั้งค่าแรงขั้นต่ำและการปรับเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำรวมถึงการดูแลสิทธิของแรงงาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งแรงงานหญิง ทั้งนี้มีการพบหลักฐานชัดเจนว่าค่าแรงขั้นต่ำที่สูงสำหรับผู้ทำงานทั่วไป และการมีสิทธิของแรงงาน เป็นกุญแจสำคัญในการลดความเหลื่อมล้ำ โดยประเทศที่ได้รับการจัดอันดับหนึ่งในห้าของด้านนี้ คือ นอร์เวย์ เดนมาร์ก ไอซ์แลนด์เยอรมนี และสวีเดน

สำหรับไทยเราที่อันดับรวมอยู่ที่ 74 นั้น มีอันดับด้านการใช้เงินของรัฐบาลด้านสังคมอยู่ที่ 56 การใช้ภาษีในอัตราก้าวหน้า อยู่อันดับที่ 82 และการดูแลค่าแรงและสิทธิของแรงงานอยู่ในอันดับที่ 112

ดิฉันอยากให้ข้อสังเกตว่า ประเทศกำลังพัฒนาบางประเทศที่มีอันดับต่ำ ไม่ได้แปลว่าความเหลื่อมล้ำของเขาสูงนะคะ ตรงกันข้าม ความเหลื่อมล้ำของเขาอาจจะต่ำอยู่แล้ว เขาจึงไม่ต้องใช้ความพยายามในการลดความเหลื่อมล้ำมากนัก เพราะฉะนั้น เวลาใช้ข้อมูลนี้ ต้องใช้ด้วยความระมัดระวังด้วยค่ะ

ข้อสังเกตที่สองคือ ความเหลื่อมล้ำเพิ่มสูงขึ้นเมื่อประเทศพัฒนาเป็นสังคมเมืองมากขึ้น จึงต้องมีความพยายามในการลดความเหลื่อมล้ำ

ทั้งนี้รายงานนี้เสนอแนะว่า รัฐมีทางเลือกที่จะปรับปรุงนโยบายเพื่อเพิ่มผลสัมฤทธิ์ โดยควรสามารถตอบคำถามได้ว่า สิทธิของผู้ทำงานถูกปกป้องดีไหม สิทธิของผู้หญิงถูกปกป้องดีไหม และค่าแรงขั้นต่ำเพียงพอหรือไม่

สำหรับด้านภาษีนั้นมีทางเลือกหลายประการ ดิฉันขอยกตัวอย่างที่รายงานสรุปมาดังนี้

1. ภาษีกำไรจากการลงทุน หรือ Capital Gain Tax โดยประมาณ 90% ของประเทศที่สำรวจ มีการเก็บภาษีกำไรจากการลงทุน

2. ภาษีบนรายรับทางการเงิน เช่น ดอกเบี้ย เงินปันผล กำไรจากการลงทุนในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ และกองทุนรวม

3. ภาษีบนรายการทางการเงิน มีเก็บอยู่ในบางประเทศ เช่น ภาษีจากการโอนหุ้น หรือ โอนทรัพย์สิน

4. ภาษีจากอสังหาริมทรัพย์ เกือบทุกประเทศที่สำรวจ จะมีภาษีชนิดนี้ทั้งหมด โดยมีตั้งแต่ ของเนเธอร์แลนด์ เก็บ 0.1% ไปจนถึง ประเทศเซเนกัล ซึ่งเก็บถึง 5%

5. ภาษีมรดก / ภาษีจากการรับมรดก ซึ่งมีการเก็บประมาณสามในสี่ของประเทศที่สำรวจ โดยมีข้อสังเกตว่าประเทศเกาหลีใต้ มีอัตราการเก็บสูงที่สุดและก้าวหน้ามากที่สุด ในขณะที่ประเทศอิตาลี มีอัตราการเก็บที่ต่ำและค่อนข้างเป็นอัตราไม่ค่อยก้าวหน้า ทั้งนี้โดยทั่วไปประเทศกำลังพัฒนาจะมีอัตราภาษีประเภทนี้ต่ำกว่าประเทศพัฒนาแล้วในกลุ่มโออีซีดี และมีบางประเทศในกลุ่มโออีซีดียกเลิกภาษีการรับมรดกไปแล้ว เช่นออสเตรเลีย ที่ดิฉันเคยเขียนถึง

6. ภาษีความมั่งคั่งจากสินทรัพย์ที่ไม่ใช่อสังหาริมทรัพย์ ซึ่งปัจจุบัน มีเพียง 9 ประเทศ เท่านั้น ที่เก็บ ภาษีประเภทนี้ ในขณะที่ ในปี 1990 มีการเก็บภาษีประเภทนี้ถึง 14 ประเทศ เช่น ลักเซมเบอร์ก เคยเก็บภาษีความมั่งคั่งนิติบุคคลจากสินทรัพย์ของบริษัทในอัตรา 3% แต่ปัจจุบันได้ยกเลิกไปแล้ว

ไม่ว่าจะใช้มาตรการใด หากรัฐมีความกล้าที่จะทำ และสามารถทำได้อย่างมีประสิทธิภาพ นำงบประมาณมาใช้อย่างระมัดระวัง มีการศึกษาผลลัพธ์จากการใช้นโยบาย และมีการเก็บข้อมูลที่มีประสิทธิภาพ ดิฉันคิดว่าจะทำให้ประชาชนทั่วไปเห็นความพยายาม และอยากมีส่วนร่วม เชื่อว่า ไม่มีใครอยากสุขสบายในขณะที่เพื่อนร่วมชาติลำบากยากเข็ญแน่นอนค่ะ