รับมือกับ fake news

รับมือกับ fake news

เราเห็นข่าวลวงในสมาร์ทโฟนกันบ่อยมากจนไม่อยากเชื่ออะไรง่ายๆ แต่ก็ไม่รู้จะแยกแยะอย่างไร ข่าวลวงหรือสารสนเทศปลอมหรือfake news

 เป็นสิ่งที่เราต้องเผชิญอีกยาวนานและบางครั้งมีผลต่อการตัดสินใจสำคัญในชีวิตเอาด้วย

fake news มีมายาวนานแล้วตั้งแต่มีมนุษย์เป็นตัวตนแบบปัจจุบัน เมื่อ 150,000 ปีก่อน เพื่อทำลายคู่แข่งหรือศัตรูจนแม้กระทั่งใช้ในสงครามเพื่อลวงข้าศึก นิยายจีนคลาสสิกสามก๊ก มหาภารตะหรือแม้แต่รามเกียรติ์ ก็มี fake news

สิ่งที่เรียกว่าfake newsนั้น แยกออกได้เป็น 3 ลักษณะกล่าวคือ (1)ข่าวลือหรือเรื่องลวงโลก(เช่นฝุ่นจะบังโลกจนแสงแดดจากพระอาทิตย์ส่องไม่ถึงโลกจะมืดเป็นเวลาหลายวัน) (2) misinformation ซึ่งหมายถึงสารสนเทศที่ไม่ถูกต้องโดยมาจากความผิดพลาดโดยไม่ตั้งใจ (3) disinformation คือสารสนเทศไม่จริงที่มีผู้จงใจปล่อยออกมาเพื่อหลอกลวงผู้คน fake newsนั้นอยู่ในประเภทข่าวลวงโลกและdisinformation

นับตั้งแต่เกิดโลกsocial mediaในทศวรรษ1990 fake newsก็เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นไม่เว้นแต่ละวันโดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อคำว่า fake news ถูกใช้โดย Donald Trump ซึ่งมีความหมายแตกต่างออกไป กล่าวคือเป็นสารสนเทศที่ไม่เป็นผลดีกับตัวเขาหรือออกจากแหล่งของสื่อที่เขาไม่ชอบเพราะไม่ เชียร์เขา ที่ขบขันคือตัวTrumpเอง เป็นแหล่งของfake newsเสียเองเพราะเขาชอบพูดสิ่งที่ไม่จริงอย่างหน้าเฉยตาเฉยไม่อายฟ้าดิน(สถิติก็คือโกหก4,229ครั้งใน558วันที่เป็นประธานาธิบดีหรือเฉลี่ยวันละ7.6ครั้ง)

fake news ไม่มีวันหมดไปจากโลกตราบที่มีคนเชื่อและมีคนชั่วที่สร้างมันขึ้นมาตลอดเวลาเนื่องจากมนุษย์ต้องใช้สื่ออยู่เสมอ ไม่ว่าจะเป็นหนังสือพิมพ์ โทรทัศน์ หรือโซเชียลมีเดียในปัจจุบัน นักสังคมวิทยาชื่อElihu Katz (1960)ระบุว่ามี5เหตุผลที่เราใช้สื่อ กล่าวคือ (1)เพื่อให้ได้มาซึ่งข้อมูลข่าวสารและเพื่อให้การศึกษาแก่ตนเอง (2)เพื่อความบันเทิง (3)เพื่อให้เราสามารถบอกตัวเราเองได้ว่าเราเป็นใครจากการดูผู้คนในสื่อเช่นเป็นคนประเภทใดเป็นคนคิดแบบใดเป็นคนมีฐานะในสังคมและเศรษฐกิจระดับใดฯลฯจากการเปรียบเทียบเพื่อความเข้าใจตนเอง (4) เพื่อการสนทนาโดยสามารถเอาเรื่องที่พานพบในสื่อไปพูดคุยกับคนอื่นๆได้เนื่องจากมนุษย์เป็น“สัตว์สังคม” และ(5)เพื่อหลีกหนีชีวิตจริงไปสู่โลกแห่งความสนุกและความฝัน

เมื่อเราจำเป็นต้องใช้สื่อด้วยเหตุผลดังกล่าว เราจึงไม่มีวันหลีกหนีมันได้แน่นอนโดยเฉพาะอย่างยิ่งต้องพบfake newsที่มีอยู่ดาษดื่นจนอ่านไม่ไหว มีคำแนะนำอยู่หลายประการจากผู้รู้ว่าจะรู้ได้อย่างไรว่ามันเป็นfake news

(1)ดูแหล่งที่มาให้ตรวจสอบที่มาเช่นเว็บไซต์ พันธกิจของแหล่ง จุดที่สามารถติดต่อได้ (2)อ่านทั้งหมด อย่าอ่านแต่เพียงหัวเรื่องที่มักเขียนเว่อร์เพื่อให้คลิกเข้าอ่านและนำไปพูดต่อ ต้องอ่านเรื่องราวทั้งหมดและประเมินว่าพอเป็นจริงไหม (3)ตรวจสอบคนเขียน เช็คว่าเป็นใคร มีตัวตนจริงหรือไม่ น่าเชื่อถือไหม อย่าเพียงแค่เห็นชื่อก็เชื่อทันที (4)ตรวจแหล่งอื่นที่ใกล้เคียง คลิกไปที่แหล่งเหล่านั้นเพื่อหาข้อมูลสนับสนุนและพิจารณาข่าวที่สงสัย (5)ตรวจสอบวันที่เหตุการณ์เกิดขึ้น บ่อยครั้งที่fake newsเอาข่าวเก่าที่เกิดขึ้นจริงมาฉายซ้ำ(เช่นเมื่อเร็วๆนี้มีรูปการพบเครื่องบินลำที่เพิ่งตกแต่ไปเอารูปเก่ามา) ต้องสังเกตรายละเอียดในภาพว่าไม่ขัดแย้งกับสิ่งที่เขาบอก (6)ตรวจว่าเป็นเรื่องตลกหรือประชดประชันหรือไม่ค้นคว้าที่เว็บไซต์และหาตัวผู้เขียน (7)เช็คว่าความเอนเอียงของเราช่วย บดบังวิจารณญาณหรือไม่(เช่นไม่ชอบคนนี้เมื่อมีข่าวไม่ดีมาก็เชื่อทันที) (8)ถามผู้เชี่ยวชาญหรือเช็คกับแหล่งที่ให้ข้อมูลก่อนที่จะเชื่อ

ปัจจุบันมีสิ่งที่หลอกลวงเราได้ลึกซึ้งกว่านั่นก็คือ deepfake หรือเทคโนโลยีช่วยตัดต่อคลิปปลอมเพื่อลวงให้เข้าใจผิดเช่นภาพที่คนหนึ่งพูดเป็นเรื่องเป็นราวที่น่าเกลียด ทุกคำพูดเขาได้พูดออกมาจริงแต่ต่างกรรมต่างวาระกัน แต่คนตัดต่อสามารถเอาแต่ละคำพูด ประโยคเหล่านั้นมาตัวต่อเรียงกันอย่างแนบเนียน

deepfake ทำได้ดีมากเพราะใช้AI (ปัญญาประดิษฐ์)ที่เรียนรู้ลักษณะหน้าตา ท่าทาง ตลอดจนท่วงทำนองการพูดของบุคคลที่จะนำไปตัดต่อคลิป เทคโนโลยีมีหลายรูปแบบมีทั้งการเอาหน้าคนหนึ่งไปใส่อีกคนหนึ่ง การแสดงอารมณ์ของหน้าคนต่อคำพูดที่ไม่ใช่สิ่งที่ได้ยินจริง การเอาการขยับร่างกายของคนหนึ่งมาตัดต่อให้แก่อีกคนหนึ่ง ฯลฯ ปัจจุบันมีแอพพลิเคชั่นที่เอามาสร้างdeepfakeกันได้ไม่ยากด้วยอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ธรรมดา

สังคมไทยเราที่เชื่ออะไรง่ายโดยขาดการไตร่ตรองคิดวิเคราะห์ ประชาชนรู้ไม่เท่าทันมีเดียสมัยใหม่ นิยมข่าวลือโดยเฉพาะข่าวซุบซิบ มีความเอนเอียงแบ่งแยกไม่ชอบกันสูงฯลฯโดยเฉพาะในฤดูกาลใกล้เลือกตั้ง เราจะพบfake newsกันทุกวันจากคนต้องการขายสินค้าโฆษณาตัวเอง ต้องการล้างสมองให้เชื่อสิ่งที่เขาศรัทธาให้เชื่อคำโฆษณาชวนเชื่อ และมีความนิยมพรรคการเมือง การตั้งการ์ดป้องกันfake newsจึงเป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่งเพื่อไม่ให้ถูกหลอกลวงและถูกใช้เป็นเครื่องมือ

ไม่ว่าใครจะพยายามหลอกเราด้วย fake news อย่างใดก็ตาม คนสุดท้ายที่จะทำให้งานชั่วร้ายของเขาประสบผลสำเร็จหรือไม่ก็คือตัวเราเอง จงเริ่มต้นด้วยความสงสัยสารสนเทศที่ได้รับไว้ก่อน คิดไตร่ตรองและถ้าไม่จำเป็นอย่าแชร์ต่อ