เหตุผลที่ภาคธุรกิจควรซื้อขายคาร์บอนเครดิต

เหตุผลที่ภาคธุรกิจควรซื้อขายคาร์บอนเครดิต

หากย้อนกลับไปอ่านบทความ “ภาษีคาร์บอนเครดิตและข้อสังเกตบางประการ” ในคอลัมน์กฎหมาย 4.0 เมื่อวันที่ 23 ส.ค.2561 จะพบว่า ผู้เขียนได้กล่าวสรุปถึง

การสร้างระบบการซื้อขายสิทธิการปล่อยมลภาวะที่มีเป้าหมายด้านการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมให้มีความยั่งยืนด้วยการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของภาคอุตสาหกรรมรวมถึงภาคธุรกิจอื่นๆ จนกระทั่งมีการนำระบบดังกล่าวมาผูกโยงกับการเป็นเครื่องมือทางการเงิน ซึ่งนำมาสู่การมีรายได้และนำรายได้มาเสียภาษีอากรที่เกี่ยวข้อง แต่ปัจจัยด้านราคาคาร์บอนเครดิตในตลาดคาร์บอน ปัจจัยด้านภาระภาษีมูลค่าเพิ่มจากการจำหน่ายคาร์บอนเครดิตของผู้ประกอบการและปัจจัยมูลค่าการลงทุนในโครงการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ยังเป็นตัวแปรที่สำคัญที่มีผลต่อการตัดสินใจดำเนินโครงการของผู้ประกอบการ

อย่างไรก็ตาม เว็บไซต์ carbonsolutionsglobal.com ได้กล่าวถึงเหตุผลสำคัญบางประการอันเป็นที่ทราบโดยทั่วไปที่ทำให้ภาคธุรกิจหรือหน่วยงานต่าง ๆ ควรทำการซื้อขายคาร์บอนเครดิต ซึ่งผู้เขียนนำมาเรียบเรียงและสรุป มีสาระสำคัญดังนี้

1) การทำให้บรรลุเป้าหมายของการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกตามปริมาณที่องค์กรได้กำหนด เนื่องจากในบางกรณีองค์กรหรือหน่วยงานไม่สามารถดำเนินการให้มีการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกตามปริมาณที่กำหนดโดยกฎหมายหรือหน่วยงานของรัฐได้ หรือการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกตามปริมาณที่กำหนดอาจมีต้นทุนสูงกว่าการซื้อสิทธิการปล่อยก๊าซเรือนกระจกหรือคาร์บอนเครดิตจากตลาดคาร์บอนเครดิต

2) การซื้อขายสิทธิการปล่อยก๊าซเรือนกระจกหรือคาร์บอนเครดิตเป็นการปฏิบัติตามกฎหมายหรือกฎระเบียบที่เกี่ยวข้อง เนื่องจากในบางประเทศได้มีการตรากฎหมายหรือกฎระเบียบที่เกี่ยวกับหน้าที่ขององค์กรธุรกิจในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ตลอดจนการซื้อขายคาร์บอนเครดิตในตลาดคาร์บอนเครดิตภาคบังคับและตลาดคาร์บอนเครดิตภาคสมัครใจ

3) การลดความเสี่ยงทางธุรกิจด้วยการเพิ่มมูลค่าของธุรกิจจากการซื้อขายคาร์บอนเครดิต เนื่องจากหากพิจารณาจากมุมมองของนักลงทุนแล้วจะพบว่า การเพิ่มปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกขององค์กรในสถานการณ์ที่ทุกฝ่ายต่างยอมรับว่า ต้องมีการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสู่สิ่งแวดล้อมนั้นถือเป็นความเสี่ยงทางธุรกิจ ดังนั้นการซื้อขายคาร์บอนเครดิตจึงช่วยลดความเสี่ยงทางธุรกิจได้

4) การสื่อสารการตลาดเพื่อสร้างการรับรู้ ความเข้าใจให้กับผู้บริโภคหรือกลุ่มเป้าหมายตามที่องค์กรธุรกิจได้กำหนด เช่น การสร้างชื่อเสียงในชื่อยี่ห้อหรือสร้างสินค้าหรือบริการให้มีความแตกต่างจากคู่แข่งทางธุรกิจ การประชาสัมพันธ์บทบาทด้านสิ่งแวดล้อมขององค์กร เป็นต้น โดยองค์กรธุรกิจอาจขายสินค้าที่มีส่วนช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสู่สิ่งแวดล้อม ทำการซื้อขายคาร์บอนเครดิตหรือประชาสัมพันธ์ภาพลักษณ์ด้านสิ่งแวดล้อมขององค์กรไปสู่คู่ค้าทางธุรกิจ ลูกค้า ตลอดจนคู่แข่งทางธุรกิจ ซึ่งการดำเนินการดังกล่าวเป็นการสื่อสารการตลาดรูปแบบหนึ่งที่ก่อให้เกิดประโยชน์แก่องค์กรธุรกิจและสร้างความนิยมในชื่อยี่ห้อเช่นเดียวกัน

5) การสร้างแรงผลักดันให้กับระบบตลาดด้วยการที่กลุ่มบริษัทขนาดใหญ่เข้ามามีบทบาทในการเป็นผู้นำ ด้านการยอมรับผูกพันหรือปฏิบัติตนในฐานะที่เป็นองค์กรที่ใส่ใจต่อคุณภาพสิ่งแวดล้อม โดยกลุ่มบริษัทขนาดใหญ่มีการกำหนดรูปแบบของธุรกิจและดำเนินธุรกิจในลักษณะที่มีจิตสำนึกที่ดีด้านการคุ้มครองสิ่งแวดล้อม เช่น การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสู่สิ่งแวดล้อม หรือการซื้อขายคาร์บอนเครดิต เป็นต้น ซึ่งบทบาทดังกล่าวนี้ได้ส่งผ่านไปยังบริษัทในเครืออันเป็นส่วนหนึ่งของห่วงโซ่อุปทาน ทำให้ต้องกำหนดรูปแบบของธุรกิจและดำเนินธุรกิจไปในแนวทางเดียวกัน ดังนั้นกลุ่มบริษัทขนาดใหญ่จึงสร้างแรงผลักดันในทางบวกให้กับระบบตลาดได้

นอกจากนี้ การซื้อขายคาร์บอนเครดิตยังทำให้เกิดผลกำไรทางธุรกิจ เนื่องจากปัจจุบันคาร์บอนเครดิตกลายเป็นสินค้าที่มีมูลค่าอีกชนิดหนึ่ง การซื้อขายคาร์บอนเครดิตตามหลักการทุนนิยมนั้น ส่งผลทำให้องค์กรธุรกิจที่มีสถานะเป็นผู้ขายคาร์บอนเครดิตได้รับผลกำไรจากการขายคาร์บอนเครดิตให้กับผู้ซื้อ ซึ่งเป็นผลตอบแทนที่น่าลงทุนนอกเหนือจากรายได้จากการประกอบกิจการตามปกติของธุรกิจ อีกทั้งการซื้อขายคาร์บอนเครดิตยังก่อให้เกิดธุรกิจใหม่ เช่น ธุรกิจตัวแทนนายหน้าซื้อขายคาร์บอนเครดิต ธุรกิจที่ปรึกษาการซื้อขายคาร์บอนเครดิต เป็นต้น การเกิดขึ้นของธุรกิจใหม่ข้างต้นส่งผลทำให้เกิดโอกาสการจ้างงานในระบบเศรษฐกิจของประเทศ

แรงจูงใจอีกประการที่สำคัญคือ การที่กฎหมายได้บัญญัติให้มีการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลให้แก่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลสำหรับกำไรสุทธิในการดำเนินการโครงการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกตามที่กำหนดในแต่ละโครงการ เฉพาะส่วนที่เกิดจากการจำหน่ายคาร์บอนเครดิตไม่ว่าจะกระทำในหรือนอกประเทศเป็นเวลาสามรอบระยะเวลาบัญชีต่อเนื่องกัน ทั้งนี้ตามหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขที่อธิบดีกรมสรรพากรประกาศกำหนด ดังนั้นองค์กรธุรกิจที่มีสถานะเป็นบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลจึงได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษีจากการขายคาร์บอนเครดิตอีกทางหนึ่งด้วย

จากที่กล่าวมาข้างต้นจะเห็นได้ว่า แม้ว่าจะมีปัจจัยต่าง ๆ ที่มีผลกระทบต่อการตัดสินใจดำเนินโครงการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของผู้ประกอบการก็ตาม แต่เมื่อได้พิจารณาเหตุผลสำคัญบางประการที่ทำให้ภาคธุรกิจหรือหน่วยงานต่าง ๆ ควรทำการซื้อขายคาร์บอนเครดิตดังที่ได้กล่าวถึงข้างต้นแล้ว ผู้เขียนเห็นว่า ภาคธุรกิจหรือหน่วยงานต่างๆ ควรดำเนินธุรกิจในลักษณะที่มีจิตสำนึกที่ดีด้านการคุ้มครองสิ่งแวดล้อม เพื่อสร้างโอกาสในการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับองค์กร และสร้างผลตอบแทนในรูปตัวเงินให้กับธุรกิจ อันส่งผลทำให้การดำเนินธุรกิจมีความยั่งยืนในที่สุด.

โดย... 

ดร.กฤษรัตน์ ศรีสว่าง

คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์