DR : ทางเลือกใหม่ เทรดในไทย แต่ไปไกลถึงเมืองนอก

DR : ทางเลือกใหม่ เทรดในไทย แต่ไปไกลถึงเมืองนอก

Depositary Receipt (DR) หรือ “ตราสารแสดงสิทธิการฝากหลักทรัพย์ต่างประเทศ”

เป็นตราสารที่ผู้ออก DR ซึ่งมักเป็นธนาคารพาณิชย์หรือบริษัทหลักทรัพย์ท้องถิ่นนำเสนอให้กับผู้ลงทุนในประเทศที่ต้องการลงทุนในหลักทรัพย์ต่างประเทศ แทนการซื้อขายหลักทรัพย์ต่างประเทศโดยตรง ทั้งนี้ เนื่องจากกลไกหลักของ DR ก็คือการที่ผู้ออก DR ไปซื้อหลักทรัพย์ในต่างประเทศมาเก็บไว้กับผู้รักษาทรัพย์สินจากนั้นก็ออกใบแทนหรือใบรับฝากหลักทรัพย์ต่างประเทศซึ่งเรียกว่า DR นี้ออกมาขายให้ผู้ลงทุน ดังนั้น การซื้อขาย DR จึงเปรียบเสมือนการซื้อขายหลักทรัพย์ต่างประเทศ เพียงแต่ซื้อขายเป็นเงินสกุลท้องถิ่นและลดขั้นตอนและความยุ่งยากจากการลงทุนโดยตรงในต่างประเทศ

DR นั้นมีชื่อเรียกที่หลากหลายและมีการซื้อขายกันทั่งโลก ตัวอย่างหนึ่งที่รู้จักกันอย่างแพร่หลาย คือ DR ในสหรัฐอเมริกา ซึ่งชื่อเฉพาะว่า American Depositary Receipt หรือ ADR โดยในสหรัฐอเมริกา DR ได้รับความนิยมมาก และสามารถซื้อขายได้ทั้งในตลาดหลักทรัพย์ (เช่น ตลาด NYSE, ตลาด Nasdaq เป็นต้น) และในตลาด OTC ซึ่งในสหรัฐอเมริกานั้น ADR อาจเกิดจากการที่ผู้ออก ADR ซึ่งเป็นธนาคารพาณิชย์ร่วมมือกับบริษัทที่เป็นเจ้าของหุ้นในต่างประเทศ และนำมาซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ หรือเกิดการที่ผู้ออกดำเนินการเองโดยไม่ได้ร่วมมือกับบริษัทเจ้าของหุ้นก็ได้

การซื้อขาย DR นั้นได้รับความนิยมจากทั่วโลก จากข้อมูลในรายงานของ Citi Group ผู้ให้บริการเกี่ยวกับการออก DR (Citi Depository Receipt Services: Year-End 2017 Report) ระบุว่า ในปี 2017 มีมูลค่าการซื้อขาย DR ในตลาดหลักทรัพย์ทั่วโลกสูงถึง 3.4 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือเติบโตจากมูลค่าการซื้อขายในปี 2016 ประมาณ 16% และมีตลาดสำคัญที่มีปริมาณการซื้อขายสูง ได้แก่ NYSE และ NASDAQ โดย ADR ที่ได้รับความนิยมเป็นตราสารที่อ้างอิงกับบริษัทขนาดใหญ่จากประเทศจีน ทั้งนี้ ในสหรัฐอเมริกานั้น การที่บริษัทร่วมกับธนาคารในสหรัฐอเมริกาในการออก DR นั้น นอกจากจะช่วยให้บริษัทสามารถระดมทุนได้แล้ว ยังเป็นการดึงดูดผู้ลงทุนต่างชาติและช่วยสร้าง Reputation ของบริษัทให้เป็นที่รู้จักในระดับสากลอีกด้วย

สำหรับตลาดทุนไทยนั้น เราอยู่ในช่วงเริ่มต้นการพัฒนาผลิตภัณฑ์ DR ในตลาดทุนไทยเพื่อเป็นทางเลือกให้แก่ผู้ลงทุนไทยที่ต้องการกระจายการลงทุนไปในต่างประเทศ ตามหลักเกณฑ์ของ DR ในปัจจุบัน ผู้ออก DR (DR Issuer) เป็นได้ทั้งธนาคารพาณิชย์ หรือบริษัทหลักทรัพย์ และ DR ที่ออกนั้นสามารถมีหลักทรัพย์อ้างอิงเป็นหุ้นต่างประเทศ หรือเป็น ETF (Exchange Traded Fund) ต่างประเทศที่ซื้อขายอยู่ในตลาดหลักทรัพย์ต่างประเทศที่หน่วยงานกำกับดูแลยอมรับ การซื้อขาย DR นั้น จะดำเนินการผ่านบริษัทหลักทรัพย์ที่ผู้ลงทุนเปิดบัญชีซื้อขายดังเช่นการซื้อขายหุ้นทั่วไปในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย

การตัดสินใจลงทุนใน DR นั้น ผู้ลงทุนคงต้องอาศัยหลักการเดียวกันกับการลงทุนในหลักทรัพย์ทั่วไป อย่างแรก ก็คือต้องมีการพิจารณาด้านปัจจัยด้านพื้นฐาน (Fundamental Analysis) ของหลักทรัพย์อ้างอิง ไม่ว่าหุ้นหรือ ETF เช่น พิจารณาสภาวะเศรษฐกิจของประเทศที่หลักทรัพย์นั้นซื้อขาย แนวโน้มการเติบโตของภาคอุตสาหกรรมที่หุ้นอ้างอิงนั้นดำเนินการอยู่ รวมถึงความสามารถในการดำเนินธุรกิจของบริษัทที่เป็นหุ้นอ้างอิงของ DR โดยผู้ลงทุนจะสามารถติดตามข้อมูลของ DR และหลักทรัพย์ต่างประเทศที่เป็นหลักทรัพย์อ้างอิงได้จากการเปิดเผยข้อมูลของผู้ออก DR ผ่านช่องทางของผู้ออก และการเผยแพร่ข่าวของตลาดหลักทรัพย์ฯ

ประเด็นที่สอง DR ที่ซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ไทยจะทำการซื้อขายในสกุลเงินบาท โดยทั่วไปแล้วราคาของ DR ที่ซื้อขายจึงควรจะใกล้เคียงกับราคาของหลักทรัพย์ต่างประเทศ ปรับด้วยอัตราแลกเปลี่ยน ดังนั้น ผู้ลงทุนยังต้องคำนึงถึงความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นจากความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยน ควบคู่ไปกับการเปลี่ยนแปลงของมูลค่าหลักทรัพย์อ้างอิงด้วย และสุดท้ายการลงทุน DR นั้น ผู้ลงทุนจะได้รับสิทธิประโยชน์ที่ผู้ถือหุ้นพึงได้ เช่น เงินปันผล แต่เนื่องจากผู้ออกจะมีค่าใช้จ่ายต่างๆ ที่เกิดขึ้นในการเก็บรักษาและได้มาซึ่งผลประโยชน์นั้นๆ ดังนั้น ค่าใช้จ่ายดังกล่าวจะถูกหักออกจากประโยชน์ที่จะได้รับ ดังนั้น ผู้ลงทุนจะต้องศึกษาและสอบถามข้อมูลดังกล่าวให้เข้าใจเพื่อประกอบการพิจารณาลงทุน

ในเดือนธันวาคมนี้ ตลาดหลักทรัพย์ฯ จะเปิดให้มีการซื้อขาย DR ตัวแรกซึ่งผู้ออก DR คือบริษัทหลักทรัพย์บัวหลวงจำกัด (มหาชน) โดย DR นี้เรียกว่า E1VFVN3001 ซึ่งเป็น DR ที่อ้างอิงอยู่กับ ETF ซึ่งเป็นกองทุนที่ลงทุนในหุ้นเวียดนามจำนวน 30 บริษัทตามดัชนีหุ้น VN30 นับเป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่ผู้ลงทุนจะสามารถเข้าถึงหุ้นของประเทศเวียดนามได้โดยสะดวก และต้องการกระจายการลงทุนมากกว่าการลงทุนในหลักทรัพย์ใดหลักทรัพย์หนึ่งโดยเฉพาะ ทั้งนี้ การลงทุนในตราสารใหม่ๆนี้ ผู้ลงทุนควรต้องศึกษารายละเอียด สิทธิประโยชน์ และค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องก่อนลงทุน