วิเคราะห์พลวัตของบริษัทไทยจากข้อมูลการจัดตั้งธุรกิจ

วิเคราะห์พลวัตของบริษัทไทยจากข้อมูลการจัดตั้งธุรกิจ

ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา จำนวนธุรกิจที่จัดตั้งใหม่ของไทยเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง หากวิเคราะห์จากข้อมูลการจดทะเบียนธุรกิจของกรมพัฒนาธุรกิจการค้า

พบว่า อัตราการเติบโตเฉลี่ยของจำนวนบริษัทที่จดทะเบียนใหม่ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมาเพิ่มขึ้นโดยเฉลี่ย 6.5% ต่อปี จากปี 2007 ที่ 33,729 บริษัท เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 62,997 บริษัทในปี 2017 จำนวนบริษัทใหม่ที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่วนหนึ่งเป็นผลจากสภาพแวดล้อมการทำธุรกิจที่ง่ายและสะดวกขึ้น สะท้อนจากการจัดอันดับ Ease of Doing Business โดยธนาคารโลกในปี 2018 ไทยได้รับการจัดอันดับเป็นประเทศที่ประกอบธุรกิจได้สะดวกเป็นอันดับที่ 27 จาก 190 ประเทศ สะท้อนได้จากเครื่องชี้ที่ดีขึ้น เช่น เวลาที่ใช้ในการจัดตั้งธุรกิจลดลง โดยในปี 2017 ธุรกิจไทยใช้เวลาจัดตั้งกิจการเฉลี่ยเพียง 4.5 วันเมื่อเทียบกับ 35 วันในปี 2007 หรือ ต้นทุนในการเริ่มต้นกิจการลดลงจากเดิมที่ 16.2% ของรายได้ต่อหัวของประชากรในประเทศเหลือ 6.2% ในช่วงเวลาเดียวกัน

วิเคราะห์พลวัตของบริษัทไทยจากข้อมูลการจัดตั้งธุรกิจ

แม้ว่าจำนวนบริษัทใหม่จะเพิ่มขึ้น แต่พบว่าธุรกิจไทยมีอายุสั้นลงกว่าอดีตเมื่อเทียบกับในช่วงที่ผ่านมา อีไอซีได้วัดอายุการประกอบกิจการของบริษัทที่เปิดดำเนินการในแต่ละช่วงเวลา (รูปที่ 1) พบว่าบริษัทที่เริ่มธุรกิจในปี 2005 เมื่อดำเนินกิจการผ่านไป 5 ปีจะมีอัตราการอยู่รอดที่ 86.3% หรือมีสัดส่วนจำนวนบริษัท 13.7% ที่มีอายุกิจการไม่ถึง 5 ปี ในขณะที่บริษัทที่เริ่มกิจการในปี 2010 เมื่อผ่านไป 5 ปีจะเหลือจำนวนบริษัทเพียง 78.9% หรือมีจำนวนบริษัทที่มีอายุกิจการไม่ถึง 5 ปีสูงขึ้นเป็น 21.1% ของบริษัทที่เริ่มกิจการในปีเดียวกัน ทำให้เห็นว่าธุรกิจไทยมีโอกาสอยู่รอดน้อยลงกว่าที่ผ่านมา ทั้งนี้ ปรากฎการณ์ดังกล่าวถือเป็นประสบการณ์ที่เกิดในหลายประเทศทั่วโลก ตัวอย่างเช่น งานวิจัยของ Tuck School of Business, Dartmouth College ในปี 2016 พบว่า บริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์สหรัฐฯ ในช่วงปี 2000-2009 มีอัตราการอยู่รอดเพียง 63% หลังจากจดทะเบียนไป 5 ปีซึ่งลดลงอย่างชัดเจนเมื่อเทียบกับบริษัทที่จดทะเบียนระหว่างปี 1970-1980 ซึ่งมีอัตราการอยู่รอดถึงราว 92%

ปัจจัยที่ทำให้อัตราการอยู่รอดของธุรกิจของไทยลดลงมีหลายมิติ ในส่วนของผู้ประกอบการ ธุรกิจใหม่ในปัจจุบันมีสัดส่วนของผู้เล่นหน้าใหม่ที่สูงขึ้นเมื่อเทียบกับในอดีต เรานิยามผู้เล่นหน้าใหม่คือผู้ประกอบการที่ไม่ปรากฏชื่อเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ของธุรกิจใดๆในอดีต ข้อมูลชี้ว่าสัดส่วนของบริษัทเปิดใหม่ที่ถือครองด้วยผู้เล่นหน้าใหม่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นโดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วง 10 ปีที่ผ่านมาจากเดิม 66% ในปี 2007 เป็น 73% ในปี 2017 ของจำนวนบริษัทที่เปิดใหม่ทั้งหมด และเมื่อเปรียบเทียบอัตราการอยู่รอดของทั้งสองกลุ่มพบว่า ผู้เล่นหน้าใหม่มีอัตราการอยู่รอดต่ำกว่าผู้เล่นหน้าเก่า ส่วนหนึ่งอาจสะท้อนข้อได้เปรียบเชิงประสบการณ์ของผู้เล่นหน้าเก่าที่อาจช่วยให้อยู่รอดในธุรกิจได้มากกว่าผู้เล่นหน้าใหม่โดยเฉลี่ย

นอกจากนั้น การเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างก็มีส่วนทำให้อัตราการอยู่รอดของธุรกิจใหม่ของไทยลดลงเช่นกัน ในช่วง 2000-2015 สัดส่วนของธุรกิจเปิดใหม่ในภาคบริการเพิ่มจาก 46% มาเป็น 58% ของธุรกิจใหม่ในแต่ละปี สอดคล้องกับภาคบริการที่มีบทบาทต่อเศรษฐกิจไทยมากขึ้นและมีต้นทุนการเปิดธุรกิจที่ต่ำกว่าภาคการผลิตโดยเปรียบเทียบ อย่างไรก็ดี อีไอซีพบว่าอัตราการอยู่รอดของธุรกิจภาคบริการต่ำกว่าเมื่อเทียบกับภาคการผลิตและมีแนวโน้มที่ต่ำลงตามลำดับ โดยอัตราการอยู่รอดในช่วง 5 ปีแรกของภาคบริการลดลงจาก 89% ในปี 2000 มาอยู่ที่ 78% ในปี 2010 ที่น่าสนใจ คือ กลุ่มธุรกิจสำคัญที่มีอัตราการอยู่รอดลดลงมาก ได้แก่ กลุ่มค้าส่งค้าปลีก กลุ่มก่อสร้าง และกลุ่มอสังหาริมทรัพย์ ในแง่หนึ่งอาจเป็นผลจากการแข่งขันที่ท้าทายขึ้น เพราะ จำนวนผู้เล่นใหม่ในกลุ่มธุรกิจเหล่านี้เพิ่มขึ้นในอัตราที่สูงกว่า GDP ของภาคธุรกิจดังกล่าวในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ซึ่งหมายถึงรายได้เฉลี่ยต่อธุรกิจที่ลดลงด้วย แต่นอกจากนั้นทั้งสามกลุ่มธุรกิจยังได้รับผลกระทบด้านลบเพิ่มเติมจากเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงและการแข่งขันจากผู้เล่นรายใหญ่ที่สามารถปรับตัวและใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีได้ดีกว่าผู้เล่นรายเล็กซี่งเป็นส่วนใหญ่ของผู้เล่นหน้าใหม่ ซึ่งสอดคล้องกับข้อมูลของธนาคารแห่งประเทศไทยที่ชี้ว่าอัตรา NPL ของสินเชื่อในหมวดธุรกิจดังกล่าวในปัจจุบันอยู่ในระดับสูงและมีความแตกต่างระหว่างสินเชื่อของธุรกิจขนาดใหญ่และสินเชื่อ SME ค่อนข้างมาก

การเกิดและการตายของธุรกิจเป็นสิ่งปกติที่เกิดขึ้นภายใต้ระบบตลาดเสรี เพราะเป็นกลไกที่นำไปสู่การจัดสรรทรัพยากรให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ผ่านการเคลื่อนย้ายทรัพยากรจากธุรกิจที่มีประสิทธิภาพต่ำกว่าไปยังธุรกิจที่มีประสิทธิภาพสูงกว่า หรือที่เราเรียกว่า Creative Destruction สิ่งที่ภาครัฐควรให้ความสำคัญจึงเป็นการสร้างบรรยากาศทางเศรษฐกิจที่เอื้อต่อการเกิดขึ้นของธุรกิจใหม่ที่มีแนวคิดเชิงธุรกิจที่แตกต่างและมีศักยภาพ สนับสนุนการแข่งขันที่เป็นธรรม และเสริมสร้างความสามารถของธุรกิจหน้าใหม่ให้พร้อมกับความท้าทายที่สูงขึ้น ขณะที่ภาคเอกชนต้องมี 3 รู้ คือ รู้จักตลาดที่จะแข่งขัน รู้ทันเทคโนโลยี และเรียนรู้จากประสบการณ์อย่างต่อเนื่อง สิ่งเหล่านี้จะช่วยให้ธุรกิจสามารถประสบความสำเร็จและอยู่รอดได้ในภาวะข้างหน้า