ใครจะสิ้นชีพในสมรภูมิค่าธรรมเนียม

ใครจะสิ้นชีพในสมรภูมิค่าธรรมเนียม

ภาคธนาคารกำลังจะ Transform ตัวเองสู่แพลตฟอร์มดิจิทัลและสังคมไร้เงินสดอย่างจริงจัง

ปี 2561 นี้ได้เกิดการทิ้งระเบิดลูกใหญ่ของวงการการเงินและธนาคารไทยอยู่หลายลูก เริ่มจากการยกเลิกเก็บค่าธรรมเนียมการทำธุรกรรมออนไลน์ของสี่ธนาคารขนาดใหญ่เพื่อจูงใจคนให้หันมาใช้แอพลิเคชั่นบนมือถือแทน ถือเป็นการยอมหั่นรายได้ตัวเองระยะสั้นเพื่อการแข่งขันกับกระแส Digital Disrupt ที่กวักมือรออยู่ข้างหน้า พร้อมประกาศแผนลดจำนวนสาขาลงทั่วประเทศ

ก่อนหน้านั้นธนาคารไทยพาณิชย์ได้ออกมาสร้างแรงกระเพื่อมครั้งใหญ่ด้วยการประกาศลดขนาดองค์กรโดยการลดจำนวนพนักงานนับหมื่นคนและปิดสาขา แต่สุดท้ายต้องกลับมาทบทวนแผนดังกล่าวเพราะเจอกระแสต่อต้านภายในอย่างหนัก

ล่าสุด สัปดาห์นี้เกิดระเบิดลูกใหญ่อีกครั้งเมื่อภาคธนาคารออกมาเรียกร้องให้มีการเก็บค่าธรรมเนียมการถอนเงินสดหน้าเคาน์เตอร์รวมถึงตู้เอทีเอ็ม โดยอ้างว่า (ผู้เขียนรวบรวมจากบทสัมภาษณ์ตามสื่อต่างๆ) ธนาคารมีต้นทุนในการจัดการเงินสดและที่ผ่านมาได้ยกเว้นค่าธรรมเนียมธุรกรรมออนไลน์ไปแล้ว และยังมีระเบิดลูกเล็กแถมให้อีกจากนโยบายใช้จ่ายผ่านบัตรเดบิตเพื่อที่จะได้คืนแวตซึ่งจะเริ่มในปีหน้า

ปี 2561 นี้จึงเป็นปีที่เด่นชัดมากสำหรับภาคธนาคารที่จะ Transform ตัวเองสู่แพลตฟอร์มดิจิทัลและสังคมไร้เงินสดอย่างจริงจัง

ก่อนจะเฉลยว่าใครจะเป็นผู้สังเวยชีพในสมรภูมิค่าธรรมเนียม เราไปดูโครงสร้างรายได้ของธุรกิจธนาคารกัน สมัยก่อนธนาคารพาณิชย์ไทยมีรายได้และกำไรหลักมาจาก ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ย ระหว่างเงินฝากกับเงินกู้ซึ่งสูงถึงระดับ 3-5% อันดับต้นๆของโลกทีเดียว แต่หลายปีหลังมานี้เศรษฐกิจไทยไม่ได้เติบโตมากนัก ธนาคารจะมาหวังพึ่งการปล่อยกู้อย่างเดียวคงไม่ได้จึงหันมาเน้นรายได้จาก ค่าธรรมเนียม จากการทำธุรกรรมต่างๆซึ่งมีความแน่นอนมากกว่า กล่าวคือธนาคารไหนมีเงินฝากบริการการเงิน หรือ Asset ต่างๆจำนวนมากก็มีโอกาสจะเก็บค่าธรรมเนียมได้สูงตามไปด้วย บางธนาคารสามารถแบ่งสัดส่วนรายได้จากดอกเบี้ยและค่าธรรมเนียมได้ครึ่งๆเลยทีเดียว

แต่ในยุคที่เทคโนโลยีเข้ามามีบทบาทต่อภาคการเงินมากขึ้นโดยเฉพาะการเข้ามาช่วยลดต้นทุนต่างๆลง ไม่ว่าจะเป็นพนักงาน สาขา การผลิตเงินสด การทำธุรกรรมแบบเดิมที่ใช้แรงงานมนุษย์ ฯลฯ โอกาสที่ธนาคารจะเก็บค่าธรรมเนียมได้จะลดลงอย่างแน่นอน และเป็นแนวโน้มที่เกิดขึ้นแล้วกับธนาคารฝั่งตะวันตก (ประเทศไทยเราถือได้ว่ามีตู้เอทีเอ็มและสาขาธนาคารให้บริการค่อนข้างเยอะ เพราะอยู่ติดกับร้านสะดวกซื้อและห้างแทบทุกที่ แต่ใครไปเที่ยวยุโรปจะเห็นได้ว่าแทบไม่เห็นตู้เอทีเอ็มให้ใช้เลย)

ถือได้ว่าธนาคารคิดและปรับตัวได้ไวก่อนที่จะโดน Disrupt จึงรีบชิงเปิดสนามใหม่บนระบบดิจิทัลก่อน จากที่เห็นตัวอย่างในประเทศจีนแล้วว่าฟินเทคเข้ามามีบทบาทมากกว่าธนาคารไปแล้ว

แล้วใครจะเป็นผู้ที่สิ้นชีพในสมรภูมิครั้งนี้? ฟินเทคอาจจะทำงานยากขึ้นเพราะธนาคารลงมาคุมเกมส์เองแต่ยังมีโอกาสเสมอสำหรับฟินเทคเพราะเทคโนโลยีใหม่ๆเกิดขึ้นเสมอ แต่ผู้ที่อาจไม่ได้ไปต่อก็คือพนักงานธนาคาร โดยเฉพาะพนักงานที่ไม่ได้อาศัยคุณวุฒิหรือความรู้มากนัก กับธุรกรรมที่มีความซับซ้อนอย่างเช่นแนะนำการลงทุน ลูกค้าอาจยังสบายใจที่จะได้พูดคุยกับมนุษย์ แต่หากเป็นธุรกรรมทั่วไปอย่างเช่นโอนเงิน เรื่องแบบนี้สามารถทำบนมือถือได้ง่าย 

อาจเป็นไปได้เหมือนกันว่าจะได้เห็นภาพการปรับลดคนทำงานในภาคธนาคารเช่นเดียวกับภาคธุรกิจสื่อที่โดน Digital Disrupt เข้าอย่างจังมาแล้ว แต่ยังมีโอกาสที่จะได้ไปต่อเช่นกันหากบุคลากรมีการปรับตัวต่อสภาวะแวดล้อมที่เปลี่ยนไปเพราะภาคการเงินยังจำเป็นต้องอาศัยคนที่มีความสามารถซึ่งหุ่นยนต์ยังทดแทนไม่ได้อยู่เช่นกัน