วิถีทุน โลกสมัยใหม่: ตะวันออก ตะวันตก(ตอนที่ 2)***

วิถีทุน โลกสมัยใหม่: ตะวันออก ตะวันตก(ตอนที่ 2)***

ในประวัติศาสตร์ของมนุษย์เรามีวิธีมองความก้าวหน้า พัฒนาในหลายๆ แบบ มนุษย์เริ่มรู้จักใช้ไฟ เมื่อ 3 แสนปีมาแล้ว เกิดการปฏิวัติการเรียนรู้

หรือที่เรียกว่า cognitive revolution ผ่านภาษาจินตนาการ จุดเริ่มต้นของประวัติศาสตร์มนุษยพันธ์ homo sapiens ประมาณ 70,000 ปี มนุษย์เริ่มมีการปฏิวัติการเกษตรก็เพียงแค่หมื่นปีเศษๆ โลกสมัยใหม่น่าจะเกิดก่อนยุคของความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจสมัยใหม่ โลกสมัยใหม่น่าจะเกิดในยุคหลังการปฏิวัติทางวิทยาศาสตร์และยุค Enlightenment ในศตวรรษที่ 16 และ 17 ตามลำดับ จะเห็นได้ว่าแต่ละช่วงของการปฏิวัติที่สำคัญใช้เวลานานมาก เราคงแปลกใจเมื่อรู้ว่าโลกเศรษฐกิจสมัยใหม่วันนี้เพิ่งเกิดขึ้นประมาณ 200-250 ปีเท่านั้นเอง เป็นช่วงเวลาที่ใกล้เคียงกับการปฏิบัติอุตสาหกรรมที่อังกฤษ ช่วงปี ค.ศ. 1750-1800 เป็นช่วงที่นักเศรษฐศาสตร์คิดว่าสามารถเรียกได้ว่าเป็นยุคความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจสมัยใหม่ หรือ modern economic growth (MEG จากแนวคิดของ Simon Kuznets) 

สังคมหรือมนุษย์ในยุคสมัย MEG มีการเปลี่ยนแปลงอย่างใหญ่หลวง แบบค่อยเป็นค่อยไปเรื่อยมา ทั้งทางสังคมและเศรษฐกิจ คนในยุค MEG อาจจะเผชิญกับความเสี่ยงภัย ความไม่แน่นอนในรูปแบบต่างๆ เรื่อยมา แต่เศรษฐกิจและสังคมก็มีการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญในเชิญโครงสร้างแบบไม่เคยปรากฏมาก่อน เช่น การเปลี่ยนจากเศรษฐกิจการเกษตรเป็นอุตสาหกรรมและบริการ เปลี่ยนระบบการทำงาน การจัดองค์กรทางด้านเศรษฐกิจ เศรษฐกิจและชีวิตมีขึ้นมีลงเป็นวัฏจักร แต่ที่แน่นอนมันไม่เคยเหมือนอดีต เครื่องชี้ MEG ที่สำคัญดูได้จากรายได้ต่อหัวเพิ่มขึ้นตลอดเวลาในระยะยาวพร้อมๆ กับการเพิ่มขึ้นของประชากร โดยเฉลี่ยชีวิตของคนยืนยาวขึ้น รูปร่างก็สูงขึ้น สวัสดิการ มาตรฐานการครองชีพดีขึ้น ระดับและโครงสร้างการบริโภคเปลี่ยนแปลงไปพร้อมๆ กับระดับและโครงสร้างการผลิตสินค้า ซึ่งเมื่อเวลาผ่านไป มันไม่เคยเหมือนเดิม

ในแง่ของความสัมพันธ์ระบบทุนนิยมกับ MEG มีความสัมพันธ์ในลักษณะที่เป็นทั้งเหตุและผล นักเศรษฐศาสตร์ค่อนข้างจะมีฉันทานุมัติว่า MEG เริ่มเมื่อไร แต่ระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยมอาจจะคล้ายๆ กับกระบวนการโลกาภิวัฒน์ที่ส่วนใหญ่ยังไม่สามารถหาฉันทานุมัติในเรื่องการกำหนดช่วงเวลาของประวัติศาสตร์ได้ 

ฝ่ายที่มองยุโรปเป็นศูนย์กลาง (พวก Eurocentric) ของที่มาหรือจุดเริ่มต้นของระบบโลกหรือทุนนิยมสมัยใหม่ โดยเฉพาะ เช่น Braudel และ Wallerstein เชื่อว่าระบบเศรษฐกิจโลก และกำเนิดของทุนนิยมครอบคลุมโลกกว้างใหญ่ไพศาล ตั้งแต่เอเชียตะวันออก-ตะวันตก แผ่นดินยูเรเซีย เมดิเตอร์เรเนียยุโรป ยุโรปตะวันตก-ตะวันออก อาฟฟาริกา ทวีปอเมริกา แต่ทั้ง 2 คนให้ความสำคัญกับภูมิภาคเมดิเตอร์เรเนียและยุโรปเป็นพิเศษ ในบทบาทของทุนนิยมโลกสมัยใหม่ ซึ่งน่าจะอยู่ในช่วงศตวรรษที่ 16 เป็นต้นมา 

เขามองว่าช่วงนั้นเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของเศรษฐกิจโลกส่งผลให้เศรษฐกิจ (บางคนอาจจะรวมแม้กระทั่งอารยธรรม) ของโลกตะวันตก ซึ่งประกอบไปด้วยยุโรป โดยเฉพาะยุโรปทางเหนือและตะวันตก ต่อมาเป็นพวกหน่อที่แตกแขนง เช่น อเมริกา แคนนาดา ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ ล้ำหน้าเศรษฐกิจของกลุ่มหรือภูมิภาคเอเซียและเมดิเตอร์เรเนีย ซึ่งเคยเจริญมาก่อนโดยเฉพาะเมื่อ 500-1,000 ปีก่อน (The Great Divergence หรือ GD) ความเชื่อในเรื่อง GD ดังกล่าวสามารถพิสูจน์ให้เห็นไม่มีใครปฏิเสธได้ จากสถานะภาพโดยเปรียบเทียบไม่ว่าจะเป็นด้านการเป็นมหาอำนาจทางดินแดน เศรษฐกิจ อุตสาหกรรมทางความรู้และเทคโนโลยี เครื่องชี้วัดทางด้านมาตรฐานการครองชีพ ระดับค่าจ้างและรายได้ที่แท้จริงต่อหัว 

ที่สำคัญที่สุดคือดูได้จากระดับการพัฒนาอุตสาหกรรม การเปลี่ยนแปลงในเชิงโครงสร้างทางเศรษฐกิจและสังคม ซึ่งบอกถึงระดับความสำเร็จในการเป็น MEG หลังจากการพัฒนาอุตสาหกรรมของอังกฤษประมาณ 150-200 ปี อย่างไรก็ตาม ข้อยุติที่ยังหาฉันทานุมัติไม่ได้ คือ มันเกิดจากเหตุปัจจัยอะไรและจริงๆ มันเกิดขึ้นเมื่อไหร่

กำเนิดของระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยม อาจจะเกิดขึ้นและมีมาในประวัติศาสตร์เศรษฐกิจของโลกนานมาแล้วเป็นพันปี ก่อนยุคยุโรปค้นพบทวีปอเมริกา โดยเฉพาะถ้าเรามององค์ประกอบหลักๆ ของระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยมซึ่งขับเคลื่อนโดยกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่มีตลาดเป็นหัวใจแกนกลาง มีทุน นายทุนหรือผู้ผลิตเป็นศูนย์กลางลงทุนค้าขายแลกเปลี่ยนโดยหวังกำไร มี 4 องค์ประกอบหลักที่สำคัญ คือ 1. กรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินส่วนบุคคล 2. มีระบบสัญญาระหว่างคู่กรณีและบังคับใช้ได้โดยบุคคลที่สาม 3. มีตลาดที่มีราคารวมทั้งกลไกสามารถทำหน้าที่ส่งสัญญาณให้ผู้ที่เกี่ยวข้องปรับตัวในเชิงพฤติกรรม 4. มีรัฐหรือรัฐบาลที่ให้การสนับสนุน 

ถ้ามองในแง่นี้ มีการศึกษาและการวิจัยโดยใช้หลักฐานทางโบราณคดีจำนวนมากมายในระยะหลัง ๆ ชี้ให้เห็นว่าสมัยโบราณ 3,000 ปีมาแล้วระบบทุนนิยมที่มีองค์ประกอบที่กล่าวมาข้างต้นได้เกิดขึ้นที่จักรวรรดิบาบิโลน และอียิปต์ โดยในกรณีของบาบิโลนนั้น เศรษฐกิจเจริญรุ่งเรื่องถึงขีดสุดในช่วงปี 600 ก่อนคริสตกาล (เช่นงานของ Michael Jursa) บาบิโลเนียมีระบบเศรษฐกิจที่กลไกตลาดทำงาน เศรษฐกิจขยายตัวรวมทั้งการเพิ่มขึ้นของผลิตภาพ โดยเฉพาะในภาคเกษตรซึ่งมีบทบาทสำคัญต่อการเติบโตของประชากรที่อยู่ในเมืองซึ่งมีมาตรฐานการครองชีพที่สูง ซึ่งทำการผลิตนอกภาคเกษตร แรงงานมีการแบ่งแยกความเชี่ยวชาญและเศรษฐกิจมีการใช้เงินตรา 

ความเจริญรุ่งเรืองทางเศรษฐกิจของบาบิโลเนียนี้ ดำรงอยู่เรื่อยมาแม้อยู่ภายใต้การปกครองครอบงำของอาณาจักรเปอร์เซีย แต่มาชะงักงันหลังจาก Macedonia ภายใต้จักรพรรดิอาเล็กซานเดอร์ ระบบนครรัฐในยุคกรีกและจักวรรดิโรมัน ในเวลาต่อมาก็เป็นตัวอย่างที่หลักฐานทางโบราณคดีชี้ให้เห็นถึงการเกิดขึ้นแล้วของระบบทุนนิยมในกรณีของกรีก (ทางตะวันออกของเมดิเตอร์เรเนียน) ประมาณ 1,000 ปีก่อนคริสตกาล เชื่อได้ว่าจากหลักฐานความหนาแน่นของประชากรที่สูงขึ้นเกิดขึ้นพร้อมกับรายได้ต่อหัวที่สูงขึ้น ความเจริญเติบโตมีมิติที่เป็นองค์ประกอบของอดัมสมิธ คือมีการแบ่งแยกแรงงาน แบ่งความเชี่ยวชาญ มีนวัตกรรมใหม่ ๆ เกิดขึ้น การขยายตัวทางการค้าและตลาด 

กรณีของอาณาจักรโรมันต่อยอดหลายๆ องค์ประกอบสำคัญของกรีก โดยเฉพาะการมีกองทัพเป็นอาชีพแทนที่ทหารรับจ้าง ต่อยอดขยายหลักการทางด้านการเงินกฎหมายและระบบสัญญาต่าง ๆ ทำให้เศรษฐกิจและการค้าขยายตัวพร้อมๆ กับการเติบโตของจักรวรรดิ เชื่อว่าการเติบโตของประชากรเกิดขึ้นพร้อมๆ กับมาตรฐานการครอบชีพที่สูงขึ้นจนกระทั่งกาฬโรคใหญ่เกิดขึ้นในศตวรรษที่ 2 ที่ทำให้สิ่งดี ๆ ที่เกิดขึ้นต้องหยุดและจบลง เห็นได้ชัดว่าความเจริญเติบโตนั้นมีจริงแต่ผ่านไปนานเข้ามันไม่ยั่งยืน อาณาจักรหรือจักรวรรดิล่มสลายไม่เหมือนโลกในศตวรรษที่ 19 และที่สำคัญที่สุด โรคระบาด ทุกขพิษภัย สงคราม การปล้นสะดมใหญ่ ประชากรที่เพิ่มขึ้นสามารถทำให้รายได้ต่อหัวหยุดชะงัก อยู่ในระดับที่ต่ำตามกลไกหรือคำทำนายของมัลทัส (กับดัก Malthusian)

เช่นเดียวกันหลักฐานทางโบราณคดีรวมทั้งข้อมูลอื่นๆ ชี้ให้เห็นว่ากลุ่มประเทศอิสลามหรือจีนมีพัฒนาการขององค์ประกอบที่เป็นระบบทุนนิยมกว่าพันปีมาแล้วเช่นกัน

 

*** ชื่อเต็ม: วิถีเศรษฐกิจโลกาภิวัฒน์ วิถีทุน โลกสมัยใหม่ : ตะวันออก ตะวันตก (ตอนที่ 2)