ข้อมูลส่วนบุคคล สหรัฐ จีน vs. ที่เหลือของโลก

ข้อมูลส่วนบุคคล สหรัฐ จีน vs. ที่เหลือของโลก

เป็นข่าวที่น่าตื่นเต้น เมื่อ สหรัฐ และ จีน ประกาศสงบศึกสงครามการค้า

หลังจากที่ได้ขึ้นภาษีศุลกากรตอบโต้กันมาเป็นเวลาหลายเดือนก่อนหน้านี้ จนมีผลกระทบไปทั่วทุกมุมของโลก

อภิมหาอำนาจในยุคปัจจุบัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในโลกของเศรษฐกิจดิจิตอล ก็คงจะเหลือแต่เพียง สหรัฐ และ จีน ที่ทิ้งนำประเทศอื่นๆ ของโลก แม้แต่ ประเทศมหาอำนาจ ดั้งเดิม จากยุโรป หรือกระทั่ง ประเทศอุตสาหกรรมใหม่ จากเอเซีย ก็ถูกทิ้งห่างออกไปทุกที จนมองไม่เห็นแนวโนม ที่จะสามารถไล่ตาม สหรัฐ และ จีน ได้ทัน ในช่วงเวลาชีวิตของพวกเรานี้

แม้แต่ เวิลด์อีโคโนมิคฟอรั่ม ที่เพิ่งจัดอันดับ 20 ธุรกิจชั้นนำทางด้านดิจิตอลของโลก ก็ได้รวม 11 ธุรกิจจากสหรัฐ เช่น แอปเปิล อเมซอน ไมโครซอฟท์และ 9 ธุรกิจจากจีน เช่น อาลีบาบา เทนเซ็นต์ แอนท์ไฟแนนเซียล โดยไม่มีธุรกิจจากประเทศอื่นๆ ของโลกเลย

เมื่อสังเกตุแต่เพียงผิวเผินแล้ว อาจทำให้หลงเชื่อว่า ธุรกิจดิจิตอล จาก สหรัฐ และ จีน มีความแตกต่าง อันเนื่องมาจากการเมืองการปกครอง วัฒนธรรมการดำเนินธุรกิจ และการปกป้องสิทธิมนุษยชน แต่ที่จริงแล้ว ธุรกิจจากทั้งสองประเทศ มีความเหมือนกันมาก โดยเฉพาะการกระหายข้อมูล - ข้อมูลส่วนบุคคล

ผู้นำทางความคิดในสหรัฐ มักวิพากษ์วิจารณ์ การล่วงละเมิดข้อมูลส่วนบุคคล หรือ ความเป็นส่วนตัวในประเทศจีน โดยได้กล่าวอ้างว่า จีน ไม่มีนโยบายเพื่อปกป้องข้อมูลส่วนบุคคล หรือ ความเป็นส่วนตัวเลย ซึ่งเป็นสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานของมนุษย์ทุกคน ในบางครั้ง ผู้นำทางความคิดเหล่านี้ยังกล่าวอ้างด้วยว่า รัฐบาลจีนเป็นผู้ล่วงละเมิดข้อมูลส่วนบุคคลเสียเอง โดยได้ยกตัวอย่างของ โซเชียลเครดิต ที่บ่งชี้และติดตามทุกคนผ่านกล้องวงจรปิดโดยใช้เอไอ และ เชื่อมโยงข้อมูลของทุกคนที่ถูกเก็บไว้โดยภาคธุรกิจและภาครัฐโดยใช้บิ๊กดาต้า

ล่าสุด ได้มีการเปิดเผยว่า ผู้ผลิตในอุตสาหกรรมรถยนต์กว่า 200 ราย โดยรวมไปถึง เทสลา โฟล์คสวาเกน บีเอ็มดับเบิลยู เดมเลอร์ ฟอร์ด ฯลฯ ได้ถูกกำหนดให้ส่ง ข้อมูลตำแหน่งของรถ รวมทั้งข้อมูลอื่นๆ ไปยังรัฐบาลจีน โดยที่เจ้าของรถไม่ได้รับรู้หรือยินยอม

มุมมองเหล่านี้ เป็นเรื่องราวที่น่าสะพรึงกลัว ซึ่งเมื่อถูกเสนอแต่เพียงด้านเดียว อาจทำให้หลงเชื่อว่า ธุรกิจในสหรัฐ มีการเคารพสิทธิมนุษยชน อย่างที่แตกต่างกับจีน

แต่ วิกฤตการณ์ ของ เฟสบุ๊ค ที่ได้ถูกนำเสนอในบทความก่อนหน้า กลับแสดงให้เห็นว่า ข้อมูลส่วนบุคคล หรือ ความเป็นส่วนตัว กำลังเป็นปัญหาใหญ่ในสหรัฐ อย่างที่ไม่แพ้ประเทศจีนเลย และกรณีที่เฟสบุ๊ค กำลังถูกวิพากษ์วิจารณ์ กลับไม่ใช่ปัญหาของความมั่นคงไซเบอร์ ที่ เคมบริดจ์แอนะลิติกา บริษัทที่ปรึกษาสัญชาติอังกฤษ ได้ใช้ข้อมูลส่วนบุคคลของผู้ใช้งานเฟสบุ๊ค 87 ล้านคน อย่างไม่ได้รับอนุญาต แต่กลับเป็นนโยบายด้าน ข้อมูลส่วนบุคคล หรือ ความเป็นส่วน ของ เฟสบุ๊ค เสียเอง ว่า เฟสบุ๊ค มีส่วนรับรู้ และ เห็นชอบกับกรณีดังกล่าวมากน้อยเพียงใด

วิกฤตการณ์ ในสหรัฐ ยังทำให้ธุรกิจดิจิตอลของสหรัฐ ได้แตกออกเป็นสองฝ่าย ฝ่ายหนึ่ง คือฝ่ายของเฟสบุ๊ค และ ธุรกิจที่ถูกกล่าวหาว่ามีพฤติการณ์คล้ายเฟสบุ๊ค ซึ่งรวมถึง กูเกิล และอีกฝ่าย คือฝ่ายที่ไม่เห็นด้วย และโจมตีฝ่ายของ เฟสบุ๊ค โดยมี ทิม คุ๊ก ซีอีโอ ของ แอปเปิล ที่ได้ประนามนโยบายด้านข้อมูลส่วนบุคคลของเฟสบุ๊ค และล่าสุด ซีอีโอ ของ ไอบีเอ็ม ก็ได้ออกมาร่วมวงโจมตีด้วยเช่นกัน

เมื่อปีที่แล้วนี้เอง ประธานาธิบดี ทรัมป์ ก็ได้ประกาศว่า นโยบาย ข้อมูลส่วนบุคคล หรือ ความเป็นส่วนตัว ปกป้องเฉพาะข้อมูลส่วนบุคคลของชาวอเมริกัน แต่เป็นที่รู้กันว่า เฟสบุ๊ค และ กูเกิล มีข้อมูลของประชากรเกือบทุกประเทศในโลก และไม่ใช่เฉพาะของชาวอเมริกัน ดังนั้น นโยบายนี้ อาจหมายความว่า ข้อมูลของประชากรประเทศอื่นๆ ที่ถูกเก็บอยู่ในสหรัฐ โดยธุรกิจสหรัฐ อาจไม่จำเป็นต้องปกป้องข้อมูลส่วนบุคคล หรือ ความเป็นส่วนตัว

ขณะนี้ ประเทศที่เหลือของโลก แม้จะไม่เห็นแนวโนม ที่จะสามารถไล่ตาม สหรัฐ และ จีน ในยุคของเศรษฐกิจดิจิตอล ได้แตกออกเป็นสองกลุ่ม หนึ่ง ก็คือ ประเทศที่ตกเป็นเหยื่อ ไม่มีการตอบโต้ และหรือมองว่าต่างชาตินั้นดีกว่าชาติตัวเองเสมอ จึงไม่มีความจำเป็นที่จะต้องกล่าวถึงประเทศกลุ่มนี้ สอง ก็คือ ประเทศ ที่มีการตอบโต้ เพื่อปกป้องสิทธิมนุษยชนของชาติตัวเอง และอาจใช้กรณีนี้เป็นเกมส์ต่อรอง เพื่อถ่วงดุลย์ และหาโอกาส พัฒนาเศรษฐกิจดิจิตอลของตัวเอง

สหภาพยุโรป เป็นตัวอย่างที่ดีเยี่ยม สำหรับประเทศกลุ่มที่สองนี้ โดยมีการตอบโต้ตั้งแต่ การฟ้องร้องด้วยข้อหาต่างๆ เช่นการส่งออกข้อมูลส่วนบุคคลข้ามชาติของธุรกิจสหรัฐ การออกกฎหมายใหม่ๆ เช่น กูเกิลแทกซ์ หรือกระทั่ง จีดีพีอาร์ ล้วนเป็นการต่อสู้เพื่อทวงคืนอธิปไตยทางดิจิตอลของชาวยุโรป 

ข้อมูลส่วนบุคคล เป็นเรื่องที่มีการถกเถียงอย่างเข้มข้น ในทั่วทุกมุมโลก มากยิ่งกว่าความมั่นคงไซเบอร์หลายเท่าตัว เพราะในยุคนี้ ข้อมูล คือน้ำมันในอากาศ ที่มีมูลค่ามากที่สุด ทุกธุรกิจหรือหน่วยงานรัฐที่ทรงศักยภาพ ล้วนกระหายข้อมูล - ข้อมูลส่วนบุคคล - ไม่ว่า เอไอ หรือ บิ๊กดาต้า ล้วนต้องการข้อมูล แต่ประเทศที่เป็นเหยื่อ กำลังยกให้เขาไปฟรีๆ