หมีสร้างเมือง: จินตนาการผสานความร่วมมือ

หมีสร้างเมือง: จินตนาการผสานความร่วมมือ

เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ผมได้มีโอกาสเดินทางไปเยือนกรุงเบอร์ลิน ประเทศเยอรมนี ทำให้ได้เห็นถึงเรื่องราวที่น่าสนใจของความคิดสร้างสรรค์

ผ่านงานศิลปะและต่อยอดไอเดีย กลายมาเป็นผลิตภัณฑ์ที่สร้างความน่าสนใจให้กับเมือง แสดงให้เห็นว่าศิลปะไม่ใช่เรื่องไกลตัว แต่เป็นสิ่งที่จับต้องได้ อยู่บนท้องถนนและสามารถทำเงิน สร้างรายได้ให้กับประชาชนในท้องถิ่นได้

ประติมากรรมที่ปรากฏอยู่บนท้องถนนสร้างสีสันให้กับเมืองหลวงของเยอรมนีได้อย่างน่าสนใจ คือ เจ้าหมีบัดดี แบร์ (Buddy Bear) ซึ่งชื่อนี้แสดงถึงหมีที่บ่งบอกถึงความอบอุ่นและความสุข สำหรับจุดเริ่มต้นศิลปะบนท้องถนนนี้เกิดจาก เอวาและเคลาส์ เฮอร์ลิทซ์ ผู้ริเริ่มไอเดียนี้ได้รับแรงบันดาลใจจากแนวความคิดในการแสดงศิลปะบนถนนของเมืองใหญ่ๆ เช่น นิวยอร์ก และซูริก จึงได้ริเริ่มโครงการถนนศิลปะในเบอร์ลิน ผู้คนจำนวนมากในเยอรมนีก็เห็นด้วยอย่างยิ่งที่จะเลือกหมีเป็นรูปปั้น โดยคาดหมายว่าจะสามารถจับจิตใจของชาวเบอร์ลินและแขกผู้มาเยียนของพวกเขาในรูปแบบที่แตกต่างกันได้ ซึ่งก็เป็นไปเช่นนั้นตามคาด

ทั้งนี้ โรมัน สโตรบ์ล ผู้ได้รับมอบหมายให้ออกแบบหมียืนตัวตรงบัดดี้ แบร์นี้ ได้ออกแบบหมีจนกระทั่งกลายมาเป็นประติมากรรมดาวเด่นของกรุงเบอร์ลิน และได้มีการสร้างสรรค์เหล่าหมีกว่าร้อยตัว ในอิริยาบถต่างๆ ที่หลากหลายตามมา ปัจจุบันประติมากรรมของเหล่าหมีบัดดี แบร์ที่อยู่ตามจุดต่างๆ ทั่วเมืองนี้ยังได้รับการตอบรับที่ดี สามารถดึงดูดความสนใจจากผู้หลงใหลได้อย่างมาก และได้พัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ ของที่ระลึกที่มีมูลค่าสูง กลายเป็นของฝากที่นักท่องเที่ยวเลือกซื้อติดไม้ติดมือกลับไป ทำรายได้ให้ประชาชนในเมืองได้อีกด้วย

หมีสร้างเมือง: จินตนาการผสานความร่วมมือ

หมีบัดดี แบร์กลายเป็นส่วนสำคัญของกรุงเบอร์ลิน และต่อยอดมาเป็น ยูไนเต็ดบัดดีแบร์ (United Buddy Bears) หมีประมาณ 140 ตัวที่สูงประมาณ 2 เมตรยืนเรียงกันเป็นวงกลมเป็นตัวแทนแสดงถึงประเทศสมาชิกในสหประชาชาติ  วงกลมของ United Buddy Bears เป็นภาพสะท้อนถึงความแตกต่างทางวัฒนธรรม ภาพของหมีที่ยืนจับมืออยู่ด้วยกันเป็นสัญลักษณ์แสดงถึงสันติภาพของโลก  หมีแต่ละตัวเป็นตัวแทนของผู้คนจากประเทศที่แตกต่างกัน หลากหลายวัฒนธรรม หมีแต่ละตัวได้แสดงถึงการออกแบบดีไซน์เฉพาะตัวที่รังสรรค์โดยศิลปินจากประเทศต่างๆ ที่หมีตัวนั้นเป็นตัวแทน ซึ่งบรรดาเหล่าศิลปินต่างถ่ายทอดเอกลักษณ์ของประเทศตนในการออกแบบเพื่อทำให้ผู้คนเกิดความอยากรู้อยากเห็นเกี่ยวกับประเทศนั้นๆ United Buddy Bears ได้มีโอกาสเดินทางรอบโลกเพื่อส่งเสริมความอดทน อดกลั้น ความเข้าใจกันในระดับนานาชาติ และสะท้อนภาพการยืนอยู่เคียงข้างกันเสมอ นอกจากนี้ กิจกรรมของหมีเหล่านี้ยังเป็นส่วนหนึ่งที่ได้นำเงินไปช่วยเหลือเด็กๆ อีกด้วย 

นอกจากจุดเด่นในเรื่องของการออกแบบดีไซน์ของตัวหมีที่ไร้ขีดจำกัดแล้ว ยังเรียกได้ว่า นี่เป็นการออกแบบอย่างมีส่วนร่วมของประชาชนจำนวนมาก จากการได้พบเห็น บัดดี แบร์ ที่ประเทศเยอรมนี ทำให้ผมนึกไปถึงอีกกรณีหนึ่งที่มีลักษณะคล้ายคลึง คือ การพัฒนาเมืองคุมาโมโตะ ของประเทศญี่ปุ่นที่ได้เปลี่ยนจาก เมืองทางผ่านเป็น เมืองเป้าหมายการเดินทางและสร้าง หมีคุมะมง เป็นสัญลักษณ์ของเมืองที่โด่งดังไปทั่วโลก

หมีสร้างเมือง: จินตนาการผสานความร่วมมือ

ก่อนหน้านี้ เมืองคุมาโมโตะเป็นเพียงเมืองทางผ่านเท่านั้น แต่เมื่อรัฐบาลญี่ปุ่นมีนโยบายก่อสร้างรถไฟชิงกันเซ็งสายคิวชูมาที่เมืองคุมาโมโตะ รัฐบาลท้องถิ่นได้เล็งเห็นว่านี่เป็นโอกาสที่ดีที่จะพัฒนาเปลี่ยนแปลงเมืองในครั้งนี้ รัฐบาลท้องถิ่นของจังหวัดคุมะโมะโตะ จึงได้สร้าง คุมะมง (หรือคุมาม่อน) หมีดำแก้มแดงเป็นมาสคอตประจำเมือง ในปี พ.ศ. 2553 และเปิดตัวอย่างเป็นทางการพร้อมกับการเปิดเส้นทางเดินรถไฟ ในเดือน มี.ค.2554 เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวในภูมิภาค จากนั้นไม่นานคุมะมงก็ได้รับความนิยมไปทั่วประเทศญี่ปุ่นอย่างรวดเร็ว

การพัฒนา หมีคุมะมง เกิดจากการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ เอกชน ประชาชน ของเมืองที่ช่วยกันสร้างกิจกรรมต่างๆ ในเมืองอย่างต่อเนื่อง หมีคุมะมงช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจและการท่องเที่ยวให้กับเมือง  ทุกวันนี้ หมีดำแก้มแดงคุมะมง กลายเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ มากมาย ซึ่งทางรัฐบาลท้องถิ่นได้อนุญาตให้ผู้ที่สนใจพัฒนาผลิตภัณฑ์ท้องถิ่นสามารถขอนำรูปคุมะมงหรือหมีแก้มแดงเป็นตราสัญลักษณ์ในสินค้าผลิตภัณฑ์ได้โดยไม่คิดค่าใช้จ่าย เหมือนเป็นแบรนด์สินค้าของจังหวัด ช่วยทำให้เกิดการค้าการลงทุน การหมุนเวียนเศรษฐกิจที่ขยายตัวขึ้น

จากกรณีตัวอย่าง ทั้ง 2 ตัวอย่างนี้แสดงให้เห็นถึงแง่มุมของความคิดสร้างสรรค์ การถ่ายทอดเรื่องราว การต่อยอดศิลปะความคิดสร้างสรรค์ไปได้ไม่มีที่สิ้นสุด ไปจนถึงการสร้างผลิตภัณฑ์ให้กับเมือง สร้างสัญลักษณ์ของเมือง และช่วยโปรโมทเมืองให้เป็นที่รู้จักในวงกว้างขึ้น สิ่งเหล่านี้เป็นตัวอย่างของการสร้างขึ้นมาจากความคิดและจินตนาการได้ทั้งสิ้น อย่างไรก็ดี ความสำเร็จที่เกิดขึ้นเกิดจากการสร้างการมีส่วนร่วมของคนอีกด้วย ดังนั้นคำถามสำคัญ คือ ทำอย่างไรให้คนมีส่วนร่วม เป็นเจ้าของร่วมกันทั้งเมือง

ในกรณีของประเทศไทย เรานับว่าได้เปรียบอยู่แล้ว เพราะมีของดีอยู่มากมาย มีศิลปวัฒนธรรมที่โดดเด่นและมีอัตลักษณ์ที่ไม่เหมือนกันในแต่ละที่ เราจึงมีโอกาสอีกมากที่จะสร้างแบรนด์ให้กับเมืองต่างๆ ให้โดดเด่น ซึ่งจะนำมาซึ่งการดึงดูดนักท่องเที่ยว การส่งเสริมการค้าและการลงทุนในท้องถิ่น และสามารถนำแบรนด์ของเมืองไปใช้ยกระดับแบรนด์ของสินค้าของเมืองเพื่อช่วยพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประชาชนในท้องถิ่นต่างๆ ขอเพียงมีความคิดสร้างสรรค์และร่วมแรงร่วมใจกัน โอกาสยังมีอีกมากมายจริงๆ

โดย... 

ณัฐพร จาตุศรีพิทักษ์

สถาบันอนาคตไทยศึกษา

Facebook.com/thailandfuturefoundation