ข้อเสนอแก้กฎหมายฟอกเงินครั้งใหญ่ กระทบใครบ้าง? (จบ)

ข้อเสนอแก้กฎหมายฟอกเงินครั้งใหญ่ กระทบใครบ้าง? (จบ)

ในบทความฉบับนี้ เราจะมาศึกษาประเด็นสุดท้ายคือ มาตรการในการกำกับดูแลการดำเนินการกับทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิด และบทลงโทษ

เพื่อให้เห็นภาพผลกระทบจากกฎหมายฟอกเงินต่อผู้อยู่ใต้บังคับกฎหมายอย่างเป็นรูปธรรมขึ้น

สำนักงาน ปปง. เป็นหน่วยงานที่มีอำนาจกำกับดูแลและตรวจสอบผู้มีหน้าที่รายงาน อย่างไรก็ดี อำนาจของสำนักงาน ปปง. ตามกฎหมายปัจจุบันยังไม่ชัดเจน จึงมีข้อเสนอให้เพิ่มเติมบทบัญญัติในเรื่องนี้ให้ชัดเจนยิ่งขึ้น โดยระบุให้พนักงานเจ้าหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายมีอำนาจเข้าไปในสถานที่ประกอบธุรกิจของผู้มีหน้าที่รายงานหรือสถานที่อื่น ซึ่งรวบรวมข้อมูลของผู้มีหน้าที่รายงาน เพื่อเก็บรวบรวมข้อมูล เอกสาร หลักฐานที่เกี่ยวข้องต่างๆ รวมถึงมีอำนาจทำหนังสือตักเตือน หรือแจ้งข้อแนะนำเป็นหนังสือไปยังผู้มีหน้าที่รายงานเพื่อให้ปฏิบัติให้ถูกต้องได้ กล่าวคือ สำนักงาน ปปง. อาจจะเข้าไปตรวจสอบ (Audit) ผู้ประกอบการตามที่เห็นสมควรได้ ทั้งนี้ “คณะกรรมการธุรกรรม” ยังคงมีหน้าที่ในการตรวจสอบธุรกรรมหรือทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดและสั่งยับยั้งการทำธุรกรรมเช่นเดิม ส่วนที่ข้อเสนอแก้ไขกฎหมายเพิ่มเติมขึ้นมาเป็นเรื่องของอำนาจของคณะกรรมการธุรกรรมในการทำสำเนาข้อมูลคอมพิวเตอร์ จากระบบคอมพิวเตอร์ที่มีเหตุอันควรเชื่อได้ว่ามีการทำธุรกรรมซึ่งเกี่ยวกับทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิด นอกจากนี้ ยังได้เพิ่มอำนาจของคณะกรรมการธุรกรรมในการยึดหรืออายัดระบบคอมพิวเตอร์ดังกล่าวด้วย

ร่างกฎหมายฟอกเงินฉบับใหม่ยังระบุว่า ในการตรวจสอบธุรกรรม หากมีเหตุอันควรเชื่อได้ว่าทรัพย์สินใดเป็นทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดและจะมีการโอน ยักย้าย ซุกซ่อนหรือแปรสภาพทรัพย์สินดังกล่าวหรือมีเหตุผลและความจำเป็นอื่น คณะกรรมการธุรกรรมมีอำนาจสั่งยึดหรืออายัดทรัพย์สินนั้นไว้ชั่วคราวไม่เกิน 90 วันนับแต่วันยึดหรืออายัด โดยอาจกำหนดเงื่อนไขหรือเงื่อนเวลาการเริ่มมีผลของคำสั่งดังกล่าวก็ได้ ตามกฎหมายปัจจุบัน หากผู้ทำธุรกรรมซึ่งถูกสั่งยึดหรืออายัดทรัพย์สินหรือผู้มีส่วนได้เสียในทรัพย์สินต้องการที่จะให้มีการเพิกถอนการยึดหรืออายัดตั้งแต่แรก ก็จะต้องแสดงหลักฐานว่าเงินหรือทรัพย์สินนั้นไม่ใช่ทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิด ดังนั้น แม้ว่าผู้ถูกยึดหรืออายัดได้รับโอนเงินหรือทรัพย์สินมาโดยสุจริตและมีค่าตอบแทนก็ตาม หากเงินหรือทรัพย์สินนั้นได้มาจากการกระทำความผิดก็จะไม่ได้รับความคุ้มครองในชั้นนี้ แต่จะต้องรอยื่นคำร้องในชั้นศาลเท่านั้น ตามร่างกฎหมายฟอกเงินฉบับใหม่ หากผู้ทำธุรกรรมซึ่งถูกสั่งยึดหรืออายัดทรัพย์สินหรือผู้มีส่วนได้เสียในเงินหรือทรัพย์สิน เป็นผู้ที่รับโอนมาโดยสุจริตและมีค่าตอบแทน ก็จะมีสิทธิยื่นคำขอให้เพิกถอนการยึดหรืออายัดโดยคณะกรรมการธุรกรรมได้

หลังจากที่ยึดหรืออายัดทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดและพ้นกำหนดระยะเวลาตามกฎหมายแล้ว พนักงานอัยการจะยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งให้ทรัพย์สินนั้นตกเป็นของแผ่นดินโดยเร็ว ซึ่งตามร่างกฎหมายใหม่ระบุระยะเวลาไม่เกิน 30 วันนับแต่วันที่ได้รับเรื่องจากเลขาธิการ ปปง. โดยอาจมีการขยายระยะเวลาดังกล่าวได้หากพนักงานอัยการเห็นว่าข้อมูลยังไม่สมบูรณ์

ในส่วนของการดำเนินการในชั้นศาล ร่างกฎหมายใหม่เพิ่มบทบัญญัติเกี่ยวกับการแจ้งเจ้าของ หรือผู้มีส่วนได้เสียในทรัพย์สินที่ถูกยึดหรืออายัด ที่พำนักอยู่ต่างประเทศให้มายื่นคำร้องต่อศาลก่อนศาลมีคำสั่งให้ทรัพย์สินนั้นตกเป็นของแผ่นดิน โดยผ่านทางไปรษณีย์ระหว่างประเทศหรือกระทรวงการต่างประเทศ ซึ่งจะเป็นการคุ้มครองสิทธิเจ้าของหรือผู้มีส่วนได้เสียได้ดียิ่งขึ้น

สำหรับบทลงโทษ ร่างกฎหมายใหม่ได้เพิ่มโทษสำหรับความผิดฐานฟอกเงินให้หนักขึ้น โดยเพิ่มโทษปรับจากเดิมตั้งแต่ 2 หมื่นบาทแต่ไม่เกิน 2 แสนบาท เป็นตั้งแต่ 1 แสนบาท แต่ไม่เกิน 1 ล้านบาท หรือปรับเป็นเงิน 2 เท่าของจำนวนเงินหรือราคาทรัพย์สินที่มีการฟอกโดยผู้นั้นแล้วแต่จำนวนใดจะมากกว่า หรือทั้งจำทั้งปรับ โดยโทษจำคุกยังคงเท่าเดิมคือ 1 - 10 ปี

ประการที่น่าสนใจอีกประการหนึ่งก็คือ ร่างกฎหมายใหม่กำหนดความผิดและโทษสำหรับผู้ที่ให้ความช่วยเหลือผู้ฟอกเงินด้วย กล่าวคือ ผู้ใดที่ยินยอมให้บุคคลอื่นใช้ชื่อ บัญชี ข้อมูล เอกสาร บัตรอิเล็กทรอนิกส์ ซิมการ์ดโทรศัพท์หรือหลักฐานอื่นเพื่อทำธุรกรรมกับผู้มีหน้าที่รายงานโดยประการที่อาจนำไปใช้ในการกระทำความผิดมูลฐานหรือความผิดฐานฟอกเงิน ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 3 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

กล่าวโดยสรุป ร่างกฎหมายฟอกเงินฉบับใหม่ ยังคงมีข้อที่ต้องพิจารณาเพิ่มเติมเกี่ยวกับความเหมาะสมโดยเฉพาะอย่างยิ่งการนำบุคคลต่างๆ เข้ามาอยู่ภายใต้กฎหมายนี้มากขึ้นและยังไม่มีการกำหนดหน้าที่ของรัฐในการให้การสนับสนุนในการปฏิบัติตามกฎหมายของผู้มีหน้าที่รายงาน อย่างไรก็ดี ผู้เขียนเห็นด้วยว่าการคุ้มครองสิทธิของผู้ที่จะได้รับผลกระทบจากมาตรการต่างๆ ตามกฎหมายฟอกเงินนั้น มีความสำคัญ และเป็นประเด็นที่น่าสนับสนุนอย่างยิ่งสำหรับร่างกฎหมายฉบับนี้

แล้วพบกันใหม่ค่ะ

โดย...

 วิภานันท์ ประสมปลื้ม