ภาษีของเค็มช่วยสุขภาพคนไทยจริงหรือ?

ภาษีของเค็มช่วยสุขภาพคนไทยจริงหรือ?

ในช่วงนี้ เรามักเห็นข่าวการปฏิรูปภาษีประเภทต่าง ๆ อยู่ในสื่ออยู่บ่อยครั้ง ไม่ว่าจะเป็นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาและภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT)

โดยล่าสุด กรมสรรพามิตได้ออกมาเปิดเผยถึงข้อเสนอ (อยู่ระหว่างการศึกษา) การจัดเก็บภาษีในสินค้า (อาหาร) ที่มีความเค็มหรือโซเดียมสูง เพื่อส่งเสริมให้คนไทยมีสุขภาพที่ดี

ฟังผ่าน ๆ ก็เกือบจะคล้อยตามว่า ภาษีของเค็ม” น่าจะเป็นมาตรการที่ดี และเร็ว ๆ นี้ นักวิจัย (ทางด้านวิทยาศาสตร์) จากมหาวิทยาลัย Oxford ประเทศอังกฤษก็ได้ออกมาแนะนำให้รัฐบาลเก็บภาษีเนื้อแดง เนื้อแปรรูป รวมไปถึงไส้กรอกต่าง ๆ เช่นกัน อย่างไรก็ตาม มีหลายคำถามที่ชวนให้คิดต่อ

คำถามแรก ทำไมภาษีจึงกลายมาเป็นเครื่องมือในการลงโทษ (punishment) พฤติกรรมที่ไม่ดี ย้อนกลับไปพิจารณาความสำคัญของภาษี เราทราบกันดีว่าการเสียภาษีเป็น หน้าที่ ของคนในสังคม รัฐบาลสามารถนำเงินเหล่านี้ไปพัฒนาประเทศ ทั้งการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน รวมถึงจัดหาสวัสดิการต่าง ๆ เช่น การแพทย์และสาธารณะสุข และการศึกษา เป็นต้น มองในมุมนี้ ภาษีคือ ราคา ของการใช้ชีวิตอยู่ในสังคม เมื่อเราไปเป็นพลเมืองของประเทศไหน เราก็ต้องยอมจ่ายภาษีให้กับผู้ปกครองของประเทศนั้น เมื่อภาษีที่จ่ายไป คุ้มค่ากับการได้มาซึ่งสวัสดิการ ทุกคนก็เต็มใจที่จะจ่ายให้เพราะสินค้าและบริการหลายอย่างต้องอาศัยรัฐในการลงทุน เพราะเอกชนมองว่าไม่คุ้มที่จะเข้ามาแข่งขัน อย่างไรก็ตาม ภาษียังถูกนำมาใช้เพื่อมุ่งหวังให้คนลดการบริโภคสินค้า หรือลดพฤติกรรมที่ไม่ดี บ่อยครั้งที่ภาษีประเภทนี้ทำให้ราคาของสินค้าและบริการสูงขึ้น หากรัฐบาลใช้มาตรการประเภทนี้จนเคยตัว วัตถุประสงค์ที่แท้จริงของภาษีอาจถูก บิดเบือน ส่งผลให้คนเกลียดกลัวการเสียภาษี เกิดปัญหาหลบเลี่ยงหลีกหนีภาษี หรือเมื่อพูดถึงภาษี ไม่ว่าจะเป็นภาษีประเภทใดก็ตาม จึงมักมีเสียงบ่นก่นด่าตามมา แทนที่คนจะภาคภูมิใจว่าได้เสียสละให้สังคม

คำถามต่อมาคือ จะเก็บภาษีของเค็มอย่างไรและใครที่จะได้รับผลกระทบและบริโภคของเค็มน้อยลง เมื่อจะเก็บภาษี แน่นอนว่าจะต้องเก็บง่าย หมายความว่า ความเค็มในสินค้าจะต้อง วัด ชั่ง ตวง ตรวจสอบ ได้ และปริมาณความเค็มต้องเท่ากันในทุกชิ้น สินค้ากลุ่มแรกที่จะได้รับผลกระทบน่าจะเป็นผลิตภัณฑ์อาหารทุกชนิดที่มีข้อมูลโภชนาการกำกับไว้ โดยเฉพาะอาหารสำเร็จรูป อย่างไส้กรอก เนื้อสัตว์ปรุงรส บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป รวมไปถึงขนมขบเคี้ยวต่าง ๆ อย่างไรก็ตาม สินค้าเหล่านี้ ไม่ใช่ อาหารหลักในแต่ละวัน นอกจากความชอบส่วนตัวและรายได้ที่จำกัด คงไม่มีใครที่ปรุงบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปทุกวัน คนที่เป็นผู้ป่วยโรคไต (หรือความดัน) ก็ไม่ได้หมายความว่า พวกเขาจะรับประทานอาหารเหล่านี้ทุกมื้อ สิ่งที่สำคัญคือ ในทางปฏิบัติ ภาษีของเค็ม ไม่สามารถไปควบคุมความเค็มใน อาหารหลัก เช้า เที่ยง เย็น ที่ประชาชนกินอยู่ทุกวันได้ ไม่ว่าจะเป็น ข้าวราดแกงแสนเข้มข้น ก๊วยเตี๋ยวน้ำตกอร่อยเลิศ น้ำปลาพริกตักไม่อั้น รวมไปถึงปริมาณการ “เหยาะ” น้ำปลา-ซีอี้ว ในครัวเพื่อปรุงรส เมื่อเป็นเช่นนั้น ความหวังในภาษีของเค็มที่น่าจะช่วยให้คนไทยมีสุขภาพที่ดีขึ้นจึง...ลดน้อยลง

อีกคำถามหนึ่งก็คือ สมมติว่า “ภาษีของเค็ม” ทำให้คนไทยลดการบริโภคอาหารที่มีรสเค็ม แน่ใจได้อย่างไรว่า คนจะเปลี่ยนไปบริโภคอาหารประเภทอื่นที่ดี มีประโยชน์มากขึ้น ขนมขบเคี้ยวอาจจะเค็มน้อยลงแต่สัดส่วนคาร์โบไฮเดรตก็อาจจะมากขึ้น หรือในเมื่อผู้บริโภคพบว่า สินค้าที่เคยรับประทานกลับหมดความอร่อย เลยหันไปทานขนมหวานแทน ไม่เป็นไตวาย แต่ได้เบาหวาน ตัวอย่างที่ชัดเจนคือ นมหรือโยเกิร์ตที่ไขมันศูนย์เปอร์เซ็นต์ ปริมาณน้ำตาลกลับมากกว่าสูตรปกติ เพราะเมื่อไม่มีไขมันก็ขาดความมัน ขาดความอร่อย ผู้ผลิตก็คงไม่อยากจะทำสินค้าที่ไม่อร่อยออกมาขายแข่งกับคนอื่น

สำหรับผลกระทบทางด้านเศรษฐศาสตร์จากภาษี ผู้ผลิตมีทางเลือกอยู่ 2 ทาง คือ ปรับสูตรให้มีโซเดียมน้อยลง (ไม่ต้องเสียภาษี แต่อาจไม่อร่อยเหมือเดิม) กับ ใช้สูตรเดิม (เสียภาษีโดยผลักภาระให้ผู้บริโภค) หากเลือกทางแรกแล้วรสชาติของอาหารไม่ผิดเพี้ยนไปจนผิดสังเกต ก็น่าจะวิน-วิน กันทั้งสองฝ่าย หากเลือกทางเลือกที่สองเพื่อรักษาผู้บริโภค ก็ต้องคำนวณให้ดีว่าผลักภาระภาษีไปให้ผู้บริโภคเท่าไหร่ ในแง่ของผลกระทบของราคา หากสินค้าที่มีโซเดียมสูงแพงขึ้น เราต้องทำการศึกษาว่าประชาชนในแต่ละกลุ่มตอบสนองต่อราคาสินค้า (อาหาร) ที่มีโซเดียมสูงอย่างไร และใครคือกลุ่มเป้าหมายหลัก เนื่องจากสินค้าสำเร็จรูป-กึ่งสำเร็จรูป (ซึ่งน่าจะเป็นกลุ่มแรกที่ได้รับผลกระทบจากภาษีของเค็ม) ไม่ได้เป็นสินค้าจำเป็น (ไม่ใช่สบู่ ยาสีฟัน ผงซักฟอก น้ำดื่ม ที่ต้องกินต้องใช้ในชีวิตประจำวัน) กินก็ได้ ไม่กินก็ไม่อดตาย การที่เก็บภาษีแล้วมีสินค้ามีราคาสูงขึ้น ตามทฤษฎีระบุว่า ผู้บริโภคจะลดการบริโภคค่อนข้างมาก แต่ในความเป็นจริง ผลลัพธ์อาจจะต่างกันตามกลุ่มผู้บริโภค หากผู้บริโภคหลักของสินค้ากลุ่มนี้คือวัยรุ่น ความตระหนักรู้ในเรื่องสุขภาพและราคามีต่ำกว่ากลุ่มคนวัยทำงานหรือคนป่วย ภาษีของเค็มก็อาจจะไม่ได้ช่วยลดปริมาณการบริโภคเท่าใดนัก และในเมื่อภาษีทำให้ราคาสินค้าแพงขึ้น (ในกรณีที่ผู้ผลิตผลักภาระให้ผู้บริโภค) กลุ่มคนจนคือคนที่เสียภาษีของเค็มใน “อัตรา” ที่แพงกว่าคนทั่วไป

จากสภาวะผู้ป่วยล้นโรงพยาบาล ทั้งจากโรค 3 เกลอ (เบาหวาน ไขมัน ความดัน) ปฏิเสธไม่ได้ว่า คนไทยต้องตระหนักกับโรคภัยไข้เจ็บ ซึ่งอาหารและการออกกำลังกาย ก็เป็นสิ่งที่ทำได้ โดยที่ไม่ต้องไปเก็บภาษี ผู้คิดและกำหนดนโยบาย จึงไม่ควรมีทัศนคติว่า “ภาษี” คือคำตอบสำหรับทุกสิ่งทุกอย่าง แรงจูงใจทางเศรษฐศาสตร์ควรใช้อย่างระมัดระวัง

โดย... 

รรณพงษ์ ดุรงคเวโรจน์

Crawford School of Public Policy, Australian National University