บู๊เฮียบ

บู๊เฮียบ

วันที่ 18 กรกฎาคม 1981 ที่มหาศาลาประชาชนในปักกิ่ง เติ้งเสี่ยวผิง-ผู้นำสูงสุดของจีนได้ต้อนรับชาวฮ่องกงคนหนึ่ง เขาเป็นแค่นักเขียน

แทบไม่น่าเชื่อว่านักเขียนจะได้รับเกียรติขนาดนั้น มันไม่น่าแปลก เพราะเติ้งเป็นแฟนพันธ์แท้ของเขา เขาชื่อจาเหลียงย้ง ประวัติศาสตร์กล่าวไว้เช่นนี้

แท้จริงแล้ว ด้วยเติ้งเป็นนักการเมืองที่ชาญฉลาด จุดประสงค์ย่อมไม่ใช่แค่พบปะพูดคุย แต่ต้องการสร้างความประทับใจ เพื่อทำให้เขาที่มีอิทธิพลในวงการสื่อ ได้สนับสนุนเผยแพร่แนวคิดตลาดเสรีและเปิดรับการลงทุนจากภายนอก (1 ประเทศ 2 ระบบ) ต่อประชาคมชาวจีนโพ้นทะเลทั่วโลก เพราะเติ้งรับตำแหน่งใหญ่ได้ไม่นาน อีกทั้งนำเสนอแนวคิดใหม่และปฏิรูประบบเศรษฐกิจใหม่ ย่อมต้องการภาพลักษณ์ที่ดีและแรงสนับสนุนจากนอกประเทศ

จาเหลียงย้งเป็นใคร ? เขาเป็นบรรณาธิการ ผู้ร่วมก่อตั้ง และเจ้าของหนังสือพิมพ์รายวัน “หมิงเป้า” ที่เริ่มตั้งแต่ 20 พฤษภาคม 1959 ที่สำคัญกว่านั้น จาเหลียงย้งเป็นนักเขียนนิยายกำลังภายในที่มีชื่อเสียงที่สุดแห่งยุค ด้วยนามปากกาว่า “กิมย้ง” เขาเขียนนิยายแค่ 15 เรื่องระหว่างปี 1955 – 1972 ซึ่งถูกแปล ตีพิมพ์ และขายไปทั่วโลกกว่า 100 ล้านชุด (ไม่รวมที่ละเมิดลิขสิทธิ์) ทั้งยังถูกสร้างเป็นซีรีย์ทีวี ภาพยนต์ การ์ตูน และวีดีโอเกมส์ กิมย้งมีแฟนมากมายทั่วโลก โดยเฉพาะกลุ่มชาวจีนนอกแผ่นดินใหญ่

นิยายกำลังภายในมาจากรากศัพท์จีน บู๊เฮียบ” (จีนกลางว่า หวู่เซี่ย”) บู๊คือการต่อสู้ เฮียบคือวีรบุรุษ / ความกล้าหาญ / คุณธรรม หมายความถึงเรื่องราวของวีรบุรุษที่ต่อสู้เพื่อคุณธรรมและด้วยความกล้าหาญ  คำนี้มีประวัติย้อนหลังไปถึง 300 – 200 ก่อนค.ศ. ดังปรากฏในคัมภีร์หานเฟยจื่อและจวงจื่อ ในบันทึกประวัติศาสตร์ “สือจี้ชุนชิว” ของซือหม่าเซียน ก็กล่าวถึงจิงเคอ-จอมยุทธ์กล้าตายผู้เข้าไปลอบสังหารจิ๋นซีฮ่องเต้ ฯลฯ

เมื่อถึงสมัยราชวงศ์ถัง (618 – 907) จากเรื่องเล่าเปลี่ยนเป็นตำนาน สมัยราชวงศ์ซ้อง (960 – 1279) เปลี่ยนเป็นเรื่องสั้น และกลายเป็นนิยายกำลังภายในโดยสมบูรณ์ในสมัยราชวงศ์หมิง (1368 – 1644) ที่โดดเด่นมากคือ “ตำนาน 3 ก๊ก” ของล่อกวนตง และ “ซ้องกั๋ง” (108 วีรบุรุษเขาเหลียงซาน) ของซือไน่อัน ทั้ง 2 เรื่องถือเป็น 2 ใน 4 สุดยอดวรรณกรรมจีน อีก 2 เรื่องคือไซอิ๋วและความฝันในหอแดง

บู๊เฮียบ

ช่วงทศวรรษ 1920 นิยายกำลังภายในเฟื่องฟูในเซี่ยงไฮ้ หลังทศวรรษ 1930 เปลี่ยนไปที่ปักกิ่งและเทียนจิน อย่างไรก็ตาม ในยุคสาธารณรัฐจีน (1912 – 1949) รัฐบาลเข้มงวดกวดขัน หลังจากนั้น จีนก็เปลี่ยนเป็นคอมมิวนิสต์ ความรุ่งเรืองย้ายไปที่ไต้หวันและฮ่องกง นับแต่ทศวรรษ 1950 เหล่านักเขียนก็บุกเบิกแนวทางใหม่ให้กับนิยายกำลังภายใน ไต้หวันมีโกวเล้งและออเล้งเช็ง ฮ่องกงมีกิมย้งและเนี่ยอู่เซ็ง บู๊เฮียบกลายเป็นวรรณกรรมมาตรฐานที่ได้รับการยอมรับและนิยมชมชอบจากประชาคมชาวจีนโพ้นทะเลทั่วโลก

กิมย้งเป็นนักหนังสือพิมพ์ หลังจากเพื่อนสนิทเนี่ยอู่เซ็งเขียนนิยายเรื่องแรกในปี 1954 เขาได้รับแรงบันดาลใจและเริ่มเขียนงานของตัวเองเป็นตอน ๆ ลงในคอลัมน์อย่างต่อเนื่อง ผลงานแรกตีพิมพ์ 8 กุมภาพันธ์ 1955 ในเรื่องจอมใจจอมยุทธ์ ผลงานต่อมาคือเพ็กฮวยเกี่ยม มังกรหยกภาค 1 จิ้งจอกภูเขาหิมะ มังกรหยกภาค 2 จิ้งจอกอหังการ เทพธิดาม้าขาว ดาบนกเป็ดน้ำ มังกรหยกภาค 3 กระบี่ใจพิสุทธิ์ แปดเทพอสูรมังกรฟ้า มังกรทลายฟ้า กระบี่เย้ยยุทธจักร กระบี่นางพญา และอุ้ยเสี่ยวป้อ นิยายที่สร้างชื่อให้เขาโด่งดังคือมังกรหยกภาค 1 ซึ่งเริ่มตีพิมพ์ 1 มกราคม 1957

เพราะเกิดในตระกูลบัณฑิตและรักการอ่านอย่างหลากหลายตั้งแต่เด็ก ทั้งวรรณกรรมจีนและต่างประเทศ กิมย้งจึงมีศิลปะการประพันธ์ที่สูงส่ง เขาเห็นว่านิยายกำลังภายในเป็นมรดกเฉพาะของจีน ดังนั้น ไม่ควรใช้สำนวนภาษาแบบตะวันตก แต่ควรใช้แบบนิยายจีนรุ่นเก่า เช่น สามก๊ก เป็นแนวทางในการพัฒนาให้เหมาะสมกับยุคสมัยต่อไป จุดเด่นมากประการหนึ่งของนิยายกิมย้งคืออิงประวัติศาสตร์และสอดแทรกเรื่องแต่งลงไปอย่างกลมกลืนแนบเนียน ราวภูษิตฟ้าไร้ตะเข็บ

แปดเทพอสูรฯและไตรภาคมังกรหยกคือตัวอย่างที่ชัดเจน เรื่องแรกอยู่ในยุคซ้องเหนือ (960 – 1127) จีนตกอยู่ในวงล้อมของต่างชาติคือแคว้นเหลียว-เผ่าคีตัน (907 – 1125) แคว้นซีเซี่ย-เผ่าต้าถูร์ (1038 – 1227) และแคว้นกิม–เผ่าหนี่เจิน (1115 – 1234) เหลียวถูกกิมตีแตก กิมบุกยึดซ้องต่อ จีนต้องย้ายเมืองหลวงไปทางใต้ มังกรหยกภาค 1 – 2 อยู่ในยุคซ้องใต้ (1127 – 1279) เตมูจินรวมเผ่ามองโกลเป็นหนึ่งและขึ้นเป็นเจงกีสข่านในปี 1206 มองโกลยึดซีเซี่ย กิม และซ้อง กุบไลข่านตั้งราชวงศ์หยวนปี 1271 มองโกลยึดครองจงหยวนถึงปี 1368 มังกรหยกภาค 3 อยู่ในยุคนี้

ในมุมโหราศาสตร์ กำเนิด การดำรงอยู่ รวมถึงสงครามของซ้องและแคว้นทั้ง 4 ซึ่งสิ้นสุดลงด้วยชัยชนะของมองโกล เป็นผลจากวัฏจักรมฤตยูพลูโต มฤตยูคือการต่อต้านของเดิม พลูโตคือการเปลี่ยนแปลงอย่างถอนรากถอนโคน (Transformation) วัฏจักรนี้บอกถึงช่วงเวลาแห่งการเปลี่ยนแปลงใหญ่ในทุกด้าน รวมถึงกำเนิดและล่มสลายของอาณาจักร

วัฏจักรกินเวลา (เฉลี่ย) 127 ปี เริ่มต้นที่ดาวทั้งคู่กุมกันสนิท ในดวงเมืองไทย วัฏจักรนี้เริ่มใหม่ 2 ครั้งแล้ว ครั้งแรก 24 มีนาคม 1851 ที่ 6:56 องศาเมษ ร่วมราศีลัคนา มันตามมาด้วยการทำสนธิสัญญาเบาริงในสมัยร. 4 เปลี่ยนโครงสร้างเศรษฐกิจและพัฒนาบ้านเมืองขนานใหญ่ ครั้งหลัง 30 มิถุนายน 1966 ที่ 22:43 องศาสิงห์ ทำมุม 120 ลัคน์พอดี เปิดประเทศรับการค้าการลงทุนตามแผนพัฒนาฯ (ที่เริ่มสมัยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์) เศรษฐกิจ สังคม และการเมืองเปลี่ยนใหญ่ตามมา

ราชวงศ์ซ้องกำเนิดหลังจากเริ่มวัฏจักรใหม่ 8 กรกฎาคม 947 ที่ 6:43 องศากรกฎ วัฏจักรที่ 2 เกิด 23 มีนาคม 1090 ที่ 20:01 องศามีน มันนำไปสู่ความเสื่อมและการสิ้นสุดซ้องเหนือ วัฏจักรที่ 3 เกิด 30 กรกฎาคม 1201 ที่ 16:12 องศากรกฎ นี่คือจุดเริ่มต้นความยิ่งใหญ่ของจักรวรรดิมองโกล

มนุษย์เขียนนิยาย สวรรค์ลิขิตความเป็นไปบนโลกมนุษย์