กระทรวงกลาโหมสหรัฐสอบตก !

กระทรวงกลาโหมสหรัฐสอบตก !

เมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา นสพ. วอชิงตันโพสต์ ตีพิมพ์บทความของ แอรอน เกรกก์ เกี่ยวกับรายงานผลการตรวจสอบบัญชี กระทรวงกลาโหมสหรัฐ

มีข้อสังเกตจำนวนมากจากบทความนั้น ซึ่งอาจคิดต่อไปได้อีกหลายแง่มุม

ในเบื้องแรก การตรวจสอบบัญชีดังกล่าวเป็นการกระทำแบบครอบคลุมทุกแง่มุมครั้งแรกในประวัติศาสตร์ของกระทรวงกลาโหม กระทรวงนั้นนำรายงานมาเปิดเผย ทั้งที่การตรวจสอบบ่งชี้ว่า มองโดยรวมแล้วตนสอบตกเนื่องจากเพียงไม่กี่กรมกองเท่านั้น ที่ผลงานได้รับคะแนนระดับ “ผ่าน” ของการตรวจสอบซึ่งใช้นักบัญชีถึง 1,200 คนและงบประมาณกว่า 400 ล้านดอลลาร์ กรมกองที่ได้คะแนนผ่านมักเป็นด้านเสนารักษ์

รายงานชี้ให้เห็นว่าขนาดของกระทรวงกลาโหมนั้นมหึมามากจนยากแก่การจินตนาการ เนื่องจากมีทรัพย์สินประเมินได้ถึง 2.7 ล้านล้านดอลลาร์ หรือราว 14% ของผลิตภัณฑ์มวลรวม (จีดีพี) ของสรัฐและ 6 เท่าของจีดีพีของไทยในปี 2560 บทความไม่มีรายละเอียดเรื่องมูลค่าของอาวุธซึ่งคงตีค่าได้ยากมากเนื่องจากปัจจัยหลายอย่าง เช่น การตีราคาเมื่อตอนสร้างเสร็จใหม่ๆ รวมต้นทุนด้านการวิจัยและพัฒนาเบื้องต้นด้วยหรือไม่ คิดค่าเสื่อมสภาพอย่างไร และตอนนี้มีค่าจริงเท่าไรโดยเฉพาะอาวุธเก่าที่จะต้องถูกทิ้งเพราะอาวุธใหม่กำลังถูกสร้างขึ้นมาแทน

แม้การประเมินค่าจะมีปัญหาชวนน่าสงสัยอยู่บ้าง แต่ยังน่าถามต่อไปว่าถ้านำทรัพยากรที่ถูกใช้ในกิจการทหารไปทำอย่างอื่นจะทำอะไรได้บ้าง ประเด็นนี้มีการถกเถียงกันอย่างเข้มข้นมานาน ทั้งในสหรัฐเองและในสังคมอื่น ในปัจจุบัน ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์มองว่าจะต้องเร่งสร้างอาวุธยุทโธปกรณ์เพิ่มขึ้น เพราะในสมัยของประธานาธิบดีบารัค โอบามา รัฐบาลมิได้ให้ความสำคัญทางด้านนี้มากพอ สำหรับผู้ติดตามความเป็นไปในสหรัฐ เรื่องนี้เป็นที่เข้าใจได้ไม่ยากเนื่องจากพรรคเดโมแครตของอดีตประธานาธิบดีโอบามา เน้นความสำคัญด้านการทหารน้อยกว่าพรรคริพับลิกันของประธานาธิบดีทรัมป์ และเน้นกิจการด้านสวัสดิการสังคมมากกว่า งบประมาณใช้จ่ายของรัฐบาลกลางสะท้อนความแตกต่างนั้น

เป็นที่น่าสังเกตว่า ในช่วง 8 ปีที่ประธานาธิบดีโอบามาบริหารประเทศ แม้การทหารจะได้รับงบประมาณต่ำกว่าระดับที่พรรคริพับลิกันมองว่าน่าจะได้ แต่อาวุธยุทโธปกรณ์ของสหรัฐยังสามารถทำลายล้างโลกได้นับครั้งไม่ถ้วน การสร้างอาวุธใหม่เป็นการใช้เทคโนโลยีที่มีสมรรถนะสูงขึ้น นั่นหมายความว่า สหรัฐจะสามารถฆ่าผู้อื่นได้ง่ายยิ่งขึ้น

การถกเถียงกันแนวนี้มีในสังคมอื่นเช่นกัน กรณีที่น่าสนใจเป็นพิเศษอาจ ได้แก่ เวเนซุเอลา ซึ่งคงเป็นที่ทราบกันดีแล้วว่าตกอยู่ในภาวะล้มละลายในขณะนี้ เวเนซุเอลา มีน้ำมันปริมาณมหาศาลและย้อนไปหลายทศวรรษเคยส่งน้ำมันออกมากที่สุดในโลก ทั้งที่ไม่มีปัญหาที่จะต้องรบรากับใคร เวเนซุเอลาใช้งบประมาณเพื่อการทหารสูงมาก มีกองทัพขนาดใหญ่และมีนายพลจำนวนมากจนถูกมองว่า ตามอัตรากำลังพลมีนายพลมากที่สุดในโลก นายพลเหล่านั้นได้รับเงินเดือนสูงและมีสวัสดิการเหนือทหารในกองทัพอื่น ตอนนี้เวเนซุเอลาจะมีนายพลในอัตราเท่าไรไม่เป็นที่ประจักษ์ แต่การใช้งบประมาณทางการทหารที่ผ่าน ๆ มามีส่วนทำให้เวเนซุเอลาล้มละลายอยู่ในปัจจุบัน กระนั้นก็ตาม ประเทศกำลังพัฒนาจำนวนมากดูจะไม่เคยเรียนรู้อะไรจากเวเนซุเอลา

ย้อนไปดูรายงานการตรวจสอบบัญชีดังกล่าว คณะผู้ตรวจบัญชีสรุปว่า ไม่พบความฉ้อฉลโดยตรงใดๆ ในกระทรวงนั้น แต่พบข้อบกพร่องหลายอย่างทั้งในด้านการทำบัญชี ด้านความปลอดภัยของระบบการใช้ข่าวสารข้อมูลและด้านการตรวจสอบภายใน รายงานถูกส่งไปให้คณะกรรมาธิการในรัฐสภา ซึ่งมีหน้าที่ดูแลการทหาร สมาชิกบางคนทั้งในคณะกรรมาธิการของวุฒิสภาและในสภาผู้แทนราษฎรออกมาตำหนิการทำงานของกระทรวงกลาโหมอย่างเผ็ดร้อนและเสนอให้เร่งรัดปฏิรูป ทั้งเพื่อความโปร่งใสและเพื่อประสิทธิภาพ

จากมุมมองของการบริหารประเทศ การที่กระทรวงกลาโหมนำรายงานการตรวจสอบบัญชีที่สรุปว่า ตนสอบตกมาเปิดเผยและยอมรับการถูกตำหนิต้องนับว่าเป็นสิ่งที่ดี ผู้ติดตามดูพฤติกรรมของสหรัฐอาจไม่เห็นด้วยกับจุดยืนของเขาในด้านการมีกองทัพขนาดใหญ่พร้อมค่าใช้จ่ายมหาศาลซึ่งใช้หมดไปกับการรุกรานชาวโลก แต่น่าจะยอมรับว่า ถ้าจะบริหารประเทศแบบโปร่งใสและได้ประสิทธิภาพสูง บัญชีของทุกองค์กรต้องถูกตรวจสอบได้ รวมทั้งการใช้จ่ายของกระทรวงกลาโหมและกองทัพ