แอบส่อง สองนคราสาธารณสุขไทย เชิงตัวเลข

แอบส่อง สองนคราสาธารณสุขไทย เชิงตัวเลข

อย่างที่เคยพูดบ่อยๆ ว่า ประเทศไทยนี้แบ่งระบบสาธารณสุขเป็น 2 นคราสาธารณสุขค่อนข้างชัดเจน การเป็นที่ปรึกษากิตติมศักดิ์ของ กมธ.สาธารณสุข

ข้อมูลที่รับรู้รับทราบจึงเป็นข้อมูลภาครัฐที่เกี่ยวกับหน่วยงานและสถานพยาบาลรัฐ และจากการเป็นตัวแทนของ กมธ.สาธารณสุขไปประชุมเกี่ยวกับกฎหมายในระบบสาธารณสุขหลายครั้งที่ กระทรวงพาณิชย์ จึงเห็นข้อมูลภาคธุรกิจ เห็นความแตกต่างระหว่างระบบสุขภาพของภาครัฐและเอกชนอย่างมาก

สำหรับ นคราสาธารณสุขภาครัฐนั้น หลักๆก็คือระบบประกันสุขภาพแห่งชาติหรือ สปสช. ได้รับงบประมาณจากรัฐบาลประมาณปีละ 2.2 แสนล้านบาท โดยงบประมาณเกือบครึ่งหนึ่งเป็นค่าจ้างเงินเดือนบุคคลากรในระบบสาธารณสุขทั่วประเทศรวมกันประมาณ 8 หมื่นล้านบาท เหลือเงินสำหรับกองทุนประกันสุขภาพแห่งชาติเพื่อดูแลรักษาพยาบาลประชาชนประมาณ 1.3 แสนล้านบาท เฉลี่ยรายหัวต่อคนต่อปีรายละประมาณ 3,400 บาท นี่เป็นตัวเลขคร่าวๆสำหรับปีงบประมาณ 2560 ที่ผ่านมา

 

แต่ที่น่าตื่นตาตื่นใจคือ ตัวเลขทางการเงินของนคราสาธารณสุขภาคเอกชนที่เติบโตอย่างก้าวกระโดด โดยมีสถานพยาบาลเอกชนทั่วประเทศประมาณ 200 แห่ง ในจำนวนนี้ มี 21 บริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ ซึ่ง ณ สิ้นปี 2560 มีสินทรัพย์รวมกันประมาณ 251,852 ล้านบาท มีรายได้จากธุรกิจสุขภาพ 154,227 ล้านบาทและมีกำไรรวมกันประมาณ 21,832 ล้านบาท ถ้าเทียบกับงบประมาณจากรัฐที่ สปสช. ได้รับสำหรับดูแลประชาชนทั้งประเทศประมาณ 130,000 ล้านบาท ก็ถือว่าน้อยกว่ารายได้รวมของ 21 บริษัทที่อยู่ประมาณ 150,000 ล้านบาทไม่มากนัก ต่างกันก็ที่ภาคเอกชนมีกำไรสุทธิประมาณ 21,832 ล้านบาท ในขณะที่ภาครัฐนั้นขาดทุนกันถ้วนหน้า

บริษัทเอกชนขนาดใหญ่ 10 อันดับแรก ไล่เรียงตั้งแต่บริษัทที่มีสินทรัพย์มากสุดคือ กรุงเทพดุสิต บำรุงราษฎร์ รามคำแหง วิภาวดี ธนบุรีเฮ้ลท์แคร์ บางกอกเชน สมิติเวช เชียงใหม่รามธุรกิจการแพทย์ ศิขรินทร์ และจุฬารัตน์ เมื่อเทียบสัดส่วนกับทั้งกลุ่ม 21 บริษัท มีสินทรัพย์รวมกันถึง 234,913 ล้านบาท หรือ 93.27% มีรายได้รวม 142,787 ล้านบาทหรือ 92.58% และมีกำไรสุทธิรวม 24,601 ล้านบาท หรือ 112.68% ที่น่าสนใจคือใน 21 บริษัทในตลาดหลักทรัพย์นี้ ทั้งบริษัทที่ตั้งมานานและบริษัทที่เพิ่งเข้าตลาดปีที่ผ่านมา ต่างมีกำไรเกือบทุกบริษัท ยกเว้นบริษัทเดียวที่ขาดทุน

ความยิ่งใหญ่ของบริษัทเอกชนไทยในตลาดสุขภาพนั้น หลายบริษัทได้รับการจัดอันดับให้อยู่ในอันดับโลก โดยเฉพาะ Big 5 คือโรงพยาบาลกรุงเทพดุสิต ที่มีสินทรัพย์สูงเป็นอันดับ 5 ของโลกในปัจจุบัน และอีก 4 บริษัทในลำดับรองคือ บำรุงราษฎร์ รามคำแหง วิภาวดี และธนบุรีเฮ้ลท์แคร์ ก็กำลังไต่เต้าเป็นที่ยอมรับทั้งในประเทศและต่างประเทศอย่างมาก รายได้ของโรงพยาบาลมาจากลูกค้าต่างประเทศที่มาใช้บริการรักษาพยาบาลดูแลสุขภาพจำนวนมากในฐานะผู้มารักษาโรคและตรวจสุขภาพ ถือเป็นแหล่งรายได้สำคัญของระดับ Big 5 และยังได้ขยายการให้บริการไปประเทศเพื่อนบ้านอีกหลายประเทศ ทำให้เกิดรายได้ที่นอกเหนือผู้ใช้บริการที่เป็นคนไทยในประเทศ

ระบบสาธารณสุขภาคเอกชนสามารถขยายตัวทั้งแนวดิ่งและแนวราบ เกิดธุรกิจต่อเนื่องอีกมากมายตามมา และยิ่งรัฐบาลมีโครงการที่จะให้ประเทศเป็น Medical Hub พร้อมส่งเสริมธุรกิจเกี่ยวข้องและต่อเนื่อง รวมถึงธุรกิจวิจัยและสร้างนวัตกรรมใหม่ๆเกี่ยวกับการแพทย์และสาธารณสุข ก็ทำให้ธุรกิจสุขภาพภาคเอกชนมีอนาคตที่สดใส การที่มหาวิทยาลัยทั้งหลายที่มีโรงเรียนแพทย์มีโครงการที่จะเพิ่มจำนวนนักศึกษาแพทย์จาก 2,500 คนในปัจจุบัน เป็น 3,000 คน จึงน่าจะตอบโจทย์ความต้องการทางภาคเอกชนได้เป็นอย่างดี

ถ้าถามว่าตัวเลขของภาคเอกชนที่ว่าใหญ่โตมโหฬารนั้น เอามาเทียบกับงบประมาณภาครัฐได้อย่างไร ก็ตอบว่า ถ้าเทียบกันตรงๆคงไม่ได้ เพราะฐานของข้อมูลต่างกัน แต่ก็พยายามพูดในเรื่องที่ทำให้เห็นภาพชัดขึ้น โรงพยาบาลเอกชนทั้งหมดในประเทศไทยนั้นมีกว่า 200 แห่ง และในจำนวนนี้มี 21 แห่งที่เป็นบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ ถึงแม้จะมีแค่ 21 แห่ง แต่ก็ถือว่ามีขนาดใหญ่ประมาณ 90% ของตลาดรวมเลยทีเดียว

ที่น่าสนใจก็คือขนาดของธุรกิจหรือมูลค่าตลาด (market capitalization) พบว่า สิบอันดับแรกมีมูลค่ารวมกันถึง 777,323 ล้านบาท ณ วันที่ 31 พ.ค.2561 กว่าครึ่งหนึ่งหรือ 402,764 ล้านบาทเป็นกลุ่ม รพ.กรุงเทพเพียงแห่งเดียว ในปีที่แล้ว กลุ่มโรงพยาบาลกรุงเทพนั้นอยู่ในอันดับห้าของโลก ต่ำกว่ากลุ่มโรงพยาบาล IHH ของมาเลเซีย แต่ล่าสุดน่าจะขึ้นเป็นอันดั บสี่อย่างไม่เป็นทางการ เพราะ IHH มีปัญหาเรื่องค่าเงินทำให้มูลค่ารวมในตลาดหลักทรัพย์ลดเหลือ 344,161 ล้านบาท ทั้งๆที่กลุ่ม IHH นั้นมีรัฐบาลมาเลเซียโดย Khazanah Nasional ซึ่งเป็นกองทุนของรัฐบาลมาเลเซียเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ แต่กลุ่มโรงพยาบาลกรุงเทพของประเทศไทยนั้นผู้ถือหุ้นทั้งหมดเป็นเอกชนล้วนๆ ความยิ่งใหญ่ของธุรกิจสุขภาพภาคเอกชนไทยนั้น ยังมีโอกาสเติบโตอีกมากเพราะประเทศในกลุ่ม CLMV ลุ่มน้ำโขงไม่ว่าเมียนม่าร์ ลาว แคมโบเดีย และเวียตนามนั้นกำลังเติบโต เพราะยิ่งเศรษฐกิจโต ความต้องการและการเอาใจใส่เรื่องสุขภาพยิ่งเพิ่มมากขึ้น

สำหรับระบบสุขภาพภาครัฐของประเทศไทยนั้นมาจากสามกองทุนสนับสนุนหลักคือกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ กองทุนประกันสังคม และสวัสดิการข้าราชการ ใช้เงินงบประมาณประมาณ 220,000 ล้านบาท แต่เป็นค่าใช้จ่ายการบริหารจัดการบุคคลากรประมาณ 4 หมื่นล้านบาท ที่เหลือเพื่อดูแลประชาชนมีแค่ประมาณ 1.8 แสนล้านบาท เมื่อหักส่วนที่เป็นประกันสังคมและสวัสดิการข้าราชการแล้ว เหลือส่วนที่ดูแลประชาชนตามหลักประกันสุขภาพแห่งชาติประมาณ 1.3 แสนล้านบาท ต่ำกว่ารายได้รวมของ 10 บริษัทแรกในตลาดหลักทรัพย์ที่มีรายได้ประมาณ 142,787 ล้านบาท และยิ่งต่ำกว่า 21 บริษัทแรกที่มีรายได้ 154,227 ล้านบาท โดยที่บริษัทเอกชนดูแลสุขภาพประชาชนประมาณ 28 ล้านคน แต่ในทางปฏิบัตินั้นก็เป็น 28 ล้านคนที่สละสิทธิในการใช้บริการ สปสช. ซึ่งทำให้ภาระงบประมาณของรัฐบาลลดลงไปอย่างมาก เพราะผู้ที่ใช้ประกันสุขภาพแห่งชาตินั้นหมุนเวียนอยู่ที่ประมาณ 20 ล้านคนต่อปีเท่านั้น ค่าใช้จ่ายรายหัวของประชาชนที่ใช้บริการ รพ.เอกชน 28 ล้านคนนั้น จึงน่าจะอยู่ระหว่าง 1.5 หมื่น - 2 หมื่นบาทต่อคนต่อปี (รวมโรงพยาบาลเอกชนอีกเกือบ 200 แห่งที่ไม่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์) ในขณะที่ค่าเฉลี่ยรายหัวต่อประชากรหนึ่งคนที่ สปสช. ได้รับในขณะนี้ประมาณ 3,400 บาท แต่เนื่องจากมีคนหมุนเวียนใช้สิทธิประมาณ 40% (20 จาก 48 ล้านคน) ของทั้งหมด จึงอาจพูดได้ว่าตัวเลขค่าเฉลี่ยรายหัวที่แท้จริงน่าจะประมาณ 1 หมื่นบาทต่อคน แต่คุณภาพของบริการเป็นระดับพื้นฐานเมื่อเปรียบเทียบกับภาคเอกชน ทำให้บางครั้งอดคิดไม่ได้ว่า ถ้าใช้เงินค่าหัวเฉลี่ย 1 หมื่นบาทต่อคนต่อปีนี้มาเป็นเบี้ยประกันภัยสุขภาพ ก็น่าจะได้รับบริการที่ดีกว่านี้

ค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพของประชาชนภาคเอกชนน่าจะเพิ่มสูงขึ้นไปเรื่อยๆตามสภาพเศรษฐกิจ และน่าจะทำให้ธุรกิจสุขภาพของโรงงพยาบาลเอกชนเติบโตต่อเนื่อง นั่นหมายความประชาชนที่มีอำนาจซื้อย่อมมีโอกาสได้รับบริการที่ดีขึ้นไปเรื่อยๆ ในขณะที่ภาครัฐคงไม่สามารถเอางบประมาณมาเพิ่มให้กองทุนได้มากนัก เพราะรัฐก็ต้องใช้เงินในการลงทุนด้านอื่นๆด้วย จึงมีความเป็นไปได้ที่ค่าใช้จ่ายด้านการรักษาพยาบาลระหว่างประชาชนที่ใช้บริการโรงพยาบาลเอกชนจะยิ่งห่างจากงบประมาณรายหัว ในขณะเดียวกันบริการที่ประชาชนได้รับจากสองนคราสาธารณสุขก็ยิ่งห่างกันออกไปเรื่อยๆ เป็นเส้นทางที่ไม่มีวันบรรจบกัน