วังเวงในหัวใจ กับยุทธศาสตร์ 20 ปีของระบบสาธารณสุข

วังเวงในหัวใจ กับยุทธศาสตร์ 20 ปีของระบบสาธารณสุข

หลังจากมีการประกาศแผนยุทธศาสตร์แห่งชาติ 20 ปีในราชกิจานุเบกษาเมื่อไม่กี่วันมานี้ ก็ได้ไปอ่านประกาศสำนักนายกรัฐมนตรีเรื่องแผนปฏิรูปประเทศ

ด้านสาธารณสุขของสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และกลับมาอ่านแผนยุทธศาสตร์ 20 ปีของกระทรวงสาธารสุขอีกครั้ง เพราะทั้งสามแผนยุทธศาสตร์นี้จะต้องไปด้วยกัน สอดคล้องกัน

การที่อยู่ในแวดวงด้านสังคมศาสตร์ที่ครอบคลุมทุกมิติไม่ว่าการเมือง เศรษฐกิจ สังคม รวมตลอดถึงการศึกษาและสาธารณสุข ทำให้ทุกครั้งที่มองมิติใดมิติหนึ่ง ก็อดไม่ได้ที่คิดถึงผลกระทบที่เกิดกับมิติอื่นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ และมีความรู้สึกว่าเรื่องผลกระทบนี้ไม่ค่อยมีใครพูดถึงกัน การที่จะรู้ว่ามีผลกระทบในระบบและระหว่างระบบมากน้อยเพียงใด ไม่สามารถวัดได้ง่ายๆ หลายเรื่องเป็นนามธรรมมาก และยากที่จะอธิบายเป็นตัวเลข แต่นั่นก็ไม่ใช่ข้อแก้ตัวที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะไม่ทำ เพราะยิ่งไม่ทำก็ยิ่งไม่รู้ว่างบประมาณที่ลงไปในโครงการต่างๆของรัฐก่อให้เกิดผลอย่างไร ประชาชนมีความอยู่ดีกินดีเพิ่มขึ้นอย่างไร แก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำได้แค่ไหน ทำให้ความยากจนลดลงแค่ไหน และอีกมากมายที่ต้องการคำอธิบาย

ได้อ่านบทความหนึ่งจากต่างประเทศ เป็นรายงานสุขภาวะของประชาชนแต่ละประเทศว่าจมอยู่ในความยากลำบากเยี่ยงทาสมากน้อยเพียงไร สำหรับประเทศไทยนั้น ประเมินว่ามีประชาชนที่มีชีวิตเยี่ยงทาส (The 2013 Global Slavery Index) มากถึงประมาณ 500,000 คน ซึ่งไม่ใช่แค่คนจนที่ขึ้นทะเบียนรับสวัสดิการจากรัฐ ทั้งนี้เป็นการสำรวจเมื่อปี 2013 โดย The Walk Free Foundation ตีพิมพ์ใน The Economist ซึ่ง ประเทศไทยมีจำนวนประชาชนที่ถูกจัดลำดับอยู่ในกลุ่มที่ต่ำต้อยเยี่ยงทาสเป็นลำดับที่ 7 จากทั้งหมด 162 ประเทศทั่วโลก ตัวเลขแบบนี้ ผู้บริหารในระบบสาธารณสุขไทยคงไม่อยากพูดถึง

ในระบบสาธารณสุขของเรา มีหน่วยงานมากมายที่ทำงานเกี่ยวข้องกับสุขภาพอนามัยของประชาชน ตั้งแต่กระทรวงสาธารณสุข องค์กรอิสระนอกกระทรวงเช่น สปสช. สสส. สช. สพฉ. และอื่นๆ ทั้งนี้นอกเหนือองค์กรพัฒนาเอกชน หรือ NGOs อีกจำนวนหนึ่งที่ร่วมกันทำงานเพื่อส่งเสริมสนับสนุนให้ประชาชนคนไทยมีสุขภาวะที่ดี มีสุขภาพกายสุขภาพจิตที่ดีขึ้น แต่การที่มีหน่วยงานมากมายมารุมทำงานเรื่องเดียวกัน ทำให้ยากที่จะบอกได้ว่าหน่วยงานไหนทำงานได้ผลมากน้อยกว่ากัน ยกเว้นเรื่องงบประมาณที่ชัดเจนว่าแตกต่างกันตามที่ได้รับอนุมัติจากรัฐบาลหรือภาษีพิเศษประเภทภาษีบาป

เรากำลังจะมีคณะกรรมการนโยบายสุขภาพแห่งชาติ มาทำหน้าที่แกนกลางควบคุมการทำงานของหน่วยงานทั้งหลายในระบบสาธารณสุข แต่ก็ไม่แน่ใจว่าจะทำได้แค่ไหน เพราะแต่ละหน่วยงานก็มีกฎหมายของตัวเองที่จะต้องปฏิบัติตาม

ที่จริงแผนยุทธศาสตร์ 20 ปีของกระทรวงสาธารณสุข น่าจะเป็นแผนแม่บทของระบบสาธารณสุขทั้งประเทศ แต่เมื่ออ่านดูแล้วก็พบว่าไม่ได้กำหนดมาตรการที่จะนำไปสู่การปฏิรูประบบสาธารณสุขอย่างชัดเจน ได้แต่กำหนดกว้างๆเป็นช่วงระยะเวลา เช่นช่วงปี 2560-64 เป็นช่วงปฏิรูป ช่วงปี 2565-69 เป็นช่วงสร้างความเข้มแข็ง ช่วงปี 2570-74 เป็นช่วงสู่ความยั่งยืน และช่วง 2575-79 เป็นช่วงที่จะก้าวเป็น หนึ่งในสาม ของเอเซีย สามช่วงแรกนั้นยังเป็นเรื่องที่ยากลำบาก การจะไปถึงช่วงที่สี่คงจะยิ่งยากที่มองไม่เห็นว่าจะทำได้อย่างไร

แผนยุทธศาสตร์ 20 ปีของ กระทรวงสาธารณสุขมีกรอบการวิเคราะห์ประกอบด้วย 3 เป้าหมายหลักคือประชาชนสุขภาพดี เจ้าหน้าที่มีความสุข และระบบสุขภาพยั่งยืน โดยเป้าหมายที่ 1 เรื่องประชาชนสุขภาพดีเน้นในเรื่องการเสียชีวิตก่อนวัยอันควรทั้งจากเหตุภายนอกคืออุบัติเหตุ ฆ่าตัวตาย จมน้ำ และถูกทำร้าย ส่วนจากโรคนั้นประกอบด้วย เบาหวาน หลอดเลือดสมอง หัวใจขาดเลือด มะเร็งตับ มะเร็งปอด วัณโรค เอดส์ และปอดอุดกั้นเรื้อรัง เป้าหมายที่ 2 เรื่องเจ้าหน้าที่มีความสุข นั้นประกอบด้วย มีกำลังคนที่มีคุณภาพ บริหารกำลังคนให้เกิดประโยชน์สูงสุด สร้างความพร้อมกำลังคนด้านสุขภาพเชิงกลยุทธ์ และดึงดูดและธำรงรักษากำลังคนคุณภาพ เป้าหมายที่ 3 เรื่องสุขภาพยั่งยืน รวมไว้หลายเรื่องตั้งแต่เพิ่มแพทย์ สหวิชาชีพ เตียงพยาบาล วัคซีน คัดกรอง ยา สมุนไพร HA การรอ รับบริการซ้ำ ความพึงพอใจ ความซื่อสัตย์ รายจ่ายสุขภาพต่อ GDP ข้อมูลสารสนเทศเชื่อมโยงระบบ และความเหลื่อมล้ำทุกสิทธิ ส่วนเป้าหมายที่ 4 ปล่อยว่างไว้ ยังไม่มีรายละเอียดว่าจะทำอย่างไร

ยุทธศาสตร์ 20 ปีของกระทรวงสาธารณสุข เป็นยุทธศาสตร์เฉพาะหน่วยงานกระทรวง ไม่สามารถรวมยุทธศาสตร์ขององค์กรอิสระทางด้านสาธารณสุขอื่นๆที่พูดถึงข้างต้นอีกมากมายมาเป็นยุทธศาสตร์เดียวกันได้ เป็นลักษณะต่างคนต่างเดิน ต่างคนต่างมีงบประมาณของตัวเอง มีนายของตัวเอง เป็นอิสระต่อกัน โอกาสที่ระบบสาธารณสุขไทยจะก้าวไปข้างหน้าอย่างแข็งแรงจึงเป็นเรื่องที่ไม่มีใครบอกได้เลย คิดแล้วก็วังเวงในหัวใจ