ญี่ปุ่น การถอนตัวจากข้อตกลงอาวุธนิวเคลียร์พิสัยปานกลางของUS*

ญี่ปุ่น การถอนตัวจากข้อตกลงอาวุธนิวเคลียร์พิสัยปานกลางของUS*

ในการปราศัยเมื่อวันที่ 20 ต.ค. 2018 ที่รัฐเนวาด้า ประธานาธิบดีทรัมป์ได้ประกาศว่าสหรัฐฯจะถอนตัวออกจากข้อตกลงอาวุธนิวเคลียร์พิสัยปานกลาง

ข้อตกลงอาวุธนิวเคลียร์พิสัยปานกลาง (Intermidate-Range Nuclear Forces (INF) Treaty) เนื่องจากรัสเซียละเมิดข้อตกลงดังกล่าวและจีนไม่ถูกผูกมัดด้วยข้อตกลงฉบับนี้ โดยทรัมป์เห็นว่าการที่รัสเซียและจีนสามารถพัฒนาและสะสมขีปนาวุธชนิดนี้ได้ ในขณะที่สหรัฐฯไม่สามารถกระทำได้เป็นสิ่งที่ไม่สามารถยอมรับได้ในทางยุทธศาสตร์

ข้อตกลง INF เป็นข้อตกลงระหว่างสหรัฐฯและสหภาพโซเวียตที่มีเป้าหมายในการลดโอกาสของการเกิดสงครามนิวเคลียร์ในยุโรป ซึ่งเป็นพื้นที่สำคัญของความขัดแย้งระหว่างสองมหาอำนาจในยุคสงครามเย็น โดยข้อตกลงฉบับนี้ได้รับการยกย่องว่าเป็นเงื่อนไขสำคัญที่ทำให้ยุโรปรอดพ้นจากสงครามนิวเคลียร์และเป็นสาเหตุหนึ่งที่นำไปสู่การสิ้นสุดของสงครามเย็นในเวลาต่อมา

การละเมิดข้อตกลงของรัสเซียเริ่มต้นขึ้นในช่วงต้นของทศวรรษ 2000 จากการที่รัสเซียมีความวิตกกังวลต่อความเสียเปรียบทางการทหารของตนเองต่อประเทศที่ไม่ถูกผูกมัดด้วยข้อตกลง INF เช่น เกาหลีเหนือ เกาหลีใต้ ปากีสถาน อิหร่าน อิสราเอล อินเดีย และซาอุดิอาราเบีย โดยเฉพาะในกรณีของจีนที่มีเขตแดนใกล้ชิดกับรัสเซียและมีขีปนาวุธพิสัยกลางอยู่ในความครอบครองเป็นจำนวนมาก ด้วยเหตุนี้ รัสเซียจึงได้พัฒนาขีปนาวุธพิสัยกลางของตนเองขึ้น (9M729/SSC-8) ซึ่งเป็นการละเมิดข้อตกลง INF โดยตรง

การละเมิดข้อตกลง INF ของรัสเซียถูกกล่าวถึงอย่างเป็นทางการครั้งแรกในปี 2014 ในสมัยของประธานาธิบดีบารัค โอบามา แต่สหรัฐฯและสหภาพยุโรปล้มเหลวที่จะกดดันให้รัสเซียกลับมาปฏิบัติตามข้อตกลง จนกระทั่งทรัมป์ประกาศเจตนารมย์ในการถอนตัวจากข้อตกลง INF ในเดือนตุลาคมที่ผ่านมา

การประกาศถอนตัวจากข้อตกลง INF ของทรัมป์สร้างความกังวลให้กับสหภาพยุโรปเป็นอย่างมาก เพราะการสิ้นสุดลงของข้อตกลงนี้จะนำไปสู่การแข่งขันสะสมอาวุธอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ อีกทั้งเป็นการปลดข้อจำกัดทั้งหมดในการใช้และพัฒนาขีปนาวุธพิสัยกลางแบบยิงจากภาคพื้นดินให้กับรัสเซีย ในขณะที่สหรัฐฯไม่มีอาวุธในลักษณะเดียวกันในความครอบครอง และมีความเป็นไปได้ที่รัฐสภาของสหรัฐฯจะไม่อนุมัติงบประมาณในการพัฒนาขีปนาวุธพิสัยกลางนี้หลังจากที่สหรัฐฯถอนตัวจากข้อตกลง INF แล้ว

สำหรับญี่ปุ่นนั้น การถอนตัวจากข้อตกลง INF ของสหรัฐฯแทบไม่ต่างอะไรจากการเปลี่ยนภูมิภาคเอเซียตะวันออกในปัจจุบันให้กลายเป็นยุโรปในยุคสงครามเย็นในช่วงก่อนการเกิดขึ้นของข้อตกลง INF เพราะขีปนาวุธพิสัยกลางที่ถูกห้ามโดยข้อตกลง INF เป็นขีปนาวุธแบบยิงจากภาคพื้นดินซึ่งมีระยะทำการระหว่าง 500-5,500 กิโลเมตร ดังนั้น หากสหรัฐฯพัฒนาขีปนาวุธชนิดนี้ขึ้น โดยมีเป้าหมายอยู่ที่จีน รัสเซีย และเกาหลีเหนือแล้ว สหรัฐฯจำเป็นจะต้องนำเอาขีปนาวุธชนิดนี้และระบบสนับสนุนต่างๆ มาติดตั้งในญี่ปุ่น ซึ่งเป็นประเทศพันธมิตรของสหรัฐฯในเอเซียตะวันออกอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

การยอมให้สหรัฐฯนำขีปนาวุธพิสัยกลางที่สามารถติดหัวรบนิวเคลียร์ได้มาติดตั้งในประเทศจะทำให้ญี่ปุ่นมีความขัดแย้งอย่างรุนแรงกับประเทศเพื่อนบ้านทั้งหมดในเอเซียตะวันออก เพราะนอกจากวลาดิเมียร์ ปูตินประธานาธิบดีรัสเซียจะกล่าวว่า ประเทศใดก็ตามที่ยอมให้สหรัฐฯนำเอาขีปนาวุธพิสัยกลางมาติดตั้งในประเทศจะตกเป็นเป้าหมายของการตอบโต้ของรัสเซียแล้ว มีความเป็นไปได้อย่างมากที่จีนจะตอบโต้ญี่ปุ่นด้วยมาตรการในลักษณะเดียวกันกับที่จีนเคยใช้กับเกาหลีใต้ในกรณีของ THAAD ในสมัยของประธานาธิบดีปักกึนเฮ ซึ่งความสัมพันธ์ที่เลวร้ายลงนี้จะทำให้ความพยายามในการแก้ปัญหาความสัมพันธ์กับประเทศเพื่อนบ้านทั้งหมดที่ผ่านมาของรัฐบาลของนายกรัฐมนตรีชินโซ อาเบะล้มเหลวลงอย่างสิ้นเชิง ทั้งในกรณีหมู่เกาะเซนกะกุในกรณีของจีน ข้อพิพาทหมู่เกาะคูริลในกรณีของรัสเซีย ข้อพิพาททางประวัติศาสตร์ในกรณีของเกาหลีใต้ และการลักพาตัวชาวญี่ปุ่นในกรณีของเกาหลีเหนือ รวมไปถึงความร่วมมือทางเศรษฐกิจต่างๆ นอกจากนั้น การยินยอมให้สหรัฐฯนำเอาขีปนาวุธพิสัยกลางมาติดตั้งจะทำให้ญี่ปุ่นเกิดปัญหาการเมืองภายในขึ้น เพราะเป็นการกระทำที่ขัดแย้งกับหลักการสันติภาพนิยมที่ประชาชนญี่ปุ่นยึดถือ รวมไปถึงกรณีของชาวโอกินะวะที่เห็นว่า ตนเองต้องแบกรับต้นทุนของสันติภาพของญี่ปุ่นอย่างไม่เป็นธรรมมาโดยตลอด และเรียกร้องให้มีการย้ายฐานทัพของสหรัฐฯออกนอกพื้นที่มาอย่างยาวนาน

การประกาศว่าจะถอนตัวออกจากข้อตกลง INF ของสหรัฐฯสะท้อนถึงสถานการณ์ด้านความมั่นคงระดับโลกในอนาคตอันใกล้ ที่ภูมิภาคเอเซียตะวันออกจะกลายเป็นพื้นที่สำคัญของสงครามเย็นยุคใหม่ ดังนั้น แม้การที่อาเบะนำพาญี่ปุ่นเข้าไปใกล้ชิดกับสหรัฐฯมากยิ่งขึ้นโดยการประกาศใช้กฎหมายความมั่นคงในระหว่างปี 2015-2016 ที่ผ่านมาจะเป็นหนทางที่เป็นไปได้มากที่สุดในการรับประกันสันติภาพของญี่ปุ่นจากการคุกคามของจีน แต่ด้วยความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดมากยิ่งขึ้นนี้ ญี่ปุ่นก็จะยิ่งไร้เสรีภาพที่จะดำเนินนโยบายต่างประเทศเพื่อผลประโยชน์สูงสุดของตนเอง

ด้วยเหตุนี้ การออกจาก “ยุคหลังสงคราม” ที่เป็นเป้าหมายสูงสุดทางการเมืองของอาเบะ จึงควรจะเป็นการออกจากความสัมพันธ์ที่น่าอึดอัดนี้ ไม่ใช่การปลูกฝังความรู้สึกชาตินิยมในลักษณะที่ยิ่งจะทำให้ญี่ปุ่นต้องอยู่ในความสัมพันธ์ดังกล่าวต่อไป และการออกจากความสัมพันธ์นี้จำเป็นจะต้องเกิดขึ้นภายในทศวรรษที่จะมาถึง หากญี่ปุ่นเชื่อว่าสงครามระหว่างสหรัฐฯกับจีนในอีก 15 ปีข้างหน้า เป็นสิ่งที่เป็นไปได้ 

[เนื้อหาของบทความนี้เป็นความเห็นส่วนตัวของผู้เขียน ไม่ใช่ความเห็นของหน่วยงานที่ผู้เขียนสังกัดแต่อย่างใด]

โดย... 

ภาคภูมิ วาณิชกะ

ศูนย์ญี่ปุ่น-อาเซียนศึกษา สถาบันเอเซียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 

* ชื่อเต็ม: ญี่ปุ่นและการถอนตัวจากข้อตกลงอาวุธนิวเคลียร์พิสัยปานกลางของสหรัฐฯ