FINNOPEDIA ตอน US 2-10 Spread และ USD/JP

FINNOPEDIA ตอน US 2-10 Spread และ USD/JP

FINNOPEDIA ตั้งใจที่จะทำหน้าที่เป็นเหมือนดิกชันนารี หรือ Encyclopedia สำหรับนักลงทุน

โดยจะเป็นการเล่าถึงความหมายของ  Indicators คือปัจจัย หรือตัวชี้วัดต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นตัวชี้วัดทางเศรษฐกิจ, Market Indicators ไปจนถึงอัตราส่วนทางการเงิน และปัจจัยเทคนิคที่มีผลต่อราคาสินทรัพย์ และผลตอบแทนการลงทุน โดยวันนี้เราจะมาทำความรู้จักกับRisk Indicator 2 ตัว คือ US 2-10 Spread และ USD/JPY กันครับ

US 2-10 Spread

US 2-10 Spread หมายถึงส่วนต่างระหว่างอัตราผลตอบแทนพันธบัตร (Yield to Maturity) 10 ปี กับ 2 ปี ซึ่งเป็นตัวสะท้อนความชันของเส้นอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาล (Yield Curve) ของสหรัฐฯ

โดย US 2-10 Spread ที่สูงขึ้นสะท้อนถึงการที่นักลงทุนในตลาดคาดการณ์อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจและเงินเฟ้อที่สูงขึ้นทำให้ Yield พันธบัตรตัวยาวสูงขึ้น นอกจากนี้ยังสะท้อนถึงการที่ตลาดคาดการณ์ว่าอัตราดอกเบี้ยระยะสั้นและดอกเบี้ยนโยบายมีแนวโน้มที่จะปรับตัวเพิ่มขึ้นในอนาคต

ขณะที่ US 2-10 Spread ที่ต่ำลงสะท้อนถึงการที่นักลงทุนในตลาดคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจ และเงินเฟ้อจะชะลอตัวลงในอนาคต ทำให้ Yield พันธบัตรรัฐบาลระยะยาวปรับตัวลดลง นอกจากนี้ยังเป็นการสะท้อนว่าตลาดเชื่อว่าดอกเบี้ยระยะสั้นและดอกเบี้ยนโยบายจะลดลงในอนาคต

จากรูปที่ 1 เมื่อเราดู US 2-10 Spread เปรียบเทียบกับดัชนี S&P 500 ย้อนหลังกว่า 30 ปีที่ผ่านมา เราจะพบว่า US 2-10 Spread เมื่อปรับตัวลดลงเข้าใกล้ศูนย์ หรือต่ำกว่าศูนย์ทีเรียกกันว่า Inverted Yield Curve (Bond Yield 2 ปีสูงกว่า Bond Yield 10 ปี) มักจะตามมาด้วยการปรับฐานใหญ่ของตลาดหุ้นสหรัฐฯ ทำให้ US 2-10 Spread จัดเป็น Risk Indicator ตัวหนึ่งที่นักลงทุนทั่วโลกให้ความสนใจ โดยช่วงระยะเวลาที่ 2-10 Spread มีความชันมากขึ้นจะเป็นช่วงที่นักลงทุนชอบความเสี่ยง (Risk Taking Mode) เพราะเศรษฐกิจโตขึ้น ขณะที่เมื่อ 2-10 Spread แบนราบลงหรือติดลบ (Inverted) มักจะตามมาด้วยช่วงเวลาที่นักลงทุนกลัวความเสี่ยง (Risk Averse Mode)

ค่าเงินเยน (USD/JPY)

ญี่ปุ่นมักจะเป็นประเทศที่ดอกเบี้ยต่ำเมื่อเทียบกับประเทศอื่นในโลก ทำให้บ่อยครั้งเวลานักลงทุนในตลาดโลกอยู่ในช่วงเวลาชอบความเสี่ยง (Risk Taking Mode) มักจะมีการทำ Yen Carry Trade คือการกู้ยืมเงินสกุลเยนซึ่งดอกเบี้ยต่ำ ไปลงทุนในประเทศที่มีดอกเบี้ยสูงเช่นประเทศในกลุ่ม Emerging Market เพื่อกินส่วนต่างของอัตราดอกเบี้ย ซึ่งส่งผลให้ค่าเงินเยนเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐฯมีทิศทางอ่อนค่า

กลับกันบ่อยครั้งเมื่อนักลงทุนในตลาดโลกอยู่ในช่วงเวลากลัวความเสี่ยง (Risk Averse Mode) ก็มักจะมี fund flow ที่กลับข้างกันคือการนักลงทุนเอาเงินออกจากประเทศที่ดอกเบี้ยสูงไปพักไว้ในประเทศที่มีดอกเบี้ยต่ำอย่างญี่ปุ่น ซึ่งส่งผลให้ค่าเงินเยนแข็งค่านั่นเอง

ค่าเงินเยนจึงจัดเป็น Risk Indicator ตัวหนึ่งที่นักลงทุนทั่วโลกให้ความสนใจ โดยมองเงินเยนเป็นเหมือนหลุมหลบภัย (Safe Haven) ในยามที่ตลาดผันผวน อย่างไรก็ตาม Risk Indicator นั้นไม่ได้มีตัวเดียว การจะใช้ USD/JPY เพียงปัจจัยเดียวในการกำหนดกลยุทธ์ว่าควรให้น้ำหนักการลงทุนในหุ้นเยอะหรือน้อยนั้นไม่เพียงพอ

นักลงทุนต้องศึกษา Risk Indicators หลาย ๆ ตัวประกอบกัน รวมถึงหมั่นดูภาพเศรษฐกิจมหภาค และพลวัตรของ Fund Flow บ่อย ๆ จะทำให้การกำหนดมุมมองการลงทุนเฉียบขาดมากขึ้นครับ