“ฟู้ดคลาวด์” สร้างโลกใบใหม่ ที่ไม่มีอาหารเหลือทิ้ง

“ฟู้ดคลาวด์” สร้างโลกใบใหม่ ที่ไม่มีอาหารเหลือทิ้ง

สวัสดีค่ะคุณผู้อ่านทุกท่าน ทราบหรือไม่คะว่า ในแต่ละวันคนเรารับประทานอาหารกันอย่าง “ทิ้งขวาง” แค่ไหน

จากสถิติของ Harvard Food Law and Policy Clinic ได้รวมตัวเลขในสหรัฐอเมริกาเอาไว้ว่า ประมาณ 40% ของอาหารทั้งหมดในอเมริกานั้นได้กลายเป็น ขยะในเวลาต่อมา หรือประมาณ 7 หมื่นล้านกิโลกรัมต่อปี และที่เรามีขยะอาหารล้นโลกนั้นก็มีหลายสาเหตุด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็นการที่บางประเทศให้เงินอุดหนุนแก่ภาคการเกษตร ทำให้มีการผลิตอาหารมากเกินไป หรือบรรทัดฐานของบางสังคมที่ทำให้เราผลิตอาหารมากกว่าที่ร่างกายต้องการ ไปจนถึงการนำอาหารมาประดับตกแต่งจานเพื่อความสวยงาม เช่นการตกแต่งด้วยผักและผลไม้ หรือแม้แต่ปัญหาด้านโครงสร้างพื้นฐานของบางสังคมที่ไม่มีระบบการจัดเก็บอาหารที่ดีพอ เป็นต้น

และที่ยิ่งไปกว่านั้น “กฎหมาย” ในบางประเทศอย่างอเมริกาก็เข้มงวดมาก ทำให้ไม่สามารถนำอาหารเหลือเกินความจำเป็นเหล่านี้ไปให้แก่คนที่ต้องการได้ เพราะเมื่อร้านอาหารใดๆ บริจาคอาหารเหลือ หากต่อมาคนที่บริโภคอาหารนั้นเข้าไปเกิดเจ็บป่วยหรือที่ร้ายแรงที่สุดคือเสียชีวิตขึ้นมา ผู้ที่มอบอาหารให้จะต้องเป็นผู้รับผิดชอบทั้งหมด หลายร้านจึงเลือกที่จะ “ทิ้ง” อาหารนั้นไปเสียดีกว่าที่จะต้องมาแบกรับความเสี่ยง เป็นต้น แม้ในเวลาต่อมาจะมีกฎหมายอย่าง Good Samaritan Law ว่าด้วยการปฏิบัติหน้าที่พลเมืองที่ดีที่ลดความผิดหากผู้บริจาคไม่ได้ประมาทหรือตั้งใจทำให้ผู้รับบริจาคป่วยอย่างจงใจ และยังมีข้อจูงใจอย่างผลประโยชน์ทางภาษี หากมีการบริจาคอาหารให้แก่องค์กรการกุศล เป็นต้น

วันนี้ดิฉันจะขอยกตัวอย่างของกิจการเพื่อสังคมรายหนึ่งที่เล็งเห็นถึงปัญหาดังกล่าว และเข้ามาเป็นตัวกลางในการเชื่อมโยงระหว่างร้านค้าร้านอาหารต่างๆ และหน่วยงานการกุศล ได้แก่กิจการที่มีชื่อว่า “FoodCloud” (ฟู้ดคลาวด์) ในไอร์แลนด์ กิจการเพื่อสังคมที่ไม่แสวงกำไรรายนี้ให้บริการแก่ร้านค้าต่างๆ ที่จะต้องจ่ายค่าบริการเป็นการแลกเปลี่ยน โดยในปีที่ผ่านมา FoodClould สามารถขยายความร่วมมือจาก 200 ร้านค้าเป็น 4,000 ร้านค่าทั่วอังกฤษและไอร์แลนด์ และมีผู้รับเป็นชุมชนและหน่วยงานการกุศลกว่า 9,500 ราย

FoodCloud ต่างจากผู้ประกอบการรายอื่นๆ ที่ได้รับอาหารมาจากผู้ผลิต ซึ่งเป็นการบริจาคอาหารที่ไม่เหมาะสมที่จะนำมาจำหน่าย เช่น บิสกิตที่แตกหักจากการผลิต ซึ่งไม่ได้หมายความว่ารับประทานไม่ได้หรือไม่ปลอดภัย แต่สำหรับ FoodCloud อาหารที่ได้จะดีกว่าทั้งในแง่ของปริมาณและคุณภาพ

โมเดลการทำธุรกิจของ FoodCloud คือ เมื่อมีร้านค้าหรือธุรกิจให้ข้อมูลเกี่ยวกับอาหารที่กำลังจะถูกกำจัด องค์กรการกุศลต่างๆ ในท้องถิ่นนั่นก็จะได้รับแจ้ง โดยหน่วยงานการกุศลที่ต้องการได้รับอาหารจะต้องลงทะเบียน และต้องมีระบบการจัดการความปลอดภัยของอาหารที่ดี และมีพนักงานที่ได้รับการอบรมเกี่ยวกับความปลอดภัยของอาหารมาแล้ว

หลักการทำงานของ FoodCloud คือ เมื่อมีร้านค้าต่างๆ ที่ไม่สามารถขายอาหารได้หมด ร้านค้าเหล่านั้นจะอัพโหลดข้อมูลอาหารผ่านทางแสกนเนอร์ของทางร้านหรือแอพในมือถือ จากนั้นหน่วยงานการกุศลในท้องถิ่นก็จะติดต่อร้านค้าผ่านทาง FoodCloud โดยจะได้รับข้อความยืนยันเมื่อร้านค้าพร้อมให้ไปรับอาหาร ซึ่งผลที่ได้นั้นก็ดีต่อทั้งสองฝ่าย หน่วยงานหรือองค์กรการกุศลเหล่านั้นก็จะได้รับอาหารสดใหม่ รวมถึงร้านค้าเหล่านั้นก็จะได้ร่วมช่วยเหลือสังคม แถมยังมีผู้จัดการอาหารที่เหลือเกินความต้องการให้อีกด้วย โดยที่ไม่ต้องเป็นภาระของร้านค้า

โดยองค์กรการกุศลที่เป็นพาร์ทเนอร์ลงทะเบียนกับ FoodCloud นั้นมีทั้งบ้านพักคนจรจัด หรือหน่วยงานการกุศลที่ต้องการลดต้นทุนค่าอาหาร เพื่อนำเงินไประดมทุนทำสิ่งอื่นๆ ที่เป็นประโยชน์ให้แก่สังคมได้ต่อไป

ผู้ก่อตั้ง FoodCloud เอวีน โอเบรน และ “อีซุส วาร์ด” เล่าว่าหน่วยงานการกุศลนั้นโดยธรรมชาติแล้วมักจัดการอาหารได้ไม่ค่อยดีเท่าไหรนัก อีกทั้งยังไม่ได้รับการสนับสนุนเท่าที่ควร หลายแหล่งจึงพยามจัดการกันเองโดยใช้งบประมาณอย่างจำกัดจำเขี่ยเพื่อให้สามารถปฏิบัติตามข้อกำหนดและนโยบายด้านความปลอดภัยได้ หากไม่มีการช่วยเหลือจากหน่วยงานภายนอก การเตรียมความพร้อมด้านนี้ดูจะเป็นไปไม่ได้เอาเสียเลย ดังนั้น FoodCloud จึงเข้ามาช่วยเป็นตัวกลางทำให้ง่ายขึ้น โดยมีวิสัยทัศน์ในการสร้างโลกที่ไม่มีอาหารเหลือทิ้งอีกต่อไป (A world where no good food goes to waste)

FoodCloud จึงเป็นอีกตัวอย่างของกิจการเพื่อสังคมที่คิดอย่างสร้างสรรค์ และสร้างคุณค่าร่วมให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องได้เป็นอย่างดีค่ะ