เค้าโครงเศรษฐกิจของรัฐบุรุษอาวุโส ปรีดี พนมยงค์ (จบ)***

	เค้าโครงเศรษฐกิจของรัฐบุรุษอาวุโส ปรีดี พนมยงค์ (จบ)***

จากเมื่อวันพฤหัสบดีที่ 8 พ.ย.ที่ผ่านมา ต่อเนื่องเรื่องเค้าโครงเศรษฐกิจของ ท่านปรีดี พนมยงค์ ในตอนสุดท้าย

ในช่วงต้นของการยึดอำนาจ เศรษฐกิจไม่ดีและมีคนว่างงานจำนวนมาก แต่รัฐบาลก็ยังไม่เร่งวางโครงการเศรษฐกิจแห่งชาติตามที่ได้สัญญาเอาไว้ตามหลัก 6 ประการ ด้วยการหางานให้ราษฎรทำ ทั้งที่มีแรงกดดันให้เร่งรัดเค้าโครงการเศรษฐกิจเพิ่มขึ้นตามลำดับจากสภาผู้แทนราษฎรโดยเฉพาะจากกลุ่มก้อนผู้สนับสนุนท่านปรีดี

ในวันที่ 21 ก.ย. รัฐบาลได้ออกพระราชบัญญัติ(พ.ร.บ.)ว่าด้วยการลดและเลิกอัตราเก็บเงินค่าที่สวน อีกราวหนึ่งเดือนถัดมา รัฐบาลได้ออกพ.ร.บ.ห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา คณะราษฎรได้ดำเนินการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจไปเพียงบางส่วนในช่วงแรกหลังยึดกุมอำนาจรัฐ

เมื่อมีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญ(รธน.) ฉบับถาวร ในวันที่ 10 ธ.ค. คณะกรรมการราษฎรได้ถวายบังคมลาออกเพื่อให้เป็นไปตามวิถีทางแห่ง รธน.ฉบับใหม่ และในวันนั้นเอง ได้มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งคณะรัฐมนตรี(ครม.)ชุดใหม่ขึ้น โดยท่านปรีดีได้รับเลือกให้เป็นคณะกรรมการราษฎร (ชื่อเรียกตำแหน่ง ‘รัฐมนตรี’ ในขณะนั้นตามข้อเสนอของท่านปรีดี) ในคณะรัฐมนตรีชุดแรก และได้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีในคณะรัฐมนตรีชุดใหม่ โดยก่อนจะเข้าสู่ตำแหน่งบริหารในคณะรัฐมนตรี ท่านได้ทำงานหลายอย่างที่เกี่ยวข้องกับการวางรากฐานแก่ระบบรัฐสภา ในฐานะเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรคนแรก และมีบทบาทสำคัญในการร่างรัฐธรรมนูญทั้งฉบับชั่วคราวและฉบับถาวร

ต่อมา รัฐบาลมีมติมอบหมายให้ท่านปรีดีเป็นผู้ร่างเค้าโครงการเศรษฐกิจเสนอรัฐบาล เมื่อท่านปรีดีได้ร่างเค้าโครงการเศรษฐกิจเสร็จแล้ว ก็ได้นำไปมอบให้พระยามโนปกรณ์นิติธาดา นายกรัฐมนตรี เพื่อเสนอที่ประชุม ครม.พิจารณารับรองก่อนเข้าที่ประชุมสภา เมื่อพระยามโนฯ ได้รับร่างนั้นแล้ว ก็ได้เรียกประชุมขึ้นอย่างไม่เป็นทางการ

ท่านปรีดีได้เสนอเค้าโครงการเศรษฐกิจเพื่อใช้เป็นหลักในการบริหารเมื่อวันที่ 10 มี.ค.2476 แต่สุดท้ายก็ถูกบีบให้เดินทางออกนอกประเทศ โดยเป็นการลี้ภัยการเมืองครั้งแรกด้วยข้อหามีการกระทำอันเป็นคอมมิวนิสต์

การเสนอเค้าโครงการเศรษฐกิจของท่านปรีดี เข้าทางกลุ่มอนุรักษ์นิยมพอดิบพอดี จึงถือเป็นโอกาสกำจัด ‘ท่านปรีดี’ ออกจากเวทีการเมือง

  เวลานี้ ประเทศไทยได้มาถึงจุดเปลี่ยนสำคัญ เช่นเดียวกับช่วงเวลาหลังการอภิวัฒน์ 2475 ช่วงเวลาหลังการรัฐประหาร 2490 ช่วงเวลาหลังการรัฐประหาร 2500 ช่วงเวลาหลังรัฐประหาร 2549 ช่วงเวลาหลังรัฐประหาร 2534 และช่วงเวลาหลังการรัฐประหาร 2519

แต่จุดเปลี่ยนผ่านครั้งนี้จะแตกต่างจากหลายครั้งในอดีต หากสามารถผ่านช่วงเวลายากลำบากนี้ไปได้โดยยึดมั่นในแนวทางสันติประชาธรรมและสามารถทำให้เกิดการปฏิรูปประเทศครั้งใหญ่จริง เราจะพัฒนาสู่ประเทศที่พัฒนาแล้ว และอาจเป็นจุดเริ่มต้นของการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญที่สุดของการเมืองสยามยุคใหม่ เป็นหน้าที่ของพลเมืองผู้รักชาติทุกคนที่ต้องร่วมกันขับเคลื่อนสังคมไปข้างหน้าโดยยึดหลักสันติธรรม และยืนหยัดในหลักการประชาธิปไตยอย่างไม่หวั่นไหว

แม้นแนวคิดเศรษฐกิจและแนวทางการบริหารด้านเศรษฐกิจของท่านปรีดีจะเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นเมื่อ 70 กว่าปีมาแล้วก็ตาม แนวทางหลายอย่างยังคงทันสมัย แต่บางอย่างอาจต้องปรับประยุกต์ให้เหมาะกับยุคสมัย เนื่องจากสภาวะแวดล้อมทางการเมืองและเศรษฐกิจสังคมที่เปลี่ยนแปลงไปมาก

อนาคตเศรษฐกิจไทยจะมีปัญหาเรื่องความสามารถในการแข่งขัน ปัญหานี้จะนำมาสู่การย้ายฐานการผลิต เมื่อพ่วงด้วยสถานการณ์ความไม่แน่นอนและความเสี่ยงทางการเมือง ย่อมทำให้ประเทศไม่อยู่ในฐานะที่จะรักษาเม็ดเงินลงทุนได้แบบเดิม การว่างงานจะลุกลามและแผ่กว้าง ประชาชนจึงต้องมีหลักประกันในการมีงานทำและมีคุณภาพชีวิต ชีวิตของชาวบ้านไม่ควรผูกยึดกับความผันผวนทางเศรษฐกิจการเมือง แต่ควรมีหลักประกันหากยึดตามหลักที่ท่านปรีดีวางไว้ด้วยระบบและกลไกที่ดูแลปัญหาดังกล่าว

ปัญหาเศรษฐกิจของไทยที่สำคัญอีกประการหนึ่งก็คือ ปัญหาความเป็นธรรมทางเศรษฐกิจและการกระจายรายได้ ท่านปรีดีใช้ความพยายามแก้ปัญหาเรื่องนี้ตั้งแต่ช่วงแรกๆ เมื่อได้อำนาจทางการเมือง หากแต่บางเรื่องไม่อาจผลักดันให้เกิดขึ้นโดยง่าย อาทิเช่น แนวคิดเรื่องการเก็บภาษีทรัพย์สินและภาษีมรดก จนกระทั่งวันนี้ก็ยังไม่สามารถผ่านกฎหมายมาบังคับใช้เพราะเรื่องยังคงค้างเติ่งอยู่ในกระทรวงการคลัง โดยที่ผู้เขียนไม่มีความมั่นใจเลยว่า รัฐบาลชุดปัจจุบันหรือในอนาคตจะสามารถผลักดันเรื่องดังกล่าวได้ เพราะยังมีแรงเสียดทานจากบรรดาผู้เสียผลประโยชน์ โดยเฉพาะผู้ที่นั่งกันอยู่ในคณะรัฐมนตรี และรัฐสภา ย่อมไม่ให้ผ่านไปได้โดยง่าย

 

*** ชื่อเต็ม: 

เค้าโครงเศรษฐกิจของรัฐบุรุษอาวุโส ปรีดี พนมยงค์ 

สู่ จากครรภ์มารดาถึงเชิงตะกอน​ (จบ)