อัตราเงินเฟ้อโลกต่ำเพราะอะไร? ไขข้อสงสัยผ่านมุมมองเทคโนโลยี

อัตราเงินเฟ้อโลกต่ำเพราะอะไร? ไขข้อสงสัยผ่านมุมมองเทคโนโลยี

อัตราเงินเฟ้อโลกที่อยู่ในระดับต่ำมาเป็นเวลานานเป็นปรากฏการณ์ที่สาธารณชนในวงกว้างกำลังให้ความสนใจ

โดยเฉพาะสาเหตุที่ทำให้อัตราเงินเฟ้อยังคงต่ำต่อเนื่องแม้เศรษฐกิจจะเริ่มฟื้นตัวได้หลังจากวิกฤตเศรษฐกิจได้ผ่านพ้นไปแล้ว บทความนี้จึงพยายามไขข้อสงสัยว่าอะไรคือสาเหตุที่ทำให้อัตราเงินเฟ้ออยู่ในระดับต่ำ และอัตราเงินเฟ้อตอบสนองกับการขยายตัวของเศรษฐกิจน้อยลงเพราะอะไรผ่านมุมมองเทคโนโลยี เป็นสำคัญ

แนวโน้มเงินเฟ้อโลกในภาพรวมที่อยู่ในระดับต่ำนั้นไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่เป็นเรื่องที่นักวิชาการได้ให้ความสนใจและทำการศึกษามาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งสามารถอธิบายได้ด้วยปัจจัยเชิงโครงสร้างหลายปัจจัย เช่น การกำหนดเป้าหมายอัตราเงินเฟ้อของธนาคารกลางช่วยให้การยึดเหนี่ยวการคาดการณ์เงินเฟ้อของสาธารณชนดีขึ้น กระแสโลกาภิวัตน์ที่ช่วยเพิ่มผู้เล่นในตลาดและลดต้นทุนการผลิต การเริ่มเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุในหลายๆ ประเทศทำให้แรงกดดันเงินเฟ้อจากด้านอุปสงค์ลดลง รวมถึงโครงสร้างการผลิตน้ำมันดิบของโลกที่เปลี่ยนแปลงไปจากการเพิ่มขึ้นของ Shale Oil ในสหรัฐฯ รวมถึงปัจจัยเชิงวัฏจักรโดยเฉพาะการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจหลังวิกฤตทางการเงินที่ไม่เข้มแข็งมากนัก ภาคเอกชนที่มีหนี้สูงในหลายประเทศไม่ว่าจะเป็นสหรัฐฯ หรือในยุโรปในช่วงที่ผ่านมาต้องมุ่งเน้นที่การลดภาระหนี้ (Deleveraging) ซึ่งส่งผลให้การเติบโตของธุรกิจและการจ้างงานเป็นไปอย่างล่าช้า และทำให้อัตราการว่างงานอยู่ในระดับสูงเป็นเวลาหลายปี อย่างไรก็ดี แม้ราคาพลังงานล่าสุดจะทยอยปรับเพิ่มขึ้นและเศรษฐกิจหลายประเทศเริ่มฟื้นตัวได้อย่างเข้มแข็งมากขึ้น แต่อัตราเงินเฟ้อโดยรวมยังคงไม่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างชัดเจน โดยกลุ่มประเทศ G3 และเอเชียมีอัตราเงินเฟ้อเฉลี่ยลดลงจากร้อยละ 1.7 และร้อยละ 4.3 ในช่วงก่อนวิกฤติปี 2544 – 2551 เหลือเพียงร้อยละ 0.9 และร้อยละ 3.9 ตามลำดับ ในช่วงหลังวิกฤติปี 2552 – 2560 เท่านั้น

อัตราเงินเฟ้อโลกต่ำเพราะอะไร? ไขข้อสงสัยผ่านมุมมองเทคโนโลยี

E-commerce ทำให้เงินเฟ้อต่ำ? อัตราเงินเฟ้อโลกที่ต่ำต่อเนื่องทำให้นักวิชาการเริ่มให้ความสนใจถึงบทบาทของความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีที่อาจทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างอัตราเงินเฟ้อและการขยายตัวของเศรษฐกิจเปลี่ยนแปลงไป  โดยเฉพาะการเข้ามาของบริการ E-commerce ที่ผู้ประกอบการหันมาใช้ Platform ออนไลน์ในการขายสินค้ามากขึ้น และผู้บริโภคมีช่องทางในการเลือกซื้อสินค้ามากขึ้นสามารถเข้าถึงข้อมูลราคาสินค้าได้ง่ายขึ้น ซึ่งบริการ E-commerce ทำให้การแข่งขันในภาคธุรกิจสูงขึ้นและทำให้การปรับราคาสินค้านั้นทำได้ยากขึ้น ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือในสหรัฐฯ ที่เรียกว่า Amazon Effect หรือเหตุการณ์ที่บริษัท Amazon ที่เป็น E-commerce ยักษ์ใหญ่เข้ามาแย่งส่วนแบ่งตลาดการค้าปลีกของบริษัท Walmart ที่ครองอันดับหนึ่งมาโดยตลอดได้ ขณะที่ประเทศในเอเชียก็มีการใช้ E-commerce อย่างแพร่หลายเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็น Alibaba ในจีน Rakuten ในญี่ปุ่น หรือ Lazada ในแถบอาเซียนของเราเอง นอกจากนี้ ต้นทุนการผลิตและราคาสินค้ากลุ่ม ICT ที่ถูกลงอย่างมากก็เป็นปัจจัยหนึ่งที่กระทบอัตราเงินเฟ้อ ตัวอย่างเช่นในสหรัฐฯ ที่ราคาอุปกรณ์ที่เกี่ยวกับกล้อง เครื่องเสียง และคอมพิวเตอร์จากลดลงถึงร้อยละ 60 เมื่อเทียบกับปี 2540

Automation ทำให้เงินเฟ้อต่ำ? ขณะที่กระแสของเทคโนโลยีอีกกลุ่มหนึ่งที่เข้ามามีบทบาทต่ออัตราเงินเฟ้อในหลายๆ ประเทศคือการใช้เครื่องจักรทดแทนในกระบวนการผลิต (Automation) ที่อาจทำให้แรงงานบางส่วนถูกแทนที่ และอาจทำให้แรงงานดังกล่าวต้องย้ายงานไปสู่อุตสาหกรรมที่มีค่าจ้างที่ต่ำลง โดยการนำ Automation มาใช้นั้นเริ่มแพร่หลายมากขึ้นในหลายๆ ประเทศ โดยเฉพาะในกลุ่มประเทศอุตสาหกรรมเช่น เยอรมนี และญี่ปุ่น ซึ่งส่วนหนึ่งมาจากการขาดแคลนแรงงานจากการเป็นสังคมผู้สูงอายุ รวมถึงเพื่อลดต้นทุนและเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิต อย่างไรก็ดี การมาของ Automation ไม่ได้แทนที่แรงงานที่มีอยู่เดิมเพียงอย่างเดียว แต่กลับเพิ่มความต้องการแรงงานที่มีทักษะมากขึ้นเช่นกัน ซึ่งผลกระทบดังกล่าวมีความไม่แน่นอนและจะส่งผลต่อพลวัตรเงินเฟ้อแตกต่างกัน

สำหรับประเทศในเอเชียและไทย แม้ล่าสุดผลกระทบจากความก้าวหน้าของเทคโนโลยีที่มีต่อเงินเฟ้อจะยังไม่มากเท่าประเทศที่พัฒนาแล้ว แต่คาดว่าผลกระทบมีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้น โดยหากดูการใช้บริการ E-commerce เติบโตขึ้นอย่างมากในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา โดยมีอัตราการเติบโตเฉลี่ยถึงปีละ 10% ตั้งแต่ปี 2557 จนถึงปัจจุบัน และยังมีแนวโน้มเติบโตได้ต่อเนื่อง สอดคล้องกับการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตของคนไทยที่สูงขึ้นกว่าในอดีตมาก โดยเพิ่มขึ้นจาก 9.3 ล้านคนในปี 2550 เป็น 29.8 ล้านคนในปี 2559 ขณะที่บทบาทของ Automation ต่ออัตราเงินเฟ้อไทยแม้ในปัจจุบันยังมีจำกัด เนื่องจากยังกระจุกตัวอยู่ในบางอุตสาหกรรม อาทิ รถยนต์ พลาสติก และผลิตภัณฑ์เคมี และยังไม่พบหลักฐานชัดเจนว่าแรงงานถูกแทนที่ แต่กลับพบว่ามีความต้องการแรงงานกลุ่มที่มีทักษะมากขึ้นแทน แต่ในอนาคตหากการใช้ Automation แพร่หลายมากขึ้น ก็มีโอกาสจะส่งผลกระทบต่อการจ้างงานและอัตราเงินเฟ้อได้มากขึ้น

โดยสรุป คงปฏิเสธไม่ได้ว่าเทคโนโลยีเป็นปัจจัยหนึ่งที่กดดันให้เงินเฟ้อมีแนวโน้มอยู่ในระดับต่ำ แม้มองไปข้างหน้าแรงกดดันเงินเฟ้อจากด้านอุปสงค์จะมีแนวโน้มจะปรับสูงขึ้นตามการเติบโตของเศรษฐกิจ แต่ความก้าวหน้าอย่างรวดเร็วของเทคโนโลยีก็อาจทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างอัตราเงินเฟ้อและการขยายตัวของเศรษฐกิจเปลี่ยนไปมากขึ้นเช่นกัน ซึ่งการกำหนดนโยบายเศรษฐกิจที่เกี่ยวข้องจะต้องคำนึงถึงปัจจัยเชิงโครงสร้างดังกล่าว และประเมินผลกระทบให้ครอบคลุมเพื่อที่จะกำหนดนโยบายให้เหมาะสมต่อไป

โดย... 

ภาสกร ตาปสนันทน์