ความคืบหน้าเรื่อง EV กับ AV (3)EV กับ AV (3)

ความคืบหน้าเรื่อง EV กับ AV (3)EV กับ AV (3)

ครั้งที่แล้วผมเขียนถึงการพัฒนาปัญญาประดิษฐ์ (Artificial intelligence หรือ AI) ในการใช้เป็นระบบขับและบังคับรถไฟฟ้าหรือ EV

โดยวัตถุประสงค์เพื่อนำไปสู่การเป็นรถขับเองอย่างเต็มรูปแบบ (Autonomous vehicle หรือ AV) และคาดการณ์ได้ว่าเมื่อพัฒนารถ AV ให้วิ่งบนถนนสาธารณะได้เป็นผลสำเร็จ ก็น่าจะนำไปสู่ความเปลี่ยนแปลงอย่างพลิกผันของการใช้รถยนต์ส่วนตัวจากการมีรถจอดที่บ้านละ 1-2 คัน มาเป็นการเช่าบริการขนส่งส่วนตัวหรือ ride-sharing เช่น Uber ซึ่งทุกบริษัทรถยนต์ขนาดใหญ่ในโลกและบริษัทที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีชั้นนำ เช่น Apple และ Alphabet (บริษัทแม่ของ Google) กำลังทุนพัฒนาค้นคว้าอย่างรีบเร่ง

แต่อีกสิ่งประดิษฐ์หนึ่งที่มีความสำคัญอย่างยิ่งในการพัฒนาให้รถ AV เกิดขึ้นได้จริงคือ Lidar หรือ Light Detection and Ranging กล่าวคือการสร้าง “ตา” ที่รถ AV จะสามารถมองเห็น (detection) และประเมินได้ว่าสิ่งที่มองเห็นนั้นอยู่ห่างเท่าไหร่ (ranging) โดยจะต้องมองให้ “เห็น” อย่างถูกต้องแม่นยำอย่างต่อเนื่อง และสามารถส่งข้อมูลดังกล่าวให้กับระบบ AI ของรถนำไปตัดสินในการบังคับรถ ทั้งนี้โดยจะต้องทำให้มีความรวดเร็วแบบ real time อีกด้วย กล่าวคือ Lidar จะต้องทำงานได้อย่างไม่มีทางผิดพลาดและจะต้องราคาถูกกว่าค่าจ้างคนขับรถนั่นเอง

ความคืบหน้าเรื่อง EV กับ AV (3)EV กับ AV (3)

ปัจจุบันบริษัทที่เป็นผู้นำด้าน Lidar คือบริษัท Velodyne ซึ่งติดตั้งอยู่บนรถที่บริษัท Google ใช้ในการทดลองรถ AV มามากกว่า 3 ล้านกิโลเมตรแล้ว ซึ่งเครื่อง Lidar นั้น คือกล่องขนาดกระติกบรรจุไก่ทอด KFC ที่หมุนอยู่เหนือหลังคาของรถ AV ของ Google นั่นเอง สำหรับรถ Tesla ซึ่งมี auto pilot แต่ไม่ได้ใช้ Lidar (ซึ่งใช้แสง) นั้น ก็เพราะ Tesla ใช้กล้องติดรถรอบคัน แต่กล้องนั้นมีทั้งข้อดีและข้อเสียคือ แม้จะสามารถจับภาพได้อย่างคมชัดในเวลากลางวัน แต่จะไม่สามารถใช้รูปที่เห็นมาคำนวณระยะห่าง (measure distance) ได้อย่างแม่นยำ รวมทั้งจะไม่สามารถคำนวณวัตถุที่อยู่ห่างไกลที่กำลังเคลื่อนตัวว่าเคลื่อนตัวรวดเร็วมากน้อยเพียงใด ซึ่งน่าจะเป็นความเสี่ยงสำหรับรถ AV ที่ต้องคำนวณว่าจะสามารถเลี้ยวขวาตัดหน้ารถที่กำลังขับมาในฝั่งตรงกันข้ามอย่างปลอดภัยได้หรือไม่ เป็นต้น และหากจะใช้เรดาร์ (Radar) ผสมผสานไปก็ยังจะไม่ดีเท่ากับ Lidar เพราะเรดาร์ จะไม่สามารถจับภาพวัตถุ (หรือคน) ที่มีขนาดเล็กให้ทราบได้แน่ชัดว่าวัตถุที่ว่าเป็นเพียงถังขยะหรือคนที่อยู่ข้างถนน เป็นต้น

ดังนั้น สิ่งที่กำลังท้าทายผู้พัฒนาระบบ AV คือราคาของ Lidar ซึ่งเคยสูงถึง 75,000 เหรียญ แต่ Velodyne ได้จำหน่าย Lidar รุ่นใหม่ที่ราคาถูกลง (แต่อาจต้องลดจำนวนหลอดแสงเลเซอร์ลงเหลือ 32 หรือ 16 ตัว) ในราคา 7,999 เหรียญ ทั้งนี้ Velodyne ประกาศว่าจะผลิต Lidar ที่ราคา 500 เหรียญได้ ซึ่งหากทำได้จริงก็น่าจะทำให้ AV เกิดขึ้นได้อย่างรวดเร็วในอนาคต อย่างไรก็ดีการมีกระติกหมุนอยู่บนหลังคาของรถยนต์ทุกคันคงจะไม่น่าดูชมมากนัก นอกจากนั้นระบบ AV ทั้งระบบนั้นในปัจจุบันยังมีราคาสูงถึง 100,000 เหรียญ ทั้งนี้โดยยังไม่รวมราคาของรถยนต์ จึงจะต้องมีพัฒนาการอีกมากเพื่อลดต้นทุนของระบบโดยรวมให้เหลือประมาณ 2,000-3,000 เหรียญในความเห็นของผม แต่เนื่องจากปัจจุบันมีบริษัทใหม่ถูกตั้งขึ้นมามากมาย (start-ups) เพื่อพัฒนาระบบ AV (ประเมินว่าที่สหรัฐมีอย่างน้อย 50 บริษัท) และยังได้รับทุนสนับสนุนจากบริษัทเช่น Google และ Apple นอกจากนั้นบริษัทผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ เช่น Continental, Bosch, Delphi และ Magna ก็กำลังพัฒนาระบบ Lidar ของตนเองหรือร่วมลงทุนกับบริษัทอื่นเพื่อพัฒนา Lidar ทั้งนี้บริษัทฟอร์ดของสหรัฐและ Baidu ของจีนได้ ร่วมกันลงทุนในบริษัท Velodyne มูลค่าประมาณ 150 ล้านเหรียญไปก่อนหน้าแล้ว ในขณะที่ GM ซื้อบริษัทที่กำลังพัฒนา Lidar ชื่อว่า Strobe และโตโยต้า กำลังร่วมพัฒนา Lidar กับบริษัทชื่อ Luminar

แต่พัฒนาการที่น่าจับตามองมากที่สุดเกี่ยวกับ Lidar คือการพัฒนาระบบ Solid-State Lidar กล่าวคือระบบ Lidar ที่ไม่มีส่วนที่จะต้องเคลื่อนตัว เช่นระบบ Lidar ของ Velodyne ที่จะต้องมีกล่องกระติกที่หมุนตัวอยู่ตลอดเวลา ซึ่งในเชิงเทคนิคนั้น มีความพยายามพัฒนา Solid State Lidar อยู่ 3 ระบบคือ Micro Electro Mechanical System (MEMS) Phased-array Lidar และ Flash Lidar ซึ่งรายละเอียดผมจะขอให้ผู้อ่านที่สนใจไปค้นคว้าเอาเองครับ

อีกด้านหนึ่งที่จะต้องจับตาอย่างใกล้ชิดคือบริษัทยักษ์ใหญ่ของจีน ได้แก่ บริษัท Baidu ซึ่งประกาศว่าจะร่วมผลิตรถ AV กับบริษัท FAW ซึ่งเป็นรับวิสาหกิจของจีน โดยได้นำเสนอรถ AV ต้นแบบในเดือน พ.ย.ที่ผ่านมา ทั้งนี้โดยคาดการณ์ว่าจะผลิตรถ AV ออกจำหน่ายในปี 2020 นอกจากนั้น Baidu ก็ยังร่วมลงทุนกับบริษัท Volvo โดยมีความมุ่งหมายว่าจะสามารถผลิตรถ AV ที่มีมาตรฐานเทียบเท่ากับระดับ 4 ของสำนักงานความปลอดภัยบนถนนหลวงของสหรัฐ (NHTSA) กล่าวคือรถขับเองได้ตลอดเวลาที่ขับบนถนนปกติ ไม่ได้นำเอารถที่ออกแบบให้ขับบนถนนปกติไปให้ระบบ AV ขับบนถนนในป่าที่เป็นโคลน เป็นต้น

ทั้งนี้รัฐบาลจีนได้ตั้งเป้าเอาไว้ว่าประเทศจีนจะเป็นผู้นำในด้าน AI และ AV ภายในปี 2030