ปลดประธานนิสสัน: บทเรียนผู้นำ

ปลดประธานนิสสัน: บทเรียนผู้นำ

ข่าวใหญ่วงการธุรกิจทั่วโลกอาทิตย์ที่ผ่านมา คือ การปลดนายคารอส กอส์น(Carlos Ghosn) ประธานคณะกรรมการบริษัทนิสสัน

ประธานคณะกรรมการบริษัทรถยนต์ เรโนลต์(Renault) และประธานคณะกรรมการบริษัทรถยนต์ มิตซูบิชิ ออกจากทั้งสามตำแหน่ง หลังนายคารอส ได้ถูกจับกุมโดยทางการญี่ปุ่น ในข้อหาแจ้งข้อมูลไม่ถูกต้องในการสำแดงรายได้ประจำปีต่ำกว่าตัวเลขจริง ซึ่งเป็นความผิดทางอาญามีโทษจำคุกได้ถึง 10 ปี ข่าวนี้ดังมาก เพราะนายคารอสเป็นผู้บริหารระดับซีอีโอที่ประสบความสำเร็จมากที่สุดคนหนึ่งของโลกสามารถพลิกฟื้นบริษัทรถยนต์นิสสันของญี่ปุ่นไม่ให้ล้มละลายเมื่อ 20 ปีก่อน และสร้างอาณาจักรผู้ผลิตรถยนต์รายใหญ่ของโลกขึ้นมา โดยรวมบริษัทรถยนต์เรโนลต์ของฝรั่งเศส บริษัทรถยนต์นิสสันและมิตซูบิชิของญี่ปุ่นเข้าเป็นเครือข่ายเดียวกัน เพื่อแข่งกับกลุ่มโฟล์คสวาเกนและโตโยต้า เป็นการพลิกฟื้นบริษัทรถยนต์ทั้งสามแห่ง ที่เคยมีอาการร่อแร่มาเป็นอาณาจักรผู้ผลิตรถยนต์ใหญ่เป็นสองของโลก ผลิตรถยนต์รวมกัน 10.6 ล้านคันต่อปี เป็นรองเพียงกลุ่มโฟล์คสวาเก้น ที่ผลิตได้ 10.7 ล้านคันต่อปี ในปี 2015

หลังมีข่าว นายคารอส และกรรมการบริหารนิสสันอีกคน ถูกกล่าวหาและถูกจับกุมโดยทางการญี่ปุ่น หุ้นทั้งสามบริษัทก็ปรับลดลงทันที มากถึง 8 เปอร์เซนต์ ในกรณีของบริษัท เรโนลต์ ร้อยละ 7 ในกรณีมิตซูบิชิ และร้อยละ 5 กรณีนิสสัน การปลดนายคารอส ออกจากตำแหน่งประธานคณะกรรมการทั้งสามบริษัท ทำให้มีความเป็นห่วงว่า อาจเกิดสูญญากาศที่จะสั่นคลอนอาณาจักรผู้ผลิตรถยนต์สามบริษัทที่นายคารอสได้สร้างขึ้นมากับมือ แต่ที่สำคัญกว่า คือ เหตุการณ์ความบกพร่องในการรายงานตัวเลขรายได้เกิดขึ้นได้อย่างไร ติดต่อกันถึง 5 ปี เป็นข้อกล่าวหาที่แสดงถึงความบกพร่องด้านธรรมาภิบาลของบริษัทนิสสัน และมีคำถามว่าคณะกรรมการบริษัทยอมให้เรื่องดังกล่าวเกิดขึ้นได้อย่างไร โดยไม่มีการกำกับดูแลอย่างที่ควร

นายคารอส อายุ 64 ปี มีประวัติการทำงานที่น่าทึ่งมาก เขาเกิดและโตในวัยเด็กที่ประเทศบราซิลในครอบครัวที่พ่อและแม่เป็นคนเลบานอน จึงผูกพันกับประเทศบราซิลมาก พอโตขึ้นก็ไปอยู่กับแม่ที่เลบานอน ก่อนย้ายไปเรียนหนังสือที่ฝรั่งเศส เข้ามหาวิทยาลัยที่กรุงปารีส เรียนวิศวกรรม และเริ่มทำงานที่บริษัทยางรถยนต์มิชิลินหลังจบการศึกษาปี 1978 จากนั้นก็ไต่เต้าเป็นลำดับจากความเก่งของเขาจนได้โอกาสเป็นผู้จัดการบริษัทที่บราซิล ซึ่งเขาพอใจมากและทำได้ดี แก้ปัญหาที่ได้รับมอบหมายได้เป็นอย่างดีจนได้เลื่อนเป็นผู้บริหารของบริษัทมิชิลินในอเมริกาที่เพิ่งควบรวมธุรกิจ โดยซื้อบริษัทยางรถยนต์อันดับต้นๆ ของสหรัฐ ซึ่งเขาก็ทำได้ดี จนบริษัทรถยนต์เรโนลต์เห็นฝีมือ ชวนเขามาอยู่กับเรโนลต์ในปี 1996 และเรโนลต์ได้ซื้อบริษัทนิสสันที่กำลังล้มละลายในปี 1999 มอบให้นายคารอสเข้าบริหารฟื้นกิจการ ซึ่งนายคารอสก็ทำได้ และได้ตำแหน่งเป็นซีอีโอของบริษัทนิสสันในปี 2001

ปี2005 นายคารอสได้รับแต่งตั้งให้เป็นซีอีโอของบริษัทเรโนลต์ พร้อมกับเป็นซีอีโอของนิสสันคือควบสองตำแหน่ง และปี 2016 เขาก็สร้างกลุ่มพันธมิตรบริษัทรถยนต์สามบริษัทขึ้นมา คือ เรโนลต์ นิสสัน และมิตซูบิชิ โดยเขาเป็นประธานทั้งสามบริษัท เพื่อแข่งกับโตโยต้าและโฟลค์สวาเก้น ซึ่งเขาก็ทำสำเร็จกลายเป็นผู้บริหารที่ทรงอิทธิพลมากที่สุดในวงการรถยนต์โลก

แต่ที่เป็นสุดยอดของฝีมือ คือ การเข้าพลิกฟื้นบริษัทนิสสันที่ยี่สิบปีก่อนใกล้ล้มละลายจากหนี้ที่มีมากถึง 2 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ และขาดทุนปีละ 6 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ เขาทำได้โดยการสร้างความเข้าใจกับพนักงานและผู้บริหารญี่ปุ่นว่า นิสสันจะอยู่ได้ก็ต่อเมื่อวิธีการทำงานแบบญี่ปุ่นต้องเปลี่ยน ไม่มีแล้วการจ้างงานตลอดชีพ เขาปลดคนงานออกกว่า 21,000 คน ปิดโรงงาน 5 แห่ง ยกเลิกการเลื่อนตำแหน่งตามระบบอาวุโส จ้างผู้บริหารที่มีฝีมือจากต่างประเทศเข้ามาร่วมงาน และใช้ภาษาอังกฤษเป็นภาษาในการทำธุรกิจของบริษัท ที่สำคัญ เขาให้คำมั่นสัญญากับพนักงานว่า ถ้าเขาไม่สามารถแก้ไขปัญหาของนิสสันได้ตามแผนสามปี เขาและทีมผู้บริหารจะลาออก ผลคือ เขาสามารถแก้ไขปัญหาได้ก่อนสามปี และนำวิธีการเดียวกันไปพลิกฟื้นธุรกิจของบริษัทเรโนลต์และมิตซูบิชิจนเครือข่ายสามบริษัทใหญ่เป็นที่สองของโลก ทำให้นายคารอสเป็นผู้บริหารที่ได้รับการยกย่องมาก เพราะความสามารถของเขาในการทำให้คนที่มาจากวัฒนธรรมและเชื้อชาติต่างๆ สามารถทำงานร่วมกันได้อย่างสำเร็จ ไม่ว่าจะเป็นที่บราซิล สหรัฐ ฝรั่งเศส หรือญี่ปุ่น

ข่าวที่ออกทำให้ภาพลักษณ์และความน่าเชื่อถือของนายคารอสในฐานะผู้นำและผู้บริหารที่ทรงอิทธิพลในอุตสาหกรรมรถยนต์โลกถูกสั่นคลอนมาก ข้อกล่าวหาขณะนี้ยังต้องรอการพิสูจน์และรอการพิจารณาตัดสินโดยศาล ข้อกล่าวหาคือ เขารายงานรายได้ของตัวเองต่ำกว่าความเป็นจริง ช่วงปี 2011-2015 หลังทางการญี่ปุ่นมีกฎให้ผู้บริหารบริษัทจดทะเบียนที่มีรายได้มากกว่า 880,000 ดอลลาร์สหรัฐต่อปี ต้องรายงานตัวเลขรายได้ แต่นายคารอสได้รับเงินเดือนสูงมาก และเงินเดือนที่สูงของเขาก็เป็นปัญหากับผู้ถือหุ้นมาตลอด จึงอาจทำให้เกิดการแสดงรายได้ที่ต่ำกว่าที่ได้รับจริง นอกจากนี้ มีข้อกล่าวโทษ การใช้ทรัพย์สินของบริษัทนิสสัน เช่น บ้านเช่าเพื่อประโยชน์ตนเอง รวมถึงใช้เงินบริษัทลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ เพื่อหาประโยชน์ให้ตนเอง สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นในช่วงที่เขาเป็นซีอีโอ นิสสัน และเป็นเรื่องที่ต้องรอพิสูจน์

ในแง่ธรรมาภิบาล ประเด็นที่เป็นบทเรียนในเรื่องนี้ คือ ผู้นำต้องพร้อมถูกตรวจสอบซึ่งโดยทั่วไป ผู้นำที่ประสบความสำเร็จมากๆ จะไม่มีใครกล้าตรวจสอบ ทำให้ผู้นำยิ่งกล้าที่จะทำผิด เพราะไม่มีใครกล้าตรวจสอบตอนอยู่ในตำแหน่ง การไม่ตรวจสอบเกิดขึ้นบ่อยในสถานการณ์ที่มีลักษณะดังนี้

1.) บริษัทมีประธานบริษัทและซีอีโอ เป็นบุคคลคนเดียวกันคือ คนเดียวนั่ง สอง ตำแหน่ง เมื่อคนเสนอเรื่องคือ ซีอีโอ และคนอนุมัติคือ ประธานบริษัทเป็นคนๆ เดียวกัน การตรวจสอบถ่วงดุลก็เกิดขึ้นยาก เอื้อให้มีการละเมิดและการทำผิดต่างๆ ปัจจุบันการแยกตำแหน่งประธานบริษัทและซีอีโอ ให้มีคนดำรงตำแหน่ง สอง คน จึงเป็นแนวปฏิบัติที่สำคัญมากในการสร้างการถ่วงดุลในบริษัท ในบ้านเรา ตัวเลขล่าสุดจากบริษัทจดทะเบียน 657 แห่ง ชี้ว่า 87 เปอร์เซนต์ของบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย มีผู้ดำรงตำแหน่งประธานและซีอีโอ แยกเป็นเอกเทศจากกัน ซึ่งเป็นเรื่องที่ดี

2.) บริษัทมีซีอีโอที่เป็นผู้ที่ประสบความสำเร็จมากในธุรกิจแบบพวกมนุษย์ทองคำ และอาจเป็นผู้เสนอชื่อแต่งตั้งกรรมการด้วย ทำให้กรรมการอิสระเกรงใจในสถานะและความสามารถของซีอีโอ ไม่กล้าซักถาม เพราะไม่มีความรู้ หรือไม่มีข้อมูลพอที่จะตั้งคำถามกับซีอีโอเพื่อตรวจสอบ ทำให้ซีอีโอสามารถทำอะไรได้ตามที่อยากทำเพราะไม่มีการตรวจสอบจริงจัง

3.) บริษัทมีประธานบริษัทที่ต้องการใช้ตำแหน่งประธานหาประโยชน์ จึงทำโครงสร้างคณะกรรมการบริษัทให้อ่อนแออย่างตั้งใจ เช่น แต่งตั้งกรรมการอิสระที่เป็นพวกเป็นพ้องเข้ามาเพื่อไม่ให้มีการตรวจสอบจากภายนอก ให้บอร์ดแต่งตั้งซีอีโอที่ประธานสามารถควบคุมได้หรือสั่งได้ ผลคือการทำธุรกิจของบริษัทไม่มีการตรวจสอบควบคุมโดยคณะกรรมการบริษัทอย่างที่ควรจะเป็น บทบาทของกรรมการอิสระอ่อนแอ ซึ่งกรณีบริษัทนิสสันก็เป็นเช่นนี้ จึงเอื้อให้เกิดการทำผิดต่างๆ ได้ง่าย ในบ้านเรา เรื่องแบบนี้เกิดบ่อยเพราะกรรมการและผู้บริหารจะเคารพและให้เกียรติประธานอยู่แล้ว ไม่ค่อยขัดใจประธานฯ ทำให้ประธานมีอำนาจมากและอาจทำอะไรตามอำเภอใจ ยิ่งถ้าได้ประธานที่ไม่มีความสามารถหรือมีผลประโยชน์ทับซ้อนเข้ามาทำหน้าที่และตั้งใจหาประโยชน์ ความเสี่ยงที่จะทำให้บริษัทเสียหายก็มีมาก โดยเฉพาะรัฐวิสาหกิจที่ทางการเมืองมักมองว่าไม่มีเจ้าของ

นี่คือ สามสถานการณ์ที่มักนำไปสู่ปัญหา กรณีของนายคารอส ถ้าผิดจริง น่าจะเข้าข่ายข้อหนึ่ง ที่การตรวจสอบ ทำไม่ได้เต็มที่ เพราะประธานและซีอีโอเป็นคนเดียวกัน มีอำนาจมากและมีการใช้อำนาจอย่างไม่ถูกต้อง ตรงกับข้อคิดที่ ลอร์ด แอคตัน(Lord Acton) พูดไว้เมื่อร้อยกว่าปีก่อนว่า อำนาจมักจะฉ้อฉล ยิ่งมีอำนาจมาก ยิ่งฉ้อฉลมาก คนยิ่งใหญ่ มักจะเป็นคนไม่ดีเสมอ เป็นสัจธรรมความจริงไม่ว่าจะในภาคธุรกิจหรือการเมือง