ถึงเวลาสร้างนักบินโดรนอาชีพในไทยหรือยัง ?

ถึงเวลาสร้างนักบินโดรนอาชีพในไทยหรือยัง ?

การเสวนาทางวิชาการในหัวข้อเรื่อง “โดรนกับการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมดิจิตัล” ที่จัดขึ้นคณะนิติศาสตร์จุฬาเมื่อเดือน ก.ย.ที่ผ่านมา

โดยมีผู้ร่วมเข้าฟังและแสดงความคิดเห็นในการเสวนาครั้งนี้จำนวนมากเกินความคาดหวังของผู้จัดจึงแสดงให้เห็นว่าโดรนกำลังเป็นที่สนใจและถูกนำมาใช้ในทางสังคมและธุรกิจมากขึ้นในอนาคตอันใกล้นี้

ในประเทศไทยตอนนี้ยังไม่มีใบอนุญาตการเป็นนักบินโดรนและยังไม่มีการอบรม ทั้งภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติเพื่อมาเป็นนักบินโดรนอาชีพ จะมีแต่การฝึกโดยใช้ทักษะทางปฏิบัติแล้วก็นำโดรนไปบินใช้งาน

ในสหรัฐเองเคยไม่มีกฎระเบียบที่ชัดเจน จนกระทั้งถึงปี 2017 หน่วยงานกำกับการบินของสหรัฐที่มีชื่อว่า Federal Aviation Administration(FAA) ได้ออกฎระเบียบที่เรียกกันติดปากนักบินโดรน ว่า Part 107 ออกมารับรองการออกใบอนุญาตบินโดรนที่ชัดเจนขึ้น ทำให้ในปลายปี 2017 จำนวนนักบินโดรนได้รับใบอนุญาตเพิ่มขึ้นทั่วประเทศในต้นปี 2017 จากราว 60,000 รายเพิ่มเป็น 200,000 รายในต้นปี 2018

ถึงเวลาสร้างนักบินโดรนอาชีพในไทยหรือยัง ?

รายงานของ Drone Deploy ระบุว่า สหรัฐมีการใช้โดรนในทางธุรกิจในคาบที่ 2 ของปี 2018 เพิ่มขึ้นจากคาบที่ 2 ของปี 2017 เป็นอัตราที่เพิ่มขึ้นสูงมาก คือเพิ่มขึ้น 239% ในภาคก่อสร้าง เพิ่มขั้น 198% ในภาคเหมืองแร่ เพิ่มขึ้น 172% ในภาคการเกษตร เพิ่มขึ้น 171% ในภาคการสำรวจ เพิ่มขึ้น 118% ในภาคธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ โดยแม็คเคนซี่คาดการณ์ว่าตลาดการใช้โดรนทางธุรกิจในสหรัฐจะโตถึง 2 หมื่นล้านเหรียญ ในปี 2024

Civil Aviation and Safety Authority(CASA) อันเป็นหน่วยงานกำกับการบินในประเทศออสเตรเลียได้ดำเนินแนวทางคล้ายของ FAA ของสหรัฐฯโดย CASA ได้ออกกฎระเบียบที่เรียกว่า AC 101 มาใช้อย่างชัดเจนในการกำหนดการผ่านการอบรมเพื่อเป็นนักบินโดรนที่ได้รับอนุญาต ทำให้มีการคาดการณ์จากสมาคมอากาศยานไร้คนขับของออสเตรเลียว่าโดรนจะถูกนำมาใช้ในปี 2019 ในทุกภาคส่วนของการเกษตรและอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้นเกินร้อยละ 80 จากปี 2018 คิดเป็นมูลค่าเพิ่มขึ้นกว่า 8 พันล้านเหรียญออสเตรเลีย

นักบินโดรนที่ได้รับใบอนุญาตทั้งในสหรัฐและออสเตรเลียต้องผ่านการอบรมด้านทฤษฎีในด้านสำคัญๆ เช่น กลศาสตร์ทางอากาศ ( Aerodynamics) การเดินอากาศ ( Aviation) อุตุนิยมวิทยา ( Meteorology) กฎระเบียบการบินโดรน การใช้วิทยุการบิน ( Aeronautical Radio Operation) การเตรียมแผนการบินและการวิเคราะห์ความเสี่ยงระหว่างการบิน การบังคับเครื่องและการบังคับการบินโดรน เป็นต้น วิชาเหล่านี้ล้วนเป็นพื้นฐานสำคัญในความเข้าใจตัวโดรนพร้อมอุปกรณ์และการบินโดรน อีกทั้งสามารถนำความรู้ไปใช้ประกอบการวางแผนการบิน การป้องกันอุบัติเหตุจากโดรนและช่วยเสริมทักษะการบินได้อย่างมืออาชีพ 

จากนั้นจึงอบรมและฝึกภาคปฏิบัติและทักษะการบินทั่วไปจนถึงทักษะการบินเฉพาะ เช่นการถ่ายรูปต่างๆ การสำรวจ ฯลฯ ทั้งนี้การฝึกอบรมเป็นนักบินโดรนอาชีพนั้นไม่มีการจำกัดเรื่องคุณสมบัติขั้นต่ำทางการศึกษา (ในสหรัฐกำหนดอายุขึ้นต่ำ 16 ปี) ส่วนคนที่บินโดรนทางธุรกิจในประเทศไทยยังไม่มีการกำหนดว่าต้องผ่านการอบรมในหัวข้อใดเช่นในสหรัฐและออสเตรเลีย ในประเทศไทยการฝึกบินโดรนจะใช้ทักษะทางปฏิบัติแล้วก็นำโดรนไปบินใช้งาน ที่บ้างก็ถูกกฎหมาย บ้างก็ไม่ถูกกฎหมาย

ผมจึงเห็นว่าภาครัฐในประเทศไทยควรสนับสนุนให้มีการจัดสอนและอบรมเพื่อเป็นนักบินโดรนอาชีพ ในกลุ่มนักเรียนอาชีวะหรือสูงขึ้นกว่าเพื่อให้มีมาตรฐานระดับสากลโดยมีการอบรมด้านทฤษฎีคล้ายในสหรัฐและออสเตรเลียก่อน แล้วจึงอบรมภาคปฏิบัติซึ่งนอกจากจะทำให้เกิดอาชีพทางเลือกใหม่ให้เด็กไทยแล้ว การขึ้นทะเบียนนักบินโดรนอย่างถูกต้องจะเป็นการเปิดโอกาสให้นำโดรนมาใช้เพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมดิจิทัลอย่างถูกต้องในยุคไทยแลนด์ 4.0 แทนที่จะปล่อยให้ฝึกบินโดรนกันเอง นำไปใช้ทางธุรกิจโดยไม่มีหลักเกณฑ์แน่นอนและไร้การควบคุมอย่างมีประสิทธิภาพเช่นในปัจจุบัน

โดย ...

จุลพงศ์ อยู่เกษ

[email protected]