การใช้โซเชียลมีเดีย : ความเข้าใจผิดของ กกต. และหรือ คสช.

การใช้โซเชียลมีเดีย : ความเข้าใจผิดของ กกต. และหรือ คสช.

ถ้าเป็นนักผลิตสื่อโซเชียลจะเข้าใจดีว่า การปั้นบุคคลที่เป็นนักการเมืองให้เป็นแบรนด์นั้นไม่ง่ายและที่สำคัญ

คือต้องใช้เวลานานพอสมควรจึงจะสามารถโน้มน้าวมีผู้มีสิทธิออกเสียงหรือ Voters เข้ามาติดตามซึมซับและกลายเป็น Loyalty Fans หมายถึงจะกาบัตรลงคะแนนให้ในที่สุด จากนิยามศัพท์ของคำว่า “หาเสียง” ผ่านโซเชียลมีเดียของ กกต. ก็ไม่สามารถให้ขอบเขตและความหมายได้ชัดเจนว่า กิจกรรมใดเป็นการหาเสียง เมื่อต้องกลับมาใช้ “ดุลพินิจ” แน่นอนคำนี้ทำประเทศพังมาเยอะแล้ว ไม่ว่าต้นตอของการทุจริตคอร์รัปชั่นทั้งหลายของวงราชการเริ่มต้นมาจากการใช้ดุลพินิจเกือบทั้งสิ้น

จากคำให้สัมภาษณ์เหล่าผู้ควบคุมหรือนักปกครองเช่น ดร.วิษณุ เครืองาม พ.ต.อ.จรุงวิทย์ ภุมมา ตีความหมายได้ว่าเหล่านักการเมืองที่ใช้โซเชียลจะสามารถใช้หาเสียงได้ต่อเมื่อ พ.ร.ป. ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. กำหนดให้มีผลใช้บังคับใช้ใน 90 วันนับแต่วันประกาศลงราชกิจจานุเบกษา หรือตรงกับวันที่ 12 ธ.ค. 61 โดยการเลือกตั้งทั่วไปจะต้องเกิดขึ้นภายใน 150 วันนับจากวันดังกล่าว ซึ่งตอนนี้กำหนดไว้วันที่ 24 ก.พ. 2562 ซึ่งเป็นปฏิทินเลือกตั้ง (เบื้องต้น) ของ กกต.

“นั่นไม่ใช่หมายความว่า บรรดาเหล่านักการเมืองค่อยหันมาสร้างโซเชียลปั้นผู้ติดตามในแต่ละแพลตฟอร์มกันตอนนั้น” และ “พวกเขาควรสร้างบัญชีในแพลตฟอร์มที่สำคัญไว้นานแล้ว เช่น เฟซบุ๊ค ยูทูบ ทวิตเตอร์ ไลน์ เป็นต้น เนื่องจากในแต่ละโซเชียลจะต้องมีแฟนคลับเพื่อนหรือผู้ติดตาม ซึ่งการสร้างสิ่งเหล่านี้ให้มีจำนวนที่เหมาะสมหรือจำนวนมากนั้นยาก ต้องใช้เวลานาน หากไปสร้างในเดือนธันวา ถือว่าเป็นเข้าใจผิดในสาระสำคัญเป็นอย่างมาก”

การปั้นแบรนด์ทางการเมืองมี 2 รูปแบบคือ 1. ผู้นำหรือแกนนำพรรค รวมทั้งว่าที่ผู้สมัคร ส.ส. ที่จะอยู่ในส่วนของบัญชีรายชื่อ ซึ่งเป็นการปั้นแบรนด์แบบครอบคลุมทั้งประเทศ ตรงนี้ต้องทำมาแล้วเป็นปี ๆ ถึงจะมีผู้ติดตามหลักล้าน หลักแสนได้ ยกเว้นของนายกประยุทธ์ เพราะท่านมีความได้เปรียบตรงเป็นผู้นำอยู่ การกระดิกพลิกตัวย่อมเป็นข่าว เป็นที่ติดตามของประชาชนและสื่อ รวมทั้งมีช่องทางสื่อต่างๆ ของรัฐเป็นทุนอยู่แล้วจึงทำให้เพจของท่านมีผู้ติดตามหรือเข้ามามี engagement เช่นการกดไลท์ แชร์ หรือคอมเม้นท์ทั้งที่ถูกใจหรือไม่ถูกใจหลายหมื่นรายต่อวัน

2.ว่าที่ผู้สมัคร ส.ส. เขตการปั้นแบรนด์ของนักการเมืองแบบนี้จะง่ายกว่าแบบบัญชีรายชื่อเนื่องจากมีขอบเขตที่ชัดเจนในการสร้างตัวตนและการเพิ่มเพื่อน เพิ่มจำนวนผู้ติดตาม โดยเน้น ๆ เฉพาะประชาชนผู้มีสิทธิ์ออกเสียงในเขตพื้นที่ที่ตนลงสมัคร สำหรับ Tactics ในการทำ Digital Politics Presence นั้นมีหลายวิธี แต่ในช่วงเริ่มต้นนั้นมีวิธีหนึ่งที่ใช้ได้ผลเร็วและจำเป็นสำหรับการเริ่มต้นคือการใช้โฆษณา

ยกตัวอย่าง เฟซบุ๊ค ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มยอดนิยมของเมืองไทยและมีจำนวนการใช้มากถึง 96% (ข้อมูลจาก สพธอ. ก.ค.2561) มีความสามารถที่จะระบุให้โฆษณาไปปรากฏเฉพาะเจาะจงได้เช่น อายุ เพศ ความสนใจ แต่ที่สำคัญคือให้ไปปรากฏเฉพาะผู้ใช้เฟซบุ๊คในเขตที่ตนลงสมัครเท่านั้น เช่น สมมติ “ทนายแดง” จะลงสมัคร ส.ส. เขตในจ.สุรินทร์ในเขตเลือกตั้งที่ 5 ประกอบด้วย อำเภอ ศีขรภูมิ+อำเภอศรีณรงค์ แบบนี้ “ทนายแดง” เริ่มสร้างตัวตนโดยลงแอดสัก 3,000 บาทเพื่อให้ Voters ใน 2 อำเภอดังกล่าวเห็นตัวตนสัก 40,000 ราย ทั้งนี้ความสามารถของเฟซบุ๊คจะทำให้ผู้ใช้เฟสบุ๊คใน 2 อำเภอเท่านั้น ที่เห็นโฆษณาของ “ทนายแดง” อำเภออื่นๆ หรือจังหวัดอื่นๆ ก็ไม่ไปโผล่ให้เห็น นี่เป็นการสร้างตัวตนในตอนแรกของนักการเมืองซึ่งผู้คนยังไม่รู้จักในโลกดิจิทัลและยังไม่ค่อยมีเพื่อนและผู้ติดตามสักเท่าไหร่

ต่อมาก็พัฒนาในสิ่งต่างๆ เช่นปรับปรุงรูปภาพให้สดใส ดูดี กำหนดเนื้อหาประกอบในหลายๆ รูปแบบเช่นมีวีดีโอ มีคำถามเพื่อดึงให้แฟนเพจร่วมปฏิสัมพันธ์ แต่ทั้งหลายทั้งมวลนั้นต้องคิดเสมอว่า Audience ผู้รับข้อมูลหรือผู้ติดตามเขาจะได้อะไรจากเนี้อหาหรือ Contents ที่เราใส่ไปในโซเชียลนั้นๆ อย่าไปพร่ำเพ้อพรรณาว่า คุณเป็นใคร มีกิจการอะไร มีตำแหน่งอะไร คือสรุปว่า อย่าพูดมากเกี่ยวกับตัวคุณ ไม่มีใครนอกจากครอบครัวและญาติพี่น้องคุณเท่านั้นที่สนใจคุณ Nobody cares about you ส่วนผู้ติดตามคุณเขาสนใจว่าเขาจะได้อะไรคุณมีวิธีหรือนโยบายอะไรที่จะทำให้เขามีชีวิตที่ดีขึ้น เช่น นโยบายการสร้างให้ผู้คนในเขตนั้นมีการงานทำ หรือนโยบายที่จะช่วยส่งเสริมคนแก่ นโยบายเรื่องลดและป้องกันลูกหลานไม่ให้ติดยาและคนที่ติดแล้วจะมีวิธีช่วยอย่างไร เป็นต้น กระบวนการต่างๆ ในการสร้างความประทับใจ ความพึ่งพิงได้ จริงใจ เสียสละ อาสา เหล่านี้จะทำให้ผู้ติดตามเชื่อใจและลงคะแนนเสียงให้ในที่สุด

ดังนั้นในขั้นตอนที่กล่าวมานั้นหาก กกต. คสช. ตีความบางตอนว่าเป็นการหาเสียง อย่างนี้ก็แปลความได้ว่า กกต. คสช. ยังหัวไม่ถึง ไม่เข้าใจกระบวนการในการสร้างตัวตนและสร้างผู้ติดตามซึ่งตรงนี้ผมไม่อยากให้เกิดขึ้นเพราะจะทำให้ถูกมองว่าประเทศไทยเป็นประเทศเดียวที่ล้าหลังและถูกกดขี่บังคับ จริงๆ ผมไม่ค่อยติดใจ กกต. เท่าไรเพราะท่านไม่กล้าตัดสินใจอะไรสักอย่างเกือบทุกคำถามจากพรรคการเมืองท่านจะนำไปถาม คสช. ก่อนเสมอ ส่วน คสช. ที่มีคำสั่งต่าง ๆ มาควบคุมนั้นก็เข้าใจที่ต้องทำซึ่งสถานการณ์ตอนออกคำสั่งมีความหมายเกี่ยวกับการดูแลรักษาความสงบเรียบร้อย แต่ตอนปัจจุบันนี้กลุ่มก้อนที่เป็นผู้สร้างความไม่สงบเช่น กปปส. นปช. ก็สลายตัวหมดแล้ว บ้านเมืองสงบแล้วจึงควรที่จะปลดล็อกให้ดำเนินกิจกรรมต่าง ๆ ได้ปกติ ไม่ควรนำข้ออ้างดังกล่าวมาใช้ให้เสียบรรยากาศก่อนการเลือกตั้ง โดยเฉพาะยุคดิจิทัล ประชาชนต้องการรับฟังข้อเสนอ นโยบายจากนักการเมือง พรรคการเมือง ว่าจะนำพาให้พวกเราอยู่ดีกินดีได้อย่างไรผ่านทางสื่อที่พวกเขาใช้อยู่ประจำวันทางโซเชียล ช่วยนำไปพิจาณาด้วย

โดย... 

ดร.สุรินทร์ บำรุงผล

[email protected]