เมื่อดิจิทัลกำลังปฎิวัติวิถีชีวิตผู้คน

เมื่อดิจิทัลกำลังปฎิวัติวิถีชีวิตผู้คน

คำว่า “เชื่อมเรา เชื่อมโลก” หรือการเชื่อมต่อของทุกสรรพสิ่ง (Connected Things) กำลังจะคืบคลานเข้ามา

และแทรกตัวอยู่ในทุกสรรพสิ่งรอบตัวเราอย่างแท้จริง เมื่อโลกจริง (physical world) และโลกเสมือน (virtual world) จะรวมกันเป็นหนึ่งซึ่งวิ่งคู่ขนานกันไป จนบางทีเราอาจจะแยกไม่ออกด้วยซ้ำไป

จากกรณี “น้องมิลค์” ด.ญ.วรรรญา วรรณผ่อง อายุ 11 ปี นักแข่ง Drone Racing ของไทย ที่ตอนนี้ต้องเรียกว่ามีดีกรีระดับแชมป์โลกไปแล้วจากการแข่งขันบินโดรนรายการใหญ่ที่สุดแห่งปี ที่เสินเจิ้น ประเทศจีน เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา และเมื่อติดตามข่าวจึงรู้ว่าเป็นนักแข่งหญิงที่อายุน้อยที่สุดในโลกอีกด้วย นอกเหนือจากความมุ่งมั่น ฝึกฝนอย่างต่อเนื่องมานานกว่า 3 ปี ยังได้เก็บเกี่ยวประสบการณ์ในการลงแข่งโดรนทั้งในประเทศและต่างประเทศอีกหลายรายการ เป็นผลให้มีพัฒนาการที่ดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง ไต่อันดับมาเรื่อยๆจนคว้ารางวัลทั้งชนะเลิศและรองชนะเลิศได้ เป็นหนึ่งในอีกหลายๆตัวอย่างที่เด็กไทยไปเข้าแข่งขันไม่ว่าจะเป็นด้านกีฬา ศิลปะ หรือวิชาการ และได้รางวัลติดมือกลับมา พร้อมกับสร้างชื่อเสียงให้กับประเทศชาติอีกด้วย

เหตุที่ผมเขียนถึงกรณีการแข่งขัน Drone Racing นี้ เพราะได้มีโอกาสดูคลิปการแข่งขันในรอบชิงชนะเลิศ ได้เห็นบรรยากาศ และรูปแบบวิธีการแข่งขัน ซึ่งแตกต่างจากเกมคอมพิวเตอร์ หรือ eSport ที่เราคุ้นเคยกัน ไม่ได้เล่นกับอุปกรณ์ที่เป็นคอนโซลหรือจอภาพ แต่การแข่งโดรนอันนี้ผู้เล่นต้องบังคับโดรนจริง ไม่ต่างจากการแข่งรถสูตรหนึ่ง (Formula One – F1) หรือการแข่งมอเตอร์ไซต์วิบาก ที่ต้องบังคับเครื่องยนต์กลไกจริง ในสภาพสนามจริง แต่ที่พิเศษแตกต่างไปกว่าการแข่งอื่นคือ ผู้เล่นไม่ต้องไปอยู่ในอุปกรณ์ตัวนั้นจริง แต่ใส่แว่น VR (Virtual Reality) ที่ทำให้ผู้เล่นมีทัศนวิสัยและการมองเห็นสิ่งต่างๆภายในสนาม ณ ตำแหน่งนั้นๆ เสมือนอยู่ในโดรนลำนั้นจริงๆ เป็นอีกหนึ่งตัวอย่างของการผสมผสานโลกจริงและโลกเสมือนให้กลายเป็นโลกเดียวกันอย่างแท้จริง

จากเหตุการณ์ดังกล่าว ทำให้เราสามารถจินตนาการได้ต่อถึงโลกยุคใหม่ในอนาคต ที่เราสามารถทำสิ่งต่างๆได้จากระยะไกล โดยที่ไม่จำเป็นต้องเข้าไปอยู่ในสถานที่หรือเหตุการณ์นั้น เช่น สถานการณ์เสี่ยงภัย สถานที่อันตราย หรือที่ยากลำบากในการที่คนจะเข้าไปได้ แล้วเกิดมีผู้ประสบภัยติดค้างอยู่ในที่นั้นๆ ตราบใดที่อุปกรณ์ช่วยในการค้นหายังสื่อสารและส่งข้อมูลมาที่ชุดควบคุมระยะไกลได้ เราก็สามารถให้คนใส่แว่น VR จำลองตัวเองเสมือนติดไปกับอุปกรณ์นั้นๆ เพื่อปฎิบัติภารกิจ

เราจะเห็นว่าพัฒนาการของเทคโนโลยีต่างๆกำลังมุ่งไปสู่ความสามารถที่สูงมากขึ้น มีความชาญฉลาด และสามารถผสมผสานการทำงานร่วมกับคนได้เป็นอย่างดี กล้องวงจรปิด (CCTV) ที่กลายเป็นส่วนหนึ่งของเมือง ถนน รถยนต์ ร้านค้า อาคาร และสถานที่ต่างๆไปทั่วทุกพื้นที่ในหลายประเทศนั้น จะไม่ได้มีความสามารถแค่เพียงบันทึกภาพ แล้วรอให้ใครก็ตามที่ต้องการดูภาพย้อนหลังมาเล่นเพื่อค้นหาสิ่งที่ต้องการเท่านั้น หากแต่กล้องวงจรปิดเหล่านั้นยังสามารถทำการวิเคราะห์ภาพที่บันทึกไว้ แล้วสามารถแยกแยะสิ่งต่างๆที่อยู่ในภาพได้อีกด้วย

ผู้ผลิตชุดประมวลผลภาพกราฟิก หรือที่เรียกว่า Graphic Processing Unit (GPU) ชั้นนำของโลกหลายราย อาทิ แบรนด์ Nvidia ได้เคยนำเสนอความก้าวหน้าของเทคโนโลยีการวิเคราะห์ภาพเคลื่อนไหว (เหนือชั้นกว่าการวิเคราะห์ภาพนิ่ง) โดยสามารถแยกแยะได้ในทันทีว่าสิ่งที่อยู่ในภาพเป็นวัตถุ คน สัตว์ หรือต้นไม้ อีกทั้งยังบอกได้ว่าเป็นผู้ใหญ่ หรือเป็นเด็ก ที่สำคัญกว่านั้นการวิเคราะห์องค์ประกอบของภาพยังเป็นไปแบบ Real time ถ้าเราจินตนการต่อจากการแข่งขัน Drone racing ที่น้องมิลค์ไปคว้าแชมป์มาได้แล้ว เราสามารถคิดต่อได้เลยว่าเทคโนโลยีการผสมผสานโลกดิจิตัลกับโลกทางกายภาพจริงนั้น จะเข้าไปอยู่ในอะไรได้บ้าง อาทิ รถยนต์ไร้คนขับ ที่สมองกลสามารถจะนำภาพของถนนและสองข้างทาง มาประมวลผลและตัดสินใจในการบังคับรถยนต์ให้วิ่งไปข้างหน้า เลี้ยวซ้าย เลี้ยวขวา หรือหยุดรถได้อย่างทันท่วงที

ซึ่งแน่นอนความสามารถในการวิเคราะห์ข้อมูลขนาดใหญ่ (Big data) นี้ จะรับข้อมูลดิจิทัลย่อยๆมาจากหลากหลายอุปกรณ์ที่ทำหนาที่เป็นตัวรับข้อมูลป้อนเข้าระบบ (inputs) ก่อนนำไปประมวลผล อาทิ CCTV analytics และอีกสารพัดเซนเซอร์ (Sensor)  ส่งผ่านคลื่นความถี่และโครงข่ายอินเทอร์เน็ต นำข้อมูลจำนวนมากมายไปเก็บไว้ใน Cloud โดยมีศูนย์ข้อมูล (Data center) เป็นคลังจัดเก็บขนาดใหญ่ ก่อนที่จะนำไปสังเคราะห์เป็นชุดคำสั่งที่จะนำไปตัดสินใจ ซึ่งแน่นอนคงไม่พ้น AI (Machine learning)

ตัวอย่างของการประยุกต์ใช้งานในโรงงานอุตสาหกรรม อาทิ การบำรุงรักษาเครื่องจักรโดยการคาดการณ์ความบกพร่องที่อาจเกิดขึ้นล่วงหน้า (Predictive maintenance) การซ่อมแซมระยะไกลร่วมกันระหว่างช่างประจำโรงงานกับผู้เชี่ยวชาญในต่างประเทศ ผ่านแว่น VR ที่ช่างคนนั้นสวมใส่ ซึ่งภาพที่ช่างคนนั้นเห็นจะเป็นภาพเดียวกับที่ผู้เชี่ยวชาญมองเห็น จึงสามารถสั่งการให้ช่างดำเนินการตรวจเช็คได้เสมือนมีผู้เชี่ยวชาญอยู่ตรงนั้น และแน่นอนความรู้ความสามารถของผู้เชี่ยวชาญท่านนั้น ก็อาจจะสะสมรวมกันกับผู้เชี่ยวชาญคนอื่นๆ จนกลายเป็น AI ที่สามารถให้คำแนะนำช่างโรงงานได้ในอนาคต

 ยังมีตัวอย่างอีกมากที่ดิจิทัลสามารถเข้ามาเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิต และวิถีการทำงานในอีกหลายหลายอาชีพ เช่น ในงานด้านการแพทย์และสาธารณสุข งานด้านกู้ภัย งานด้านทีวีและความบันเทิง เป็นต้น