โต้คลื่นเศรษฐกิจ ปี2562

โต้คลื่นเศรษฐกิจ ปี2562

เศรษฐกิจปีนี้เป็นอย่างไร คงทราบกันดีอยู่แล้วเพราะใกล้จะจบปี ล่าสุด แบงก์ชาติเพิ่งประกาศคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายต่อ และมองว่า

เศรษฐกิจขยายตัวได้ต่อเนื่อง แต่ปีหน้าจะเป็นอย่างไร เป็นเรื่องที่ทุกคนอยากรู้ ผมเองไม่ใช่หมอดู แต่พอดีอาทิตย์ที่แล้วได้รับเชิญจาก สหกรณ์ออมทรัพย์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ร่วมกับสหกรณ์ออมทรัพย์พนักงานธนาคารแห่งประเทศไทย และสหกรณ์ออมทรัพย์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นองค์ปาฐกบรรยายพิเศษ เปิดงานสัมมนาไตรภาคี ของ สามสหกรณ์เพื่อขบวนการสหกรณ์ออมทรัพย์แห่งประเทศ

โต้คลื่นเศรษฐกิจ ปี2562

ในหัวข้อ ทิศทางเศรษฐกิจโลกเศรษฐกิจไทย และการโต้คลื่นเศรษฐกิจ ปี 2562” ซึ่งก็ได้ให้ความเห็นไปเกี่ยวกับเศรษฐกิจไทยปีหน้า วันนี้เลยอยากนำประเด็นที่ให้ความเห็นไป มาแชร์ให้แฟนคอลัมน์ “เศรษฐศาสตร์บัณฑิต” ทราบ

เริ่มที่เศรษฐกิจโลก ในความเห็นของผมดูจากสถานการณ์ขณะนี้ ปีหน้าเศรษฐกิจโลกจะอ่อนแอกว่าปีนี้ เพราะปัจจัยพื้นฐานของเศรษฐกิจโลกอ่อนแอลงมาก จากปัจจัยสนับสนุนต่างๆ ที่กำลังหมดบทบาทลง และจะไม่สนับสนุนเศรษฐกิจโลกเหมือนเดิม กล่าวคือ ภาวะอัตราดอกเบี้ยต่ำจะหมดไป ธนาคารกลางสหรัฐคงปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายต่อในปีหน้าเพื่อให้นโยบายการเงินกลับเข้าสู่ระดับปกติ แรงกระตุ้นจากการลดภาษีของรัฐบาลทรัมป์ที่จะเริ่มหมดลง ราคาน้ำมันจะปรับสูงขึ้นแต่จะผันผวน สะท้อนภาวะตลาดและมาตรการของสหรัฐที่ห้ามซื้อขายน้ำมันดิบกับอิหร่าน ที่สำคัญที่สุด เศรษฐกิจสหรัฐและจีนจะขยายตัวในอัตราที่ลดลง จากปัญหาข้อพิพาททางการค้าระหว่างสองประเทศนี้ ที่จะทำให้การค้าโลกชะลอ รวมถึงผลจากปัญหาภูมิศาสตร์การเมืองที่มีอยู่ในเศรษฐกิจโลกขณะนี้ สิ่งเหล่านี้ทำให้ปัจจัยสนับสนุนเศรษฐกิจโลก มีน้อยลงเทียบกับปีก่อน สะท้อนความอ่อนแอของปัจจัยพื้นฐานที่กระทบความต้องการใช้จ่าย และกำไรของภาคธุรกิจ

แต่ที่จะกระทบเศรษฐกิจโลกมากปีหน้า คือความไม่แน่นอนที่มาจากข้อพิพาททางการค้าระหว่างสหรัฐกับจีน ที่ได้ยืดเยื้อมากว่าเจ็ดเดือน และจะไม่ยุติง่ายๆ เพราะสหรัฐได้ประกาศขึ้นอัตราภาษีสินค้านำเข้าจากจีนเกือบทั้งหมด ร้อยละ 25 ในปีหน้า การศึกษาผลกระทบของไอเอ็มเอฟในประเด็นนี้ชี้ว่า การเพิ่มภาษีจะกระทบทั้งสหรัฐและจีน และส่งผ่านมาถึงเศรษฐกิจโลก กล่าวคือ ประมาณว่าผลของการเพิ่มภาษีจะทำให้การขยายตัวเศรษฐกิจสหรัฐลดลงร้อยละ 0.9 ปีหน้า ของจีนลดลงประมาณร้อยละ 0.6 และเศรษฐกิจโลกจะขยายตัวลดลงเพราะผลกระทบนี้ประมาณ ร้อยละ 0.4 ผ่านผลกระทบต่อการค้าโลกและเศรษฐกิจประเทศต่างๆ ที่ไม่แน่นอนก็คือ ข้อพิพาทนี้จบลงเมื่อไร ซึ่งไม่มีใครตอบได้ แม้แต่คู่กรณีเอง เพราะข้อพิพาทได้กลายเป็นปัญหาการเมืองระหว่างประเทศ หรือภูมิศาสตร์การเมืองไปแล้ว ทำให้การแก้ไขปัญหาจะยากและยืดเยื้อ ความไม่แน่นอนนี้ทำให้บริษัทเอกชนเริ่มปรับตัว ย้ายฐานการผลิตออกจากจีน ออกจากห่วงโซ่การผลิตของจีน และกล้าแข่งขันกับจีนในสินค้าที่จีนส่งไปขายในสหรัฐ

อีกประเด็นที่จะเป็นปัจจัยลบต่อเศรษฐกิจโลกปีหน้า คือ ความเสี่ยงของการเกิดวิกฤติเศรษฐกิจในประเทศอย่างอิตาลีและประเทศตลาดเกิดใหม่ปีหน้า จากที่หลายประเทศมีอาการความอ่อนแอในแง่เสถียรภาพเศรษฐกิจ เช่น อาเจนติน่า แอฟริกาใต้ ปากีสถาน อียิปต์ ศรีลังกา และตุรกี ที่สาเหตุหลักมาจากการก่อหนี้ต่างประเทศที่ได้เพิ่มสูงขึ้นมากช่วงก่อนหน้า ทำให้เศรษฐกิจประเทศเหล่านี้บูมมาก แต่พออัตราดอกเบี้ยในตลาดโลกเปลี่ยนเป็นขาขึ้น ก็เกิดเงินทุนไหลออก กดดันให้ค่าเงินของประเทศเหล่านี้อ่อนลง และเศรษฐกิจเริ่มชะลอ ทำให้ความสามารถในการชำระหนี้เป็นปัญหา หนี้เสียเพิ่มสูงขึ้น กระทบความสามารถในการหารายได้ของธุรกิจที่มีภาระหนี้ต้องชำระ พลวัตในลักษณะนี้ ในอดีตได้นำไปสู่การเกิดวิกฤติเศรษฐกิจในประเทศที่มีหนี้มาก เพราะความสามารถในการชำระหนี้ของบริษัทธุรกิจถูกกระทบ ทำให้มีความห่วงใยว่า ถ้าธนาคารกลางสหรัฐยังเดินหน้าปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายต่อในปีหน้า โอกาสที่ประเทศตลาดเกิดใหม่ที่มีหนี้มากจะเกิดวิกฤติเศรษฐกิจเพราะไม่สามารถชำระหนี้ต่างประเทศได้ ก็เป็นความเสี่ยงที่ประมาทไม่ได้ซึ่งจะมีผลต่อเศรษฐกิจโลก นี่เป็นอีกความไม่แน่นอนหนึ่งที่กระทบความเชื่อมั่นของนักลงทุน

จากความไม่แน่นอนและปัจจัยความอ่อนแอที่กล่าวนี้ รวมถึงการชะลอตัวของเศรษฐกิจสหรัฐและจีน ตลาดหุ้นทั่วโลกได้ปรับลดลงต่อเนื่องช่วง สองเดือนที่ผ่านมา สะท้อนความห่วงใยที่นักลงทุนมีต่อปัจจัยพื้นฐานของเศรษฐกิจโลก ประมาณการเศรษฐกิจโลกปีหน้าจากหลายสำนัก เช่น ไอเอ็มเอฟ เอเอ็มอาร์โอ ธนาคารโลก จึงให้เศรษฐกิจโลกขยายตัวเท่ากับหรือลดลงกว่าปีนี้ ซึ่งจะกระทบเศรษฐกิจไทย เพราะเราเป็นเศรษฐกิจเปิดที่โมเดลการเติบโตพึ่งการส่งออกและการท่องเที่ยวเป็นหลัก เมื่อเศรษฐกิจโลกชะลอ ก็จะกระทบการส่งออกและการท่องเที่ยวที่เศรษฐกิจไทยได้ประโยชน์

สำหรับเศรษฐกิจไทยเอง ปัจจัยที่จะสำคัญต่อเศรษฐกิจปีหน้า นอกเหนือจากเศรษฐกิจโลก คือ ความไม่แน่นอนของสถานการณ์การเมืองในประเทศที่จะมีการเลือกตั้ง ซึ่งไม่ชัดเจนว่า ใครจะเป็นผู้นำรัฐบาล รัฐบาลใหม่จะมีนโยบายอย่างไร ใกล้เคียงหรือแตกต่าง เทียบกับรัฐบาลปัจจุบัน และอายุของรัฐบาลจะอยู่ได้นานแค่ไหน เหล่านี้คือความไม่แน่นอนที่ขณะนี้กระทบการตัดสินใจของภาคธุรกิจ ทำให้นักลงทุนรอดูสถานการณ์และไม่ตัดสินใจ

นอกจากปัญหาการเมือง ปีหน้าเศรษฐกิจไทยก็จะต้องอดทนกับปัญหาต่างๆ ที่ประเทศมี แต่ยังไม่มีการแก้ไข ไม่มีการปฏิรูป เช่น ปัญหาความสามารถในการแข่งขัน และโมเดลเศรษฐกิจที่พึ่งภาคส่งออกและท่องเที่ยว ทำให้การเติบโตของเศรษฐกิจไม่กระจาย แต่กระจุกตัวเฉพาะในธุรกิจที่ได้ประโยชน์จากภาคต่างประเทศ นอกจากนี้ ก็มีปัญหาธรรมาภิบาลที่เป็นจุดอ่อนสำคัญของประเทศ นำไปสู่ปัญหาคอร์รัปชันและการบังคับใช้กฎหมายที่อ่อนแอ กระทบแรงจูงใจทางเศรษฐกิจ ก่อให้เกิดการผูกขาดทางธุรกิจ กระทบการลงทุนและการตัดสินใจในการทำธุรกิจ และเมื่อปัญหาที่อยู่ไม่มีการแก้ไข เศรษฐกิจไทยก็ไม่มีอะไรใหม่ ที่จะเป็นฐานของการเติบโตในอนาคต กลายเป็นว่าปีหน้าคงจะเป็นอีกปีของเศรษฐกิจ บนพื้นฐานเดิมๆ ที่ไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง

ด้วยเหตุนี้ ประมาณการเศรษฐกิจของสำนักต่างๆ ทั้งภาครัฐ ต่างประเทศ และเอกชน มองแนวโน้มเศรษฐกิจไทยปีหน้า ไม่ดีเท่าปีนี้ การขยายตัวของเศรษฐกิจปีหน้าจะต่ำกว่าปีนี้ ในอัตราประมาณ 3.8 - 4.3% ต่ำกว่าอัตราเฉลี่ยของภูมิภาค การใช้จ่ายของประชาชนจะถูกจำกัด โดยการเติบโตของรายได้ที่ช้าและระดับหนี้ครัวเรือนที่สูง ขณะที่การใช้จ่ายภาครัฐก็จะมีข้อจำกัดจากอัตราการเบิกจ่ายที่ต่ำ ทำให้การเติบโตของเศรษฐกิจจะเป็นแบบตั้งรับ(Passive) ที่สะท้อนโมเมนตัมของเศรษฐกิจโลก และการค้าโลกเป็นหลัก

ต่อคำถามว่า อะไรจะประเด็นสำคัญต่อผู้ประกอบการในปีหน้า คำตอบคงไม่พ้น 1.)แนวโน้มที่เศรษฐกิจไทยจะชะลอ ซึ่งหมายถึงกำลังซื้อที่จะอ่อนแอลงกว่าเดิม 2.)ต้นทุนการชำระหนี้และต้นทุนในการทำธุรกิจจะเพิ่มขึ้นจากแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยในประเทศที่จะปรับสูงขึ้นตามอัตราดอกเบี้ยโลก พร้อมกับความผันผวนในตลาดการเงินที่จะมีมากขึ้น จากเงินทุนไหลออก ซึ่งคงมีต่อเนื่องปีหน้า จากที่ธนาคารกลางสหรัฐจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายต่อ และ 3.) ความต่อเนื่องของนโยบายเศรษฐกิจที่จะขึ้นอยู่กับรัฐบาลใหม่ปีหน้า ที่ไม่มีใครตอบได้ว่าจะเป็นอย่างไร อันนี้จะเป็นตัวฉุดรั้งกิจกรรมเศรษฐกิจในช่วงครึ่งปีแรก เพราะนักธุรกิจจะรอดูสถานการณ์ ไม่ตัดสินใจ ทำให้โมเมนตัมเศรษฐกิจครึ่งปีแรกปีหน้า จะเหมือนอยู่ในภาวะหยุดรอ ไม่มีการเร่งตัว

ฟังแล้วอย่างเพิ่งถอนใจ เพราะบอกแล้วว่า ไม่ใช่หมอดู และอาจผิดได้ แต่ในฐานะนักเศรษฐศาสตร์มั่นใจว่า แนวโน้มเศรษฐกิจปีหน้า จะไม่แตกต่างจากที่ได้วิเคราะห์มา