ขยันมากแต่ผลน้อย

ขยันมากแต่ผลน้อย

วันนี้แทบไม่มีใครจะบอกว่าขยันน้อยกว่าเดิม แต่ดูเหมือนว่าเรายิ่งขยัน อะไรมันก็ยังดูไม่ดีไปกว่าเดิม ลองนึกถึงการขับรถวนรอบวงเวียน

จะขับเร็วแค่ไหน ก็ไม่ไปไหน วนกลับมาอยู่ที่เดิมซ้ำแล้วซ้ำอีก เป็นการอุปมาอุปมัยที่ใกล้กับอาการขยัน แต่ไม่ได้ผล ซึ่งส่วนใหญ่แล้วขยันแต่ไม่ได้ผล ไม่ได้มาจากความตั้งใจของคนทำงานนั้น ใครจะอยากเหนื่อยซ้ำแล้วซ้ำอีกโดยไม่ได้ผลดีอะไรใหม่ๆ ขึ้นมา แต่เป็นผลมาจากการนำองค์กรที่ไม่ดี

ถ้าผู้นำที่เก่งไม่พอมักจะชี้อนาคตผิดทิศผิดทางเสมอ เมื่อเดือนก่อนบอกให้เราไปทางนี้ เดือนนี้บอกให้ไปอีกทางหนึ่ง ทำให้การงานไม่นิ่ง ไปซ้ายไปขวาอยู่ตลอดเวลา งานเดิมขยายเป็นสองเท่าทุกครั้งที่เปลี่ยนทิศทาง เพราะต้องออกแรงให้หยุดเดินทางเก่า เพื่อกลับตัวมาทางใหม่ ช่วงการปรับเปลี่ยนทิศทางจึงต้องขยัน แต่ขยันทำสองเท่า ผลดีใดๆ ก็ยังไม่เกิดขึ้น เพราะทั้งวันทำแค่เท่ากลับชะลอรถ แล้วหมุนกลับทิศเท่านั้น วันใดรู้สึกว่าเหนื่อยเหลือเกินจากการงาน แต่ไม่ยักเห็นอะไรดีขึ้นสักอย่าง ให้ลองย้อนดูว่าผู้นำของเราวูบวาบแค่ไหน ถ้าเดี่ยวไปทางนั้น เดี่ยวไปทางนี้ ให้พยายามลดความขยันตอนเริ่มเปลี่ยนทิศลงไปบ้าง เพราะยิ่งขยันเปลี่ยนทิศตามท่าน ก็ยิ่งต้องขยันกลับตัวมากเท่านั้น มีข้อเสียอย่างเดียว คือท่านจะไม่ชอบหน้าเท่านั้น

ถ้าจะพาองค์กรไปทางไหน แล้วบอกกันไม่ชัด ฟังเท่าไรก็ไม่รู้เรื่องว่าจะไปทางไหน อย่างไรกันแน่ คนทำงานเลยต้องขยันทำไปหมดทุกอย่าง ทำไปแล้วสักพักก็โดนนายด่าว่าทำไปทำไม ฉันไม่ได้สั่งให้ทำอย่างนี้ เจ้านายแบบนาโนมาเนจเมนต์ หรือผู้บริหารอุปนิสัยลงมือทำเอง มักขาดความสามารถในการบอกกล่าวว่าจะให้เราคนทำงานทำอะไร แม้ท่านชอบลงมือทำเอง แต่ชอบสั่งคนอื่นให้ทำตามวิธีที่ท่านชอบทำมากกว่า ดังนั้น ท่านจึงสั่งเหมือนกับกำลังบอกตนเองว่าจะทำอะไร คนอื่นฟังไปก็ไม่รู้เรื่อง พอทำไปจึงจบลงด้วยการเหนื่อยฟรีเสมอ ในทางตรงข้าม นักปราชญ์รักษาราชการผู้บริหารก็สร้างปัญหาในการสื่อสารการงานไม่น้อยไปกว่ากัน เพราะทุกคำสั่งของท่านคือข้อความในตำราปรัชญา ที่ขนาดจบปรัชญาดุษฎีบัณฑิตมายังไม่ค่อยจะเข้าใจ เพราะมักเป็นปรัชญาเทียบเท่าอภิธรรม คนธรรมดาไม่รู้เรื่องแน่นอน พอไม่รู้เรื่องก็พยายามจะถามท่าน แต่คำตอบก็อยู่ในระดับอภิธรรมเช่นเดียวกัน หาหนทางลงมือปฏิบัติไม่ถูก ต่างคนต่างตีความลงมือทำงานกันไป แทนที่จะทำหนึ่งก็ต้องทำขยายเป็นสามสี่ เผื่อไว้สำหรับที่เดาเอาเองว่าเป็นเช่นนั้นเช่นนี้ ซึ่งสองเรื่องนี้แก้ไขยากเย็น ทำได้ทางเดียวคือสังเกตดูว่าในอดีตนั้น ท่านทำเรื่องนั้นเรื่องนี้อย่างไร สอบถามคนเก่าคนแก่ดูว่าข้อความคำสั่งของท่านแบบนี้ ต้องแปลเป็นภาษาคนว่าอย่างไร

การงานจะสำเร็จได้ง่ายขึ้น หากบอกกันตรงๆ ว่าอยากให้ทำตรงไหนให้เสร็จก่อน คือมีโฟกัสให้กับคนทำงานสักหน่อย ซึ่งช่วยคนทำงานสามารถทุ่มแรงไปกับเรื่องนั้นได้เต็ม ๆ แต่ถ้าท่านบอกแบบไร้โฟกัส มีสิบเป้าหมายที่อยากได้ทั้งนั้น ก็ต้องทุ่มไปพร้อมกันทั้งสิบงาน ซึ่งส่งผลต่อเครื่องมือ และทรัพยากรอื่น ๆ ที่ต้องแย่งกันใช้ แย่งกันทำ การงานจึงต้องการความขยันในการแย่งทรัพยากรระหว่างกันอีก จะแย่งกันแบบไม่ให้เคืองกัน ก็ต้องขยันงานสังคมสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับคนอื่นๆ ตามมาอีก ถ้าเจอผู้บริหารที่ไม่บอกกล่าวโฟกัส ลองเลือกดูว่าเป้าหมายใดที่ใกล้ ๆกันบ้าง แล้วลงมือทำให้ได้เป้าหมายกลุ่มนั้นไปทีละกลุ่มแทน

ผู้บริหารที่แย่ที่สุดที่ทำให้เราต้องขยัน โดยไม่มีผลดีใดๆ เกิดขึ้น คือผู้บริหารแบบไซโล คือท่านเป็นทีมบริหารเดียวกัน แต่ต่างคนต่างนำ กลายเป็นหนึ่งวิสัยทัศน์นายใหญ่ สิบวิสัยทัศน์นายเล็ก ที่ไม่ค่อยจะไปในทางเดียวกันเสียอีก คนทำงานเลยต้องขยันสิบเท่า ที่บังเอิญพบกันได้ทั่วไปในบ้านนี้ ไม่รู้ว่าทำกรรมทำเวรอะไรกันมาแต่ปางก่อน