สิทธิบัตรสารสกัดจากพืชกัญชาและการคุ้มครองพันธุ์พืชใหม่

สิทธิบัตรสารสกัดจากพืชกัญชาและการคุ้มครองพันธุ์พืชใหม่

ในทางเศรษฐศาสตร์ กฎหมายเกี่ยวกับการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาทำหน้าที่สำคัญในการส่งเสริมการพัฒนานวัตกรรม เนื่องจากทรัพย์สินทางปัญญา

มีองค์ประกอบของความเป็นสินค้าสาธารณะ (public goods) ทำให้ทุกคนสามารถใช้สูตรหรือความคิดสร้างสรรค์นั้นได้พร้อมกัน โดยที่การใช้ของบุคคลหนึ่งไม่กระทบต่ออรรถประโยชน์ของบุคคลอื่นที่จะใช้ความคิดสร้างสรรค์นั้น ดังนั้น บุคคลอื่น ๆ จึงสามารถแสวงหาประโยชน์จากความคิดสร้างสรรค์หรือนวัตกรรมได้โดยไม่ต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่าย (Free rider problem หรือพฤติกรรมชุบมือเปิบ) ซึ่งก่อให้เกิดปัญหาที่ตามมาคือเอกชนจะไม่มีแรงจูงใจที่จะสร้างสรรค์งานหรือพัฒนานวัตกรรมเนื่องจากไม่สามารถได้รับประโยชน์จากการลงทุนนั้น 

การกำหนดสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญาให้แก่ความคิดสร้างสรรค์หรือความรู้ในการผลิตนวัตกรรมที่มีลักษณะความเป็นสินค้าสาธารณะ (propertization of knowledge) จึงเป็นการสร้างโอกาสให้เจ้าของนวัตกรรมสามารถหวงกันบุคคลอื่นจากการใช้ประโยชน์จากนวัตกรรมของตนเองและสามารถเก็บเกี่ยวผลประโยชน์จากการลงทุนได้

ดังนั้น นโยบายของระบบกฎหมายทรัพย์สินทางปัญญาในทุก ๆ ประเทศจึงเป็นการให้ “สิทธิผูกขาด” บางประการโดยเฉพาะสิทธิในการหวงกันคนอื่นไม่ให้ใช้ประโยชน์จากนวัตกรรมโดยไม่ได้รับอนุญาตจากเจ้าของนวัตกรรมภายใต้ “กำหนดระยะเวลา” หนึ่ง เพื่อให้เจ้าของนวัตกรรมสามารถแสวงหาผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจจากการลงทุนวิจัยและพัฒนานวัตกรรม ด้วยกระบวนการดังกล่าวประโยชน์ของเอกชนก็จะได้รับความคุ้มครองและในขณะเดียวกันประโยชน์ของสาธารณะที่จะได้รับจากความก้าวหน้าของเทคโนโลยีก็จะได้รับความคุ้มครองไปพร้อม ๆ กัน

อย่างไรก็ตาม บทบาทของรัฐนอกจากต้องส่งเสริมการวิจัยและพัฒนาและความก้าวหน้าของเทคโนโลยีแล้ว รัฐก็ยังมีหน้าที่ต้องคุ้มครองประโยชน์สาธารณะในด้านอื่น ๆ อีกด้วย โดยเฉพาะด้านการสาธารณสุขและความมั่นคงปลอดภัยของประชาชน ดังนั้น ในระบบกฎหมายทรัพย์สินทางปัญญา โดยเฉพาะกฎหมายสิทธิบัตรจึงไม่ให้ความคุ้มครองแก่การประดิษฐ์บางลักษณะ และกำหนดเงื่อนไขที่เข้มงวดบางประการต่อการประดิษฐ์ที่รัฐจะให้สิทธิผูกขาด และในหลาย ๆ กรณีสิทธิผูกขาดตามกฎหมายทรัพย์สินทางปัญญาก็อาจก่อให้เกิดการขัดกันกับประโยชน์สาธารณะอื่น ๆ อาทิ สิทธิในการเข้าถึงอาหารและยารักษาโรค ซึ่งเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของความเป็นมนุษย์อีกด้วย

ในปัจจุบันประเทศไทยมีกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการคุ้มครองการประดิษฐ์ที่อาจเกี่ยวเนื่องกับพืชกัญชาที่กำลังเป็นประเด็นถกเถียงสาธารณะ 2 ฉบับได้แก่ พระราชบัญญัติสิทธิบัตร พ.ศ. 2522 และพระราชบัญญัติคุ้มครองพันธุ์พืช พ.ศ. 2542

ตามมาตรา 9 พระราชบัญญัติสิทธิบัตร พ.ศ. 2522 การประดิษฐ์ 5 ข้อ ที่ไม่สามารถขอรับสิทธิบัตรได้ ประกอบด้วย (1) จุลชีพและส่วนประกอบส่วนใดส่วนหนึ่งของจุลชีพที่มีอยู่ตามธรรมชาติสัตว์ พืช หรือสารสกัดจากสัตว์หรือพืช (2) กฎเกณฑ์และทฤษฎีทางวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์  (3) ระบบข้อมูลสำหรับการทำงานของเครื่องคอมพิวเตอร์ 4) วิธีการวินิจฉัย บำบัด หรือรักษาโรคมนุษย์ หรือสัตว์  (5) การประดิษฐ์ที่ขัดต่อความสงบเรียบร้อย หรือศีลธรรมอันดี อนามัยหรือสวัสดิภาพของประชาชน

และตามมาตรา 5 กำหนดด้วยว่าการประดิษฐ์ที่ขอรับสิทธิบัตรได้ต้องประกอบด้วยลักษณะดังต่อไปนี้ กล่าวคือ (1) เป็นการประดิษฐ์ขึ้นใหม่ (2) เป็นการประดิษฐ์ที่มีขั้นการประดิษฐ์สูงขึ้น และ (3) เป็นการประดิษฐ์ที่สามารถประยุกต์ในทางอุตสาหกรรม

ในส่วนของพืชกัญชาและสารสกัดจากพืชกัญชา หากยังไม่มีการแก้ไขกฎหมายเกี่ยวกับยาเสพติดหรือไม่ปลดล็อคพืชกัญชา ก็คงเป็นได้ยากที่สารสกัดจากพืชกัญชาจะได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายสิทธิบัตร เนื่องจากน่าจะถือว่าเป็นการประดิษฐ์ที่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน แต่หากเมื่อกฎหมายอนุญาตให้ปลูกและใช้ประโยชน์ได้แล้ว การประดิษฐ์ที่เกี่ยวเนื่องกับพืชกัญชาหรือสารสกัดจากพืชกัญชาก็อาจจะได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายได้

หากพิจารณาตามมาตรา 9 (1) การประดิษฐ์ที่กฎหมายไม่คุ้มครอง คือ “สารสกัดจากพืช” เท่านั้น นั่นหมายความว่าตามกฎหมายแล้วหากเป็นกรรมวิธีการสกัด (Process) ก็อาจสามารถขอรับความคุ้มครองตามกฎหมายได้ และผลของกฎหมายสิทธิบัตรจะทำให้เจ้าของสิทธิบัตรมีสิทธิแต่ผู้เดียวในกระบวนการสกัดนั้น หรือหากเป็นตัวสารสกัดตามธรรมชาติจริง ๆ ที่ได้จากกัญชา อาทิ แคนแนบินอยด์ (Cannabinoids) แต่นำมาผสมกับสารเคมีอื่น ๆ ที่มีลักษณะเป็น “สารผสมรวม” การประดิษฐ์ลักษณะนี้ก็อยู่ในเงื่อนไขที่อาจขอรับสิทธิบัตรได้เช่นกัน เนื่องจากไม่ใช่ “สารสกัดจากพืช” โดยตรง หรือสารสังเคราะห์ชนิดใหม่ที่ดัดแปลงจากสารสกัดกัญชาตามธรรมชาติจนมีฤทธิ์ทางยาเหนือกว่าสารสกัดกัญชาตามธรรมชาติก็ต้องถือว่าเป็นการประดิษฐ์ที่อาจได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายด้วย ซึ่งสิทธิบัตรที่เกี่ยวเนื่องกับสารสกัดจากกัญชาส่วนใหญ่ในสหรัฐอเมริกาก็ขอจดสิทธิบัตรในลักษณะดังกล่าว

นอกจากนี้การปลดล็อคพืชกัญชา ก็ยังอาจนำมาซึ่งการผูกขาดสายพันธุ์กัญชาได้ในอนาคตอีกด้วย โดยใช้กระบวนการตามพระราชบัญญัติคุ้มครองพันธุ์พืช พ.ศ. 2542 ซึ่งจะทำให้ผู้ทรงสิทธิในพันธุ์พืชใหม่มีสิทธิแต่เพียงผู้เดียวในการผลิต ขาย หรือจำหน่ายด้วยประการใด นำเข้ามาในราชอาณาจักร ส่งออกนอกราชอาณาจักร หรือมีไว้เพื่อกระทำการอย่างหนึ่งอย่างใดดังกล่าวซึ่งส่วนขยายพันธุ์ของพันธุ์พืชใหม่ และมีสิทธิแต่ผู้เดียวในการอนุญาตให้บุคคลใดใช้สิทธิในพันธุ์พืชใหม่ของตนหรือจะโอนสิทธิในพันธุ์พืชใหม่ให้แก่บุคคลอื่นก็ได้

ประกอบกับนโยบายของรัฐบาลที่จะกำหนดให้การปลูกเป็นกระบวนการขออนุญาต นั่นหมายความว่าหากผู้ใดเป็นเจ้าของพันธุ์พืชกัญชาใหม่หรือพันธุ์ที่รัฐบาลส่งเสริมสนับสนุนก็จะสามารถตรวจสอบและติดตามการปลูกได้โดยง่ายและช่วยให้การผูกขาดสายพันธุ์ทำได้ง่ายและสะดวกขึ้น

สุดท้าย ผลของการปลดล็อคกัญชาก็อาจไม่ได้นำมาซึ่งโอกาสในการเข้าถึงยาหรือหลักประกันสุขภาพของประชาชน แต่ทำให้กระบวนการผูกขาดตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำสะดวกขึ้นก็เป็นได้ และเป็นปัญหาท้าทายที่สภานิติบัญญัติแห่งชาติจะต้องพิจารณาอย่างรอบด้าน.

โดย... 

ศุภวัชร์ มาลานนท์

คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์