โจทย์ใหญ่ของการพัฒนาคนสำหรับพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษในจังหวัด

โจทย์ใหญ่ของการพัฒนาคนสำหรับพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษในจังหวัด

10 จังหวัดที่รัฐบาลได้ประกาศให้เป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษ คือ ตาก มุกดาหาร สระแก้ว ตราด สงขลา หนองคาย นราธิวาส เชียงราย นครพนม และกาญจนบุรี

โดยหวังว่า 10 จังหวัดนี้ จะช่วยกระจายความเจริญสู่ภูมิภาค ลดความเหลื่อมล้ำของรายได้ ยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน เสริมสร้างความมั่นคงในพื้นที่ เพิ่มความสามารถในการแข่งขัน และทำให้เกิดความเชื่อมโยงทางเศรษฐกิจกับประเทศเพื่อนบ้านมากขึ้น ในด้านนโยบายสนับสนุน รัฐบาลได้ให้สิทธิประโยชน์ด้านการลงทุน การบริหารแรงงานต่างด้าวแบบไป-กลับ การให้บริการจุดเดียวเบ็ดเสร็จ และการบริการอื่นที่จำเป็น

อย่างไรก็ตาม นอกจากนโยบายเหล่านี้แล้ว อีกเรื่องที่เป็นโจทย์ใหญ่ไม่แพ้กัน คือ การพัฒนาคนเพื่อให้มีจำนวนและคุณภาพเพียงพอกับการเติบโตในพื้นที่ เพราะคนคือหัวใจสำคัญของการพัฒนา ตารางที่แสดงไว้ เป็นดัชนีช่องว่างทักษะ หรือความสามารถในการทำงานของแรงงานเทียบกับความคาดหวังของนายจ้าง ซึ่งมีค่าอยู่ระหว่าง 0 (ไม่มีปัญหาช่องว่างทักษะ) และ 1 (มีปัญหาช่องว่าทักษะรุนแรง) และระดับความรุนแรงได้ถูกจัดไว้เป็น 5 เฉดสี ตั้งแต่สีเขียวแก่ไปถึงสีแดง โดย สีเขียวแก่ หมายถึง ปัญหาช่องว่าทักษะน้อยที่สุด และสีแดง หมายถึง ปัญหาช่องว่าทักษะสูงที่สุด จะเห็นได้ว่าจังหวัดเหล่านี้มีปัญหาช่องว่างทักษะอยู่ระดับปานกลางถึงสูง ความรุนแรงของปัญหาระดับนี้ย่อมส่งผลต่อความสำเร็จในการพัฒนาพื้นที่เหล่านี้อย่างแน่นอน

ดัชนีช่องว่างทักษะของจังหวัดที่เป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษ

โจทย์ใหญ่ของการพัฒนาคนสำหรับพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษในจังหวัด

นอกจากปัญหาช่องว่างทักษะแล้ว การจัดการศึกษาในพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษ ยังมีประเด็นสำคัญที่ต้องพัฒนาให้ดีขึ้นกว่าเดิมอยู่ 5 เรื่องด้วยกัน

เรื่องที่ 1 การจัดการศึกษายังขึ้นอยู่กับสถานศึกษาเป็นหลัก  ทั้งในด้านของบุคลากร ทรัพยากร หลักสูตร และการจัดการเรียนรู้ สถานศึกษาเองมีข้อจำกัดด้านทรัพยากร ประสบการณ์ ความเชี่ยวชาญ และเครือข่าย รวมถึงภาระงานที่ต้องทำเป็นประจำ ทำให้ไม่สามารถพัฒนาบุคลากรของตนเองให้มีความเชี่ยวชาญในทุกด้าน จึงไม่สามารถพัฒนาผู้เรียนให้ตรงกับความต้องการของตลาดแรงงานในจังหวัดได้

เรื่องที่ 2 ความรู้เกี่ยวกับพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษ ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในพื้นที่ส่วนหนึ่งยังไม่ทราบว่า จังหวัดของตนเองจะพบกับการเปลี่ยนแปลงอะไรบ้าง เมื่อขาดความเข้าใจในเรื่องนี้ ประกอบกับในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมานี้ ไม่ทราบถึงแผนการพัฒนาอุตสาหกรรมเป้าหมาย ไม่เห็นการเปลี่ยนแปลงในพื้นที่ที่เป็นรูปธรรม จึงไม่รู้ว่าต้องเตรียมตัวอย่างไร

เรื่องที่ 3 ทัศนคติของผู้ปกครองและผู้เรียนบางส่วนยังให้ความสำคัญกับการเรียนต่อในระดับมหาวิทยาลัย  ทัศนคติที่มองว่ามหาวิทยาลัยเป็นหลัก การศึกษาเพื่ออาชีพเป็นรอง โดยไม่มีข้อมูลเพียงพอว่าตลาดแรงงานในจังหวัดต้องการแรงงานในสาขาใดบ้าง ทำให้แม้จะมีการจัดการศึกษาเพื่ออาชีพก็ยังไม่ได้รับความสนใจหรือจากผู้ปกครองและผู้เรียน นอกจากนี้แล้ว การศึกษาต่อระดับมหาวิทยาลัยนอกพื้นที่ยังทำให้จังหวัดสูญเสียแรงงานรุ่นใหม่ จึงส่งผลต่อการขาดแคลนแรงงานที่จำเป็นต่อการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษ

เรื่องที่ 4 สถานประกอบการในพื้นที่ไม่มีความพร้อมในการร่วมจัดการเรียนการสอน  ผู้ที่รับผิดชอบในการจัดการเรียนรู้ในสถานประกอบการยังขาดทักษะด้านการจัดการเรียนรู้ จึงไม่สามารถพัฒนาทักษะของผู้ที่เข้ามาฝึกงานได้เต็มที่ ประกอบกับสถานประกอบการส่วนใหญ่มีขนาดเล็ก ทำให้มีบุคลากรไม่เพียงพอที่จะจัดสรรมาช่วยจัดการเรียนรู้ การที่ลักษณะของสถานประกอบการยังไม่ได้มีความซับซ้อนมาก ส่งผลให้ทักษะที่ผู้เรียนสามารถพัฒนาได้เป็นเพียงทักษะพื้นฐาน อาจไม่เพียงพอสำหรับงานที่จะมาพร้อมกับเขตเศรษฐกิจพิเศษ

เรื่องที่ 5 สถานศึกษายังไม่มีเกณฑ์การประเมินความสำเร็จในการจัดการศึกษาสำหรับพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษ  เนื่องจากภาพอนาคตของจังหวัดยังไม่ชัดเจน ทั้งในด้านเศรษฐกิจภาพรวม และความต้องการของตลาดแรงงาน ประกอบกับการประเมินความสำเร็จของทักษะในการทำงานมีวิธีการคิดและการประเมินที่แตกต่างจากผลสัมฤทธิ์ทางวิชาการ เมื่อไม่ทราบถึงเกณฑ์ที่เหมาะจม จึงไม่สามารถกำหนดแนวทางในการจัดการเรียนรู้ให้สอดคล้องกันได้

โจทใหญ่ที่เป็นหัวใจของความสำเร็จในการจัดการศึกษาสำหรับพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษ คือ จะต้องไม่ให้สถานศึกษาเป็นผู้รับภาระในการสร้างคนเพียงลำพัง ทุกภาคส่วนที่ในพื้นที่ควรรับผิดชอบร่วมกัน การมีส่วนร่วมไม่จำเป็นต้องเป็นเรื่องเงินเสมอไป และควรส่งเสริมให้สังคมยอมรับการจัดการศึกษาเพื่ออาชีพ ด้วยการแนะแนว การให้ข้อมูลตลาดแรงงาน และการสื่อสารผ่านช่องทางต่าง ๆ เพื่อคนในพื้นที่เกิดความรู้สึกร่วมในการขับเคลื่อนจังหวัดของตนเองให้ก้าวไปข้างหน้าได้อย่างมั่นคง