วัฏจักรอสังหาริมทรัพย์

วัฏจักรอสังหาริมทรัพย์

วัฏจักรอสังหาริมทรัพย์ที่มีขึ้นๆ ลงๆ เกิดขึ้นและหายไปได้อย่างไรในแต่ละประเทศนั้น ผู้เขียนได้รวบรวมจากประสบการณ์จากหลายประเทศ

 เพื่อให้เห็นภาพที่ชัดเจนและเป็นประโยชน์ในการวิเคราะห์เปรียบเทียบและเตรียมรับมือฟองสบู่อสังหาริมทรัพย์ที่กำลังจะมาถึงประสบการณ์ของวัฏจักรอสังหาริมทรัพย์โลกนี้ แสดงให้เห็นถึงในกรณีประเทศชั้นนำต่างๆ โดยเฉพาะประเทศตะวันตก ซึ่งเป็นประเทศหลักของระบบทุนนิยมโลก

ออสเตรเลีย มีวัฏจักรอสังหาริมทรัพย์มาหลายครั้ง โดยในช่วงระหว่างปี 2511-2517 โดยเกิดการระบาดขนานใหญ่ของการซื้ออสังหาริมทรัพย์ (คงเนื่องมาจากการเติบโตขนานใหญ่ของเศรษฐกิจของประเทศและการลงทุนจากต่างประเทศ) การเติบโตในครั้งนั้นเป็นปรากฏการณ์ที่คึกคักที่สุด แต่ก็อยู่ได้มาจนถึงการตกต่ำสุดขีดในปี 2523 และในอีกครั้งหนึ่งในห้วงปี 2533 การเติบโตทางเศรษฐกิจเกิดขึ้นอย่างสูงทั้งนี้สังเกตได้จากการขยายตัวของผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติ และสถานการณ์ก็กลับตกต่ำลงอีกไม่กี่ปีต่อมา ตั้งแต่ปี 2559 ก็มีการบูมกันอีก จนเขาห้ามต่างชาติซื้ออสังหาริมทรัพย์ ยกเว้นสินค้าใหม่

ญี่ปุ่น ในช่วงต้นทศวรรษที่ 1960 (พ.ศ.2503) อสังหาริมทรัพย์ในญี่ปุ่นเติบโตอย่างโดดเด่น บางปีราคาอสังหาริมทรัพย์เพิ่มขึ้น 20% ทำให้ผู้ประกอบธุรกิจอื่นๆ ต่างหันมาลงทุน การเก็งกำไรในที่ดินแพร่หลายเป็นอย่างมาก แต่อสังหาริมทรัพย์ก็ตกต่ำลงในระยะหนึ่ง และกลับมาเติบโตอีกครั้งในช่วงปี 2515-2516 ซึ่งมีการลงทุนจากต่างประเทศเข้ามาในญี่ปุ่นเป็นอย่างมาก การเติบโตของอสังหาริมทรัพย์ญี่ปุ่นมาสิ้นสุดในช่วงปี 2533 ช่วงหลังสงครามอ่าวเปอร์เซีย ทำให้อสังหาริมทรัพย์ญี่ปุ่น ซึมยาวไปอีกราว 15 ปี และเริ่มตื่นตัวอีกครั้งก่อน พ.ศ.2550 อย่างไรก็ตามแม้ถึงปี 2561 ตลาดอสังหาริมทรัพย์ญี่ปุ่น ก็ยังซึมๆ

สิงคโปร์ เกิดปรากฏการณ์เติบโต ใน 2 ช่วงสำคัญ คือช่วง พ.ศ.2523-2526 ซึ่งในช่วงนั้นราคาอสังหาริมทรัพย์เพิ่มขึ้น 3 เท่าตัวในระยะเวลา 3 ปี และช่วงปี 2536-2539 ซึ่งมีการขยายตัวครั้งใหญ่ ดูเหมือนว่าอสังหาริมทรัพย์และเศรษฐกิจโดยรวมของสิงคโปร์ ขึ้นอยู่กับภาวะเศรษฐกิจของประเทศเพื่อนบ้าน เช่น อินโดนีเซีย มาเลเซีย ไทย และอื่น ๆ ด้วย พอเศรษฐกิจฟื้นก็มีต่างชาติมาซื้ออสังหาริมทรัพย์จนสิงคโปร์ออกกำแพงภาษีคุม ล่าสุดปี 2561 ต่างชาติต้องเสียภาษีถึง 20% ในการซื้ออสังหาริมทรัพย์

สวีเดน ในช่วงหลังของทศวรรษ 1980 หรือ ช่วง พ.ศ.2523-2532 ปรากฏการณ์เติบโตของสวีเดนนี้เกิดขึ้นเนื่องจากตลาดการเงินได้รับการผ่อนผันให้สามารถนำเงินมาลงทุนในภาคธุรกิจอื่น นอกจากนี้ยังมีการผ่อนปรนมาตรการด้านดอกเบี้ย และมาตรการจูงใจด้านภาษี ทำให้เกิดการลงทุนด้านอสังหาริมทรัพย์อย่างขนานใหญ่ ด้วยการเติบโตของตลาดอย่างขนานใหญ่ ทำให้ตลาดเกิดอาการร้อนแรงเกินไป ค่าของเงินสกุลโครนาของสวีเดน จึงอ่อนตัวลงอย่างรวดเร็ว ทำให้ตลาดหลักทรัพย์เกิดอาการ “ช็อค” ตามมาด้วยความเสียหายต่าง ๆ ซึ่งเกิดขึ้นในช่วง พ.ศ.2532-2534 ภาวะการลงทุนที่ขยายตัวอย่างขนานใหญ่ด้านอสังหาริมทรัพย์ จึงกลายเป็นการลงทุนเกินตัว และราคาอสังหาริมทรัพย์เริ่มตกต่ำลง 30 ปีหลังก็ย้อนรอยวัฏจักรอีก แต่มีการควบคุมที่ดีขึ้น

อังกฤษ  ประเทศนี้มีประสบการณ์อันยาวนานโดยเฉพาะช่วงปี 2464-2540 จากปรากฏการณ์เกือบร้อยปีชี้ให้เห็นว่า วัฏจักรอสังหาริมทรัพย์ไม่ได้ “ราบรื่น” อย่างเสมอต้นเสมอปลาย บางห้วงเวลาอาจสั้น บางห้วงก็อาจยาวนานมากพอสมควร แต่มีข้อสรุปสำคัญก็คือ มีปรากฏการณ์ของวัฏจักรอย่างแน่ชัดและจริง ระยะเวลาในแต่ละห้วงของวัฏจักร อาจกินเวลา 4 - 12 ปี โดยมีค่าเฉลี่ยที่ 8 ปี การ “บูม” จะเป็นในช่วง 2-7 ปี และการตกต่ำจะเป็นในช่วง 2-9 ปี ประสบการณ์ของอังกฤษ ได้ข้อสรุปว่า วัฏจักรอสังหาริมทรัพย์ และวัฏจักรเศรษฐกิจนั้นมีความสัมพันธ์กัน โดยวัฏจักรอสังหาริมทรัพย์จะตามหลังวัฏจักรเศรษฐกิจ เพราะอสังหาริมทรัพย์เป็นตัวแปรตาม ขณะที่เศรษฐกิจเป็นตัวแปรอิสระ

สหรัฐ อาจกล่าวได้ว่าประวัติศาสตร์สหรัฐชี้ว่า วัฏจักรอสังหาริมทรัพย์เกิดทุก 18 ปี แต่ประสบการณ์ในระยะ 20-30 ปีหลัง ควรจะได้รับการศึกษาเป็นพิเศษ อาจกล่าวได้ว่า ในช่วงปี 2525 สหรัฐได้ผ่านพ้นวิกฤติเศรษฐกิจมาได้เพราะการมีมาตรการทางการเงินที่เข้มงวด อย่างไรก็ตาม วิกฤติอสังหาริมทรัพย์ครั้งใหญ่ในช่วงปี 2531-2534 เกิดขึ้นเนื่องจากการกู้เงินกันอย่างมหาศาลแต่ขาดวินัยทางการเงิน หลังการฟื้นตัว ก็ตกต่ำอีกครั้งในปี 2550 อันเนื่องการขาดวินัยทางการเงินอีกครั้ง แต่ขณะนี้ ณ ปี 2561 ราคาที่อยู่อาศัยก็ปรับตัวสูงขึ้นกว่าช่วงสูงสุดเมื่อปี 2550 แล้ว

การตกต่ำของทรัพย์สินในอังกฤษโดยเฉพาะสหรัฐเห็นได้ชัดเจนจากการขาดวินัยทางการเงิน ที่ปล่อยให้มีการอำนวยสินเชื่อ 100% ของหลักประกัน เรื่อยไปจนถึง 120% และสุดท้ายคือการอำนวยสินเชื่อที่ให้ผ่อนชำระเพียงเฉพาะดอกเบี้ย ทรัพย์สินจึงถูกนำไปอำนวยสินเชื่อซ้ำตามความคาดหวังว่ามูลค่าจะเพิ่มขึ้นตลอดเวลาโดยไม่นำพาต่อความจริงที่ว่า อสังหาริมทรัพย์มีธรรมชาติเป็นวงวัฏจักร

สำหรับประเทศไทย จะเห็นได้ว่า นับแต่ปี 2542 เป็นต้นมา สถานการณ์อสังหาริมทรัพย์ก็ฟื้นขึ้น ราคาที่ดินยังเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง แม้ในปีหลังๆ มานี้อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจจะสูงมาก แต่ก็มีอาการ รวยกระจุก จนกระจาย ทำให้กำลังซื้อของประชาชนมีจำกัด ดังนั้นจึงทำให้ราคาบ้านสูงขึ้นเฉพาะกลุ่มลูกค้าผู้มีรายได้สูงหรือข้าราชการ ส่วนประชาชนทั่วไปจะมีกำลังซื้อจำกัด ยิ่งปล่อยให้ต่างชาติมาซื้ออสังหาริมทรัพย์ในไทยโดยไม่มีข้อจำกัดด้านราคา ไม่มีกำแพงภาษี ยิ่งทำให้ตลาดบ้านปรับราคาสูงขึ้นในอนาคต จนคาดว่าต่อไปคนจะออกมาเดินขบวนว่าบ้านแพงมาก ไม่มีปัญญาซื้อ เช่นในไต้หวันในอดีตที่ผ่านมา

จากการศึกษาเรื่องวัฎจักรอสังหาริมทรัพย์ข้างต้น อาจกล่าวได้ว่า ในแง่หนึ่ง ประเทศไทยพึงระวังถึงภาวะวิกฤติที่อาจได้รับผลกระทบจากประเทศอุตสาหกรรมชั้นนำของโลก ซึ่งอาจทำให้เศรษฐกิจประเทศไทยตกต่ำไปด้วย แม้ขณะนี้ราคาข้าวจะปรับตัวสูงขึ้นมาก แต่ปรากฏว่าชาวนากลับไม่ค่อยมีข้าวขายเพราะฝนแล้งและมาตรการห้ามปลูกข้าวในปีก่อน และยังส่งผลต่อกำลังการท่องเที่ยวของประเทศเหล่านี้ จะเห็นได้ว่านักท่องเที่ยวที่มาเป็นนักท่องเที่ยวจีนซื่งแม้มามาก แต่มีรายจ่ายน้อย ทำให้ต่อไปอาจส่งผลกระทบร้ายแรงต่ออสังหาริมทรัพย์เพื่อการพักผ่อนในประเทศไทย

ข้อพึงสังวรก็คือ ในภาวะขณะนี้ จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องติดตามสถานการณ์โดยใกล้ชิด จึงจะสามารถตัดสินใจลงทุนหรือหยุดการลงทุนได้ทันการ ผู้เป็น “ลูกผู้บริหาร หลานพ่อค้าวานิช” จะได้ข้ามพ้นวัฏจักรไปได้ด้วยสติและประสบความความสำเร็จสืบต่อธุรกิจได้อย่างยั่งยืนด้วย 

หมายเหตุ: ในวันพุธที่ 28 พ.ย.2561 จะมีสัมมนาสำหรับผู้บริหาร เรื่อง “ฟองสบู่อสังาฯ: จุดเริ่มต้นของจุดจบ” ณ ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย ดูรายละเอียดได้ที่ https://bit.ly/2T6gmI1