อนาคตของมนุษย์

อนาคตของมนุษย์

เมื่อปี 1894 หรือเมื่อ 124 ปีก่อน นิตยสารไทมส์ ได้เคยพยากรณ์ไว้ว่า “ในอีก 50 ปีข้างหน้า หรือในปี 1944

ถนนทุกเส้นในกรุงลอนดอนจะถูกฝังอยู่ภายใต้ขี้ม้าสูงถึง 9 ฟุต”

ทั้งนี้ ก็เนื่องมาจากว่าในปลายทศวรรษที่ 1800 กรุงลอนดอนนั้นมีม้ากว่า 50,000 ตัวที่คอยลากจูงยานพาหนะ ไม่ว่าจะเป็นแท็กซี่หรือรถโดยสารประจำทางในแต่ละวัน ม้าแต่ละตัวถ่ายมูลเป็นน้ำหนักประมาณ 6-15 กิโลกรัม และปัสสาวะอีกเกือบ 1 ลิตรต่อวัน ในขณะนั้นจึงเรียกกันว่าเป็น “วิกฤติการณ์ขี้ม้าครั้งใหญ่แห่งปี 1894”

วิกฤติการณ์ครั้งนั้นได้นำไปสู่การประชุมระดับนานาชาติด้านผังเมืองเป็นครั้งแรกของโลกที่มหานครนิวยอร์ค ซึ่งจบลงภายในเวลาเพียง 3 วัน จากเดิมที่กำหนดไว้ที่ 10 วัน เนื่องจากเป็นปัญหาที่ไม่สามารถหาทางออกได้

อย่างไรก็ตาม ไม่ต้องรอถึง 50 ปีเพื่อพิสูจน์กัน ในปี 1912 หรือในเวลาเพียง 18 ปีให้หลัง บนถนนทั้งในลอนดอน และนิวยอร์คนั้นกลายเป็นว่ามีรถมากกว่าม้า โดยในปี 1917 เป็นปีที่มีรถที่ลากจูงโดยม้าเหลืออยู่เป็นคันท้ายๆ ซึ่งก็เป็นที่แน่นอนว่าขี้ม้าย่อมต้องหายไปด้วยพร้อมกับม้านั่นเอง

เหตุการณ์ข้างต้น บอกอะไรกับเราบ้าง? ประการหนึ่ง คือ การนำเอาเหตุการณ์อดีต หรือปัจจุบันมาประเมินสถานการณ์อนาคต อาจห่างไกลจากความเป็นจริงอย่างมากก็เป็นได้ และโลกใบนี้ได้เคยผ่านการเปลี่ยนแปลงด้านนวัตกรรมอันมีผลกระทบกับการดำรงชีวิตของผู้คนในสังคมมาแล้วนับครั้งไม่ถ้วน ไม่ว่าจะเป็นการคิดค้นพลังงานไฟฟ้า รถไฟ รถยนตร์ เครื่องบิน อินเตอร์เน็ต จนมาถึงสมาร์ทโฟน และปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence) ในปัจจุบัน

ความสามารถของ AI ที่สามารถแก้ปัญหาหรือโจทย์ยากๆได้เช่นเดียวกับหรือเหนือกว่ามนุษย์ ในระยะเวลาที่รวดเร็วกว่ามาก ทำให้หลายคนเกิดความความหวาดกลัวว่าจะมีงานหลงเหลือให้มนุษย์ได้ทำน้อยมากๆในอนาคต

เมื่อต้นเดือนที่ผ่านมา ผู้เขียนได้มีโอกาสไปฟังสัมมนาด้านการลงทุน Man vs machine – the future of investing โดย David Buckle, Head of Investment Solutions Design ของ Fidelity International ได้พูดไว้ในส่วนหนึ่งของงานสัมมนาว่าเมื่อ 500 ปีก่อนมีชายชาวอังกฤษทำงานในภาคเกษตรเกือบ 90% ของประชากรทั้งหมด ในขณะที่อีก 400 ปีถัดมา เหลือแรงงานชายในภาคเกษตรเพียงประมาณ 10% เท่านั้น

การปรับตัวของสังคมครั้งนั้น ใช้เวลายาวนานถึง 4 ศตวรรษ และเป็นการปรับตัวของคนหลายรุ่น แต่การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในปัจจุบันนั้น เป็นการปรับเปลี่ยนแบบฉับพลันทันใด ซึ่งการปรับตัวนั้นอาจจำเป็นที่จะต้องเกิดขึ้นเพียงภายในชั่วอายุคนเดียวเท่านั้น

นอกจากการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วแล้ว โครงสร้างของประชากรโลกก็เปลี่ยนแปลงไปอย่างมากด้วยเช่นกัน โดยประเทศญี่ปุ่นที่มีอัตราผู้สูงอายุสูงที่สุดในโลกในปัจจุบัน นับตั้งแต่ปี 2009 มีจำนวนแรงงานเพิ่มขึ้น 3 ล้านคน ซึ่งในจำนวนนี้ เป็นแรงงานที่มีอายุอยู่ในช่วง 45-65 ปี ประมาณ 1.5 ล้านคน และ 65 ปีขึ้นไป เพิ่มขึ้นมากถึง 3 ล้านคน ในขณะที่แรงงานในช่วงอายุ  15 – 45 ปี ลดลงไปประมาณ 1.5 ล้านคน

ส่วนในสหรัฐฯนั้น แรงงานที่มีอายุตั้งแต่ 55 ปีขึ้นไปก็มีสัดส่วนเพิ่มขึ้นจากเพียง 16.4% ในปี 2000 เป็นประมาณ 25% ในปัจจุบัน โดยแรงงานอเมริกันที่เป็นผู้สูงวัยนั้น มีจำนวนมากกว่าวัยรุ่นถึง 2 เท่า!

การเติบโตของประชากรโลกที่ลดลง พร้อมๆไปกับการที่คนมีอายุยืนมากขึ้น ทำให้แรงงานต้องทำงานเป็นระยะเวลายาวนานยิ่งขึ้นเพื่อมีรายได้เพียงพอต่อการเลี้ยงชีพ เราจะทำอย่างไรที่จะสามารถปรับตัวให้เข้ากับการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี ที่เกิดขึ้นในช่วงอายุของเรานี้ให้ได้? ส่วนหนึ่ง คือ ความพร้อมที่จะปรับตัว และเรียนรู้ในสิ่งใหม่ๆ ไม่ว่าจะเป็นการเข้าเรียนในชั้นเรียน หรือการฝึกทักษะใหม่ๆ ผ่านการฝึกฝนในที่ทำงาน

ซึ่งการเรียนงานใหม่ในที่ทำงานนี้ ก็ต้องมาพร้อมกับการยอมลดค่าจ้างในช่วงที่ตนยังไม่มีความชำนาญลงมาด้วย ทั้งนี้ ก็เพื่อให้เราไม่สูญเสียโอกาสที่จะได้ทำงานไปโดยสิ้นเชิงนั่นเอง

สิ่งที่หวั่นเกรงนี้ อาจไม่เกิดขึ้นเลยก็ได้ เช่นเดียวกับปัญหาขี้ม้าในอดีต แต่หากเราเป็นคนขับรถม้า ชีวิตก็อาจไม่ง่ายเช่นนั้น