พิษโรฮิงญา วิบากกรรม ‘ซูจี’

พิษโรฮิงญา วิบากกรรม ‘ซูจี’

วิกฤติโรฮิงญาในเมียนมา ดูเหมือนจะกลายเป็น “วิบากกรรม” ของออง ซาน ซูจี ผู้นำโดยพฤตินัยของเมียนมาเสียแล้ว

ล่าสุดถึงขั้นทำให้องค์กรสิทธิมนุษยชนอย่าง “แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล” เรียกคืนรางวัล "ทูตแห่งมโนธรรมสำนึก" ที่เคยประกาศให้เธอเมื่อปี 2552

คูมี นายดู เลขาธิการแอมเนสตี้ เผยว่า รู้สึกผิดหวังกับการที่ซูจีไม่ใช้อำนาจทางการเมืองเพื่อปกป้องสิทธิมนุษยชนและความยุติธรรมในเมียนมา

คำพูดนี้ถือเป็นการวิจารณ์ท่าที "เพิกเฉย" ของเจ้าของรางวัลโนเบลสันติภาพต่อการทารุณกรรมชาวโรฮิงญาในรัฐยะไข่ของกองทัพเมียนมาเมื่อปีก่อน และการลิดรอนเสรีภาพในการแสดงออกของประชาชน หลังจากเธอชนะเลือกตั้งเมื่อปี 2558 และบริหารประเทศมาแล้วครึ่งเทอม

“เราผิดหวังอย่างยิ่งที่ท่านไม่ได้เป็นสัญลักษณ์ของความหวัง ความกล้าหาญ และการยืนหยัดปกป้องสิทธิมนุษยชนอีกต่อไป แอมเนสตี้ไม่อาจรับรองสถานะของท่านในฐานะทูตแห่งมโนธรรมสำนึกอีกต่อไป เราจึงขอถอนรางวัลนี้ที่เคยมอบให้กับท่าน” คูมีระบุ

ไม่ใช่เพียงองค์กรสิทธิมนุษยชนเท่านั้นที่รับไม่ได้กับการตอบสนองเหตุการณ์กดขี่ชาวโรฮิงญาของซูจี เพื่อนบ้านอย่างมาเลเซียยังออกมาร่วมวิจารณ์ โดย “มหาธีร์ โมฮัมหมัด” นายกรัฐมนตรีมาเลเซีย กล่าวว่า เป็นเรื่องที่ไม่อาจโต้แย้งได้

"ผมรู้สึกผิดหวังมากกับความล้มเหลวของซูจีที่จะปกป้องโรฮิงญา ชนกลุ่มน้อยมุสลิมไร้สัญชาติที่ถูกขับออกจากเมียนมาหลายแสนคนเมื่อปีก่อน จากการปราบปรามของกองทัพที่คณะสืบสวนสหประชาชาติระบุว่า เป็นการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์" มหาธีร์กล่าวในการประชุมซัมมิตอาเซียนที่สิงคโปร์ เมื่อวันอังคาร (13 พ.ย.) ซึ่งมีขึ้นไม่นานก่อนทั้งคู่จะร่วมเวทีเดียวกัน

มหาธีร์ยังอ้างถึงกรณีที่ซูจีเคยถูกควบคุมตัวภายในบ้านพักนานหลายปีภายใต้การปกครองของรัฐบาลเผด็จการทหารว่า "คนที่เคยถูกคุมขังมาก่อนควรทราบถึงความทุกข์ทรมาน และไม่ควรสร้างความเจ็บปวดให้แก่ผู้เคราะห์ร้ายเหล่านั้น"

นับตั้งแต่ซูจีขึ้นนั่งตำแหน่งที่ปรึกษาแห่งรัฐ หรือผู้นำรัฐบาลโดยพฤตินัยของเมียนมาเมื่อเดือนเม.ย. 2559 รัฐบาลของเธอเผชิญกับข้อกล่าวหาว่ามีส่วนร่วมอย่างจริงจังต่อการปฏิบัติหรือสนับสนุนให้เกิดการละเมิดสิทธิมนุษยชนมากมาย

แม้ที่ผ่านมา หลายฝ่ายจะออกมาวิจารณ์ซูจีและรัฐบาลของเธอหลายครั้ง เนื่องจากปฏิเสธที่จะพูดถึงปฏิบัติการที่ทารุณโหดร้ายของกองทัพเมียนมาต่อชาวโรฮิงญาในรัฐยะไข่ แต่รัฐบาลเนปิดอว์ก็ไม่ได้ใส่ใจกับเสียงวิจารณ์เหล่านี้

เหตุผลหนึ่งอาจเป็นเพราะซูจียังคงได้รับความนิยมทั่วประเทศและภายในพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย (เอ็นแอลดี) ที่ชนะเลือกตั้งเป็นรัฐบาลเมื่อ 3 ปีก่อน

โฆษกพรรคเอ็นแอลดี โจมตีการริบรางวัลของแอมเนสตี้ว่า ไม่เพียงทำลายศักดิ์ศรีของซูจี แต่ยังรวมถึงสมาชิกพรรคทุกคน และว่า องค์กรเหล่านี้ทำงานให้กับพวกเบงกาลี (โรฮิงญา) ที่พากันออกจากประเทศเพื่อให้ได้สิทธิเป็นพลเมือง

ขณะที่พลพรรคในรัฐบาลอย่าง อ่อง ลา ตุน รัฐมนตรีช่วยกระทรวงข่าวสาร ออกมาประสานเสียงว่า ซูจีได้รับการปฏิบัติอย่างไม่เป็นธรรม การทำแบบนี้มีแต่จะทำให้ประชาชนรักเธอมากขึ้น

เมื่อมีการอ้างถึงกระแสรักซูจี สำนักข่าวเอเอฟพีจึงได้สัมภาษณ์ชาวเมียนมาในนครย่างกุ้ง พบว่าส่วนใหญ่ยังคงสนับสนุนผู้นำหญิงของตน ชายวัย 50 ปีคนหนึ่งเปรียบเทียบว่า การถอดรางวัลเป็นพฤติกรรมคนไม่รู้จักโต เหมือนเด็ก ๆ ที่ผิดใจกันก็เรียกของเล่นคืน ส่วนอีกคนวัย 60 ปี บอกว่า “พวกเราไม่ต้องการรางวัลพวกนี้”

ต้องรอดูว่า ซูจีจะออกมาแก้ต่างหรือแสดงความเห็นต่อการเรียกคืนรางวัลของแอมเนสตี้อย่างไร ทว่าในอดีต เธอมักเลี่ยงตอบคำถามเรื่องการถูกริบรางวัลมาตลอด