อะเมซอน วันนี้

อะเมซอน วันนี้

ที่ราบลุ่มแม่น้ำอะเมซอน (Amazon) เป็นดินแดนธรรมชาติที่กว้างใหญ่และสำคัญต่อความเป็นความของมนุษยชาติมากที่สุดในโลก

หากพื้นที่ป่าฝนขนาด 7 ล้านตารางกิโลเมตรนี้หมดสิ้นไป โลกจะเกิดภาวะแปรปรวนมหาศาลถึงขั้นอยู่กันไม่ได้  ในบราซิลนั้น ถึงจะมีการปกป้องธรรมชาติเพิ่มมากขึ้น แต่การใช้ประโยชน์จากธรรมชาติแห่งนี้ก็ยังกว้างขวางหลากหลายเช่นกันกับปัญหาทำลายสภาพแวดล้อมที่เพิ่มขึ้น  ปัญหาของอธิปไตยกับอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม  การช่วยเหลือชาวบ้านในพื้นที่ที่เดือดร้อน  หรือการปราบปรามผู้ร้ายในพื้นที่ เป็นเพียงส่วนหนึ่งของปัญหาอันซับซ้อนที่กองทัพบราซิลกำลังเผชิญในอะเมซอน

ผมได้มีโอกาสไปเยือนดินแดนอะเมซอนในส่วนของบราซิล เพื่อดูงานในสังกัดของหน่วยบัญชาการทหารภาคพื้นอะเมซอน (Commando Military da Amazonia - CMA) ที่เมือง Manaus           เมืองเอกของแคว้น Amazonas เมื่อสิงหาคมที่ผ่านมา  ป่าอะเมซอนกินพื้นที่ถึง 9 ประเทศก็จริง แต่ 60% อยู่ในบราซิล แบ่งออกเป็น 7 แคว้นและต้องใช้ถึงสองหน่วยบัญชาการทหารช่วยกันดูแล  แคว้นอะมาซอนนาสเป็นแคว้นสำคัญที่สุด เพราะนี่คือใจกลางของอะเมซอน   ภาพที่เห็นจากเครื่องบินคืออะเมซอนประกอบกันด้วยทางน้ำหลายพันสายคดเคี้ยวแทรกซอนไปตามพื้นที่ลุ่ม ถนนในการสัญจรมีเพียงแต่ในเมือง การเดินทางภายในเขตอะเมซอนต้องใช้ทางน้ำเป็นหลัก  ความร่วมมือของกำลังทุกเหล่าทัพ ตลอดจนปฏิบัติการร่วมกับประเทศเพื่อนบ้านจึงเป็นสิ่งสำคัญมาก

ด้วยการที่อะเมซอนเป็นพื้นที่ยากต่อการเข้าถึง ทำให้การช่วยเหลือประชาชนเป็นเรื่องยากลำบาก ในฤดูน้ำหลาก น้ำจะท่วมบริเวณใกล้ทางน้ำ  กองทัพเรือบราซิลต้องขนเครื่องอุปโภคบริโภคลงเรือลำเลียงเป็นระยะเวลาทีละหลายวันจากแคว้นห่างไกลไปช่วย  โรงพยาบาลลอยน้ำเป็นสิ่งจำเป็นที่ต้องเคลื่อนที่ไปรับส่งผู้ประสบภัยต่าง ๆ  พื้นที่อะเมซอนนี้มีคนอยู่กันเกินกว่า 20 ล้าน  ในจำนวนนี้ประมาณ 3 แสนคนที่อินเดียนแดงท้องถิ่น  บางพวกบางกลุ่มมีปัญหาเรื่องลงทะเบียน เพราะพวกเขาไม่รู้จักเขตแดน สามารถไปได้เรื่อย ๆ ขณะที่ผมไปเยือน  อะเมซอนตอนเหนือมีการระบาดของโรคหัดซึ่งอินเดียนแดงนำข้ามพรมแดนจากเวเนซูเอล่า

ปัญหาตัดไม้ทำลายป่าในอะเมซอนกลายเป็นปัญหาใหญ่ของโลก จนนานาชาติต้องพยายามเข้ามาแทรกแซง เพราะการทำลายแหล่งความหลากหลายทางชีวภาพขนาดใหญ่ทำให้เกิดปรากฏการณ์โลกร้อน  ส่งผลกระทบเป็นลูกโซ่       ไม่ว่าจะเป็นอาการเอล นิโญ่  หมอกควันท่วมท้น พืชพันธุ์สัตว์ป่าสูญพันธ์ ล้วนมาจากการตัดไม้ สร้างเขื่อน รุกพื้นที่เพื่อทำกิน ทำไร่ทำเหมืองขนาดใหญ่  ไร่ถั่วเหลืองนี่ตัวดีเพราะส่งออกไปจีนไม่อั้น  นายทุนบราซิลขยับไปปลูกในเขตเพื่อนบ้านด้วย  ชาติยุโรปนำโดยนอร์เวย์ และ NGO ต่างกดดันให้บราซิลยอมทำสัญญาปกป้องสภาพแวดล้อมแลกกับเงินช่วยเหลือ แต่ดูเหมือนจะไม่สำเร็จ  สภาพเศรษฐกิจตกต่ำยิ่งทำให้การกระทำผิดกฏหมายมีมากขึ้น  อีกทั้งบริษัทและคนบราซิลจำนวนมากอยากใช้ประโยชน์จาก “อะเมซอนของตนเอง” ต่อไป เช่น แร่ธาตุและก๊าซ โดยมีขีดจำกัดน้อยที่สุด  เพราะถือว่าอะเมซอนเป็นของบราซิล ไม่ใช่ของโลก

Manaus เป็นเมืองเอกของแคว้นอะมาซอนนาสที่รุ่งเรืองมากในศตวรรษที่ 19  ที่เป็นเช่นนี้เพราะเมืองตั้งอยู่บนฝั่งแม่น้ำ Rio Negro ซึ่งเป็นจุดหมายของการลำเลียงสินค้าอะเมซอนจากถิ่นต่างๆ โดยเฉพาะแม่น้ำ Rio Salimoes จากทางเหนือที่การบรรจบกันของแม่น้ำสองสายกลายเป็นเส้นหลักของการส่งกำลังบำรุงแห่งอะเมซอน  ไตรมาสที่สี่ของศตวรรษที่ 19 เป็นช่วงที่ยางพาราบูมมากที่สุด กลายเป็นสินค้าหลักทำรายได้ถึงครึ่งหนึ่งของสินค้านำเข้าบราซิลทั้งหมด  ความรุ่งเรืองนำไปสู่ความหรูหราของเมืองมาเนาส์  สถาปัตยกรรมใหญ่ ๆ สไตล์เลียนแบบเรอเนสซองค์สร้างขึ้นทั่วทั้งเมือง แต่เมื่อเมล็ดพันธุ์ที่อังกฤษและไทยแอบเอามาจากบราซิลสามารถเพาะเป็นต้นและสามารถส่งออกน้ำยางได้ดี  มาเนาส์ก็ล่มสลาย ช่วงต้นสงครามโลกครั้งที่ 1 ยังครองตลาดยางพาราโลกถึง 50%  แต่ก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 เหลือแค่เปอร์เซ็นต์เดียวเท่านั้นทุกวันนี้มาเน้าส์ยังไปได้ดีในแง่ของการทำประมง และจัดตั้งเป็นเขตปลอดภาษีทำให้มีรายได้เข้ามาหล่อเลี้ยงแคว้นได้ แต่โดยรวมแล้วเศรษฐกิจอะเมซอนยังไม่อาจเทียบเท่ากับแคว้นชายฝั่งทางตะวันออกเฉียงใต้ของประเทศที่มีคนขาวมากกว่าและมีประวัติศาสตร์การเมืองการปกครองและการอุตสาหกรรมแข็งแกร่งสืบทอดอย่างต่อเนื่อง

ความสัมพันธ์อันดีกับเพื่อนบ้านนำไปสู่ซึ่งการปราศจากสงครามตามแบบ ทำให้กองทัพบราซิลในอะมาซอนรบกับภัยคุกคามที่ไม่ใช้กำลังอาวุธเป็นหลัก  แต่ปัญหาที่รอการแก้ไขยังมีอีกมากมายนัก การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองที่พึ่งเกิดขึ้นอาจนำไปสู่ความสำเร็จมากขึ้นจากแนวทางการแก้ไขปัญหาใหม่ ๆ ก็เป็นได้